ถ้าพูดถึงงานสถาปัตยกรรมชุมชน คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าต้องทำงานคล้ายกับสังคมสงเคราะห์ แต่ความจริงแล้วมันมีความซับซ้อนมากกว่านั้น และเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูกิจกรรมของ ASA-CAN Workshop 2016 ของสมาคมสถาปนิกสยาม ร่วมกับอาศรมศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคนในชุมชน ในหัวข้อ “Place-making: Living with Water” 

 

              โดยกิจกรรมครั้งนี้ ยังได้เชิญ Professor Nabeel Hamdi สถาปนิกชาวอังกฤษและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและวางผังอย่างมีส่วนร่วม (Action Planning) ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสไปฟังบรรยายที่สมาคมสถาปนิกสยามเกี่ยวกับการออกแบบชุมชนแบบมีส่วนรวม โดย Hamdi ได้เล่ารายละเอียดไว้ดังนี้

Nabeel Hamdi



กฏ PARTICIPATION

 

การออกแบบและวางผังอย่างมีส่วนร่วม




               Nabeel Hamdi เล่าว่า สถาปัตยกรรมชุมชนนั้น ประชาชนหรือคนในชุมชนต้องมีอิสระและมีทางเลือกที่จะช่วยสร้างคุณค่า และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่ง Hamdi ไม่ได้พูดถึงงานชุมชนในแง่การออกแบบสถาปัตยกรรม แต่จะพูดถึงการมองเห็นปัญหา เห็นจุดที่สำคัญที่สุดของชุมชน ซึ่งการที่เราจะเห็นจุดสำคัญเพียงจุดเดียวได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆฝ่าย ไม่ใช่สถาปนิกเพียงคนเดียว รวมถึงองค์กรที่มีอำนาจ มีอิทธิพลที่จะมาช่วยและรับผิดชอบโครงการ ทำให้โครงการสำเร็จลุล่วง 

                 Hamdi ได้บรรยายและฉายภาพตัวอย่างในการระดมความคิดของคนในชุมชน โดยแสดงภาพวาดของเด็กๆและคนในชุมชนที่วาดภาพชุมชนในจินตนาการ ลักษณะอาคารบ้านเรือน ถนนหนทาง การคมนาคมต่างๆในความคิดของพวกเขา รวมถึงการทำโมเดลจำลอง หรือการพูดถึงสิ่งของ การเล่นเกมส์ การทำกิจกรรมต่างๆ และบอกว่าสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญ ที่เป็นตัวบอกความคิดและมองเห็นประเด็นสำคัญที่ทุกคนเห็นร่วมกัน ช่วยให้เราเริ่มมองเห็นสเปซในแต่ละพื้นที่ ซึ่ง Hamdi แทบจะไม่ได้พูดเรื่องการออกแบบสถาปัตยกรรมเลย แต่จะพูดถึงการทำงานที่เหมือนกับการเล่นเกมส์ การรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจและการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน รวมถึงการไม่ลืมประวัติศาสตร์ ทั้งหมดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบ ที่ไม่ใช่นักออกแบบคิดอยู่ฝ่ายเดียวแล้วเริ่มต้นที่งานสถาปัตยกรรม แต่สิ่งที่ Hamdi พูดคือ การเริ่มต้นจากจุดเล็กๆเพียงจุดเดียว แต่เป็นจุดเดียวที่มองเห็นภาพรวมทุกอย่าง 

               หลังจากนั้นน้องๆที่เข้าร่วม workshop แบ่งกลุ่มการสำรวจชุมชนริมคลองบางหลวงและคลองบานประทุนในระยะเวลา 10 วัน ซึ่งในวันสุดท้ายผู้เขียนได้ดูกิจกรรมนิทรรศการชุมชนริมคลองทั้ง 2 คลอง จะเล่าต่อไปนี้



คลองบางหลวง – เรื่องเล่า บ้านเรา บางหลวง

นิทรรศการ เรื่องเล่า บ้านเรา คลองบางหลวง
(ผลงานโดยนศ.คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ม.ลาดกระบัง)

 

บรรยากาศภายในงานนิทรรศการ

 

บรรยากาศภายในงานนิทรรศการ


               กิจกรรมเรื่องเล่า บ้านเรา บางหลวงปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดยจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจากริเริ่มและดำเนินการโดยนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก หลักสูตรสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ม.ศิลปากร ตั้งแต่ปี 2557 ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการฟื้นฟูเมืองและย่านชุมชนเก่า‬ ของกรรมาธิการสถาปนิกชุมชนฯ สมาคมสถาปนิกสยามฯ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อหนุนเสริมความเป็นชุมชนและความเป็นถิ่นที่ (sense of place) ผ่านกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชาวชุมชน สถาบันการศึกษาที่หลากหลายสาขาวิชา และภาคประชาสังคมอื่นๆ ภายในงานปีนี้ มีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายชุมชนคลองบางหลวง และกิจกรรมท่องเที่ยวในชุมชนคลองบางหลวง ทั้งสถานที่และบรรยากาศของพื้นที่ทางวัฒนธรรม โดยมีผลงานออกแบบจากนักศึกษาระดับปริญญาตรี คืองานออกแบบป้ายแผนที่ติดตั้งของนักศึกษาสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงงานสร้างสรรค์ศิลปะจากนักศึกษาครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกะบัง

นิทรรศการเรื่องเล่า บ้านเล่า คลองบางหลวง
ผังชุมชนคลองบางหลวง

 

นิทรรศการ เรื่องเล่า บ้านเรา คลองบางหลวง
ผลงานออกแบบป้ายแผนที่ (ผลงานนศ.สถาปัตย์ ม.ศิลปากร)




               นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมท่องเที่ยวในย่านคลองบางหลวง ซึ่งกลุ่ม ASA-CAN ได้ทำแผนที่ที่ได้จากการสำรวจในย่านคลองบางหลวง มารวบรวมเป็นข้อมูลสำหรับการท่องเที่ยว โดยมีแผนที่ที่แสดงสถานที่ต่างๆกับหนังสือเดินทาง ที่เราสามารถเดินตามทางวงกลมสีต่างๆที่ติดอยู่ตามทางเดินและถนน ไม่ว่าจะเป็นวัดกำแพงบางจาก วัดคูหาสวรรค์ เรือนไม้ริมน้ำ คณะเชิดสิงโต กลุ่มกระตั้วแทงเสือ ฯลฯ รวมไปถึงหนังสือ “หลากสิ่งจิงเกอเบลล์(Many Things Jingle Bell)” หนังสือที่รวบรวมสิ่งของ ของสะสม ของเก่า เอกสารจากคำบอกเล่าของคนในชุมชนคลองบางหลวง ที่จะพาเราไปเห็นวิถีชีวิตของชุมชนเก่าที่ยังคงรักษาศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาไว้ได้อย่างดี


หนังสือ และแผนที่ที่รวบรวมข้อมูลต่างๆในย่าคลองบางหลวง

 

วงกลมที่เป็นตัวนำทางไปยังจุดต่างๆ

 

เรือนไม้ริมน้ำ – บ้านศิลปิน



สามารถเข้าดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :  รื่องเล่า/บ้านเรา/บางหลวง  




คลองบางประทุน – นิทรรศการเปิดประทุน

นิทรรศการภาพถ่าย คลองบางประทุน
ภาพถ่ายจากนิทรรศการ


                    นิทรรศการคลองบางประทุนถูกจัดขึ้นที่โรงเรียนอนุบาลพรพิมพ์ โดยภายในงานนิทรรศการมีการจัดแกลอรีภาพถ่ายคลองบางประทุน การแสดงของนักเรียนชั้นอนุบาล และกิจกรรม ระหว่างนักศึกษาที่เข้าร่วมวิร์คช็อปและคนในชุมชนคลองบางประทุน โดยพื้นที่การแสดงถูกจัดให้เป็นพื้นที่ล้อมวงรูปตัวยู เกิดพื้นที่ตรงกลางสำหรับการแสดงและการเสนอความคิดของน้องๆนักศึกษา โดยการแสดงที่นำเสนอนั้นสื่อถึงประเพณีวัฒนธรรม มีการแสดงเพลงฉ่อยที่เล่าเรื่องวิถีชีวิตของคนในคลองบางประทุน โดยให้คนในชุมชนได้มีส่วนรวมในการแสดงความคิดเห็น แม้ว่าการเวิร์คช๊อปจะไม่ได้ถูกสร้างหรือเกิดขึ้นจริง แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้คนในชุมชนเริ่มเห็นความสำคัญของพื้นที่ชุมชนมากขึ้น เริ่มมองเห็นคุณค่า ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้พูดคุยกัน ไม่ว่าจะพูดเรื่องสิ่งของ ภูมิปัญญา ชีวิตความเป็นอยู่ เรื่องราวประวัติศาสตร์ เมื่อความคิดหลายๆความคิดถูกเปิด จึงเกิดการมองเห็นร่วมกัน

                    ในเวทีเปิดความคิดนั้น นักศึกษาได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับภูมิปัญญา หรือสิ่งที่มีอยู่ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวคลองบางประทุน เพื่อให้คนในชุมชนเกิดการสร้างกิจกรรมจากภูมิปัญญา ที่ช่วยต่อยอดให้บ้านและชุมชนเป็นหน่วยการเรียนรู้และส่งเสริมด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชน โดยนักศึกษาได้รวบรวมข้อมูลที่พวกเขามีมาเสนอต่อคนในพื้นที่ว่าพวกเขาเห็นอะไรในชุมชน และให้ชาวชุมชนร่วมบอกกล่าวว่าในแต่ละบ้านใครมีอะไรที่สามารถสร้างแหล่งเรียนรู้ได้ และนำไปปักลงในผังชุมชน(บ้านแต่ละคน) จึงได้เห็นเส้นทางในการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางเศรษฐกิจ 

                    และเมื่อให้ชาวบ้านแสดงความคิดเกี่ยวกับชุมชน พวกเขาจะเล่าถึงชุมชนคลองบางประทุนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันว่ามีความเปลี่ยแปลงอย่างไร พวกเขาพูดเรื่องคลองและให้ความสำคัญกับคลองค่อนข้างมาก และบอกว่าคลองมีความสำคัญกับเกษตรกรรมของที่นี่ แต่เมื่อความเจริญเข้ามา มีถนนหนทาง เริ่มมีการสร้างหมู่บ้านมากขึ้น น้ำคลองจึงเริ่มเน่าเสีย ดินเค็มแทบจะไม่สามารถเพาะปลูกได้ ซึ่งความคิดของนักศึกษาและคนในชุมชนอาจมองคนละประเด็น แต่ความคิดที่นักศึกษาคือการมองเห็นสิ่งที่เป็นปัจจุบัน(ข้อมูลที่มีในขณะนั้น) กับข้อมูลที่บอกเล่าของชุมชน เป็นข้อมูลจริงและเป็นภาพกว้างกว่า ซึ่งสุดท้ายคนที่รู้ดีที่สุดก็คือ คนในชุมชนคลองบางประทุน พวกเขารู้ว่าตอนนี้ชุมชนมีปัญหาอะไร มีข้อดีอะไร ความคิดของนักศึกษาจึงกระตุ้นบางอย่างในใจให้คนในชุมชน 


นิทรรศการคลองบางประทุน

 

นิทรรศการคลองบางประทุน
ครอบครัวบางประทุน แผนที่และข้อมูลที่จัดในนิทรรศการ

 

ภาพวาดแสดงความคิดของนักศึกษา ที่แสดงถึง
การต่อยอดในอนาคตของชุมชนคลองบางประทุน

 

กิจกรรมการแสดงของนักศึกษา
การแสดงความคิดระหว่างนักศึกษาและชาวบ้านคลองบางประทุน




               กิจกรรม ASA-CAN Workshop 2016 ในครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรรมที่ช่วยให้มองเห็นการทำงานสถาปัตยกรรมชุมชนในเบื้องต้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็น แต่ก็ช่วยให้เห็นวิธีการทำงานการออกแบบและการวางผังอย่างมีส่วนร่วม ที่เริ่มต้นจากสิ่งที่เป็นนามธรรม จากสิ่งเล็กๆอย่าง สิ่งของ ภูมิปัญญา ที่ไม่ใช่อาคารหรือสถาปัตยกรรม จากสิ่งเล็กๆจนขยายเกิดเป็นภาพใหญ่ และเกิดการวางผังในที่สุด และนี่คือสิ่งที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน เพราะกาลเวลาสามารถเปลี่ยนแปลงชุมชนในตลอดเวลา




สามารถเข้าดูข้อมูลเพิ่มเติม
Facebook : หลากสิ่งจิงเกอเบลล์
Facebook : CAN: Community Act Network

 

2 COMMENTS

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here