2 สถาปนิก

บทความนี้ผู้เขียนจะพูดถึง Tadao Ando และ Le Corbusier 2 สถาปนิกที่ผู้เขียนคิดว่ามีวิธีการคิด การทำงานที่คล้ายคลึงกัน และทั้งคู่ต่างก็เป็นสถาปนิกที่ไม่ได้เรียนจบสถาปัตย์มา แต่อาศัยการเรียนรู้ด้วยตนเอง และเดินทางดูงานสถาปัตยกรรม ทำให้ผู้เขียนคิดว่า ทำไมวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเองกับจินตนาการนั้นทำให้คนเป็นอัจฉริยะขึ้นมาได้

Tadao Ando

ทะดะโอะ อันโด


               ทะดะโอะ อันโดเป็นบุคคลที่เกิดมาเป็นสถาปนิกหรืออาจจะเป็นคนที่มีความพยายามมากกว่าคนทั่วๆไป เขาเคยบอกวิธีการเรียนรู้ของเขาผ่านสื่อ CNN ว่า “มีหลายครั้งที่มีคนมาถามผมเรื่องนี้ ผมเรียนรู้ด้วยตัวเองจากการเดินทางเพื่อศึกษางานสถาปัตยกรรม ผมเดินทางไปเกียวโต โอซาก้า นาโกย่า และเดินทางไปดูงานสถาปัตยกรรมที่ยุโรป ผมเรียนด้วยตัวเอง ไม่มีใครมาบอกผมว่าสถาปัตยกรรมมีวิธีคิดอย่างไร ผมอ่านหนังสือมากและรู้สึกกระตือรือร้นที่ได้ศึกษา จนผมสอบใบอนุญาติได้”

ชีวิตในวัยเด็กของอันโด เขาได้ซึมซับจิตวิญญาณจากการเห็นเพื่อนบ้านที่เป็นช่างไม้ และได้ดูพวกเขาทำงาน ทำให้อันโดลองทำงานไม้ด้วยตนเองบ้าง เขาลองทำในสิ่งที่เขาสนใจ โดยไม่ได้รู้ว่ามันจะสามารถนำมาใช้ในอนาคตได้หรือไม่ ซึ่งอันโดยังบอกอีกว่า “ทุกวันนี้ผมก็ยังดิ้นรนอยู่ นั่นเพราะผมมักจะกังวลเวลาที่จะได้ทำงานโปรเจคอันใหม่และคิดว่างานมันจะออกมาอย่างไร ทำให้ผมยังคงพยายามต่อไป” อันโดมักจะยินดีถ้าใครมาถามสิ่งที่เกี่ยวกับตัวเขาเองหรือเรื่องงาน แต่เขากับไม่อยากพูดเรื่องรางวัลที่เขาได้รับอย่างรางวัลพริตซ์เกอร์ เขาบอกว่า สิ่งสำคัญในชีวิตของเขาคือ การได้สร้างผลงงานชิ้นต่อไป มากกว่ามานั่งสนใจรางวัลที่ได้รับในอดีต

อันโดกล่าวว่า สถาปัตยกรรมคือศิลปะแต่ในเวลาเดียวกันมันก็คือความเป็นจริง ความเป็นจริงประกอบไปด้วยฟังก์ชันและเงินทุน โดยในโลกของศิลปะไม่มีฟังก์ชันและเงินทุน สถาปัตยกรรมที่มีอายุยืนยาวเป็น 100ปี หรือ200ปีมักจะเป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นอาคารสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับคน อีกทั้งอันโดยังบอกว่า “สิ่งที่ท้าทายผมมากที่สุด คือ การที่ผมศึกษาสถาปัตยกรรมเพียงลำพัง ผมไม่มีเพื่อนร่วมเรียนที่สามารถพูดคุย หรืออภิปรายได้เลย ไม่มีใครมาบอกผมว่าสิ่งที่ผมคิดนั้นถูกต้องหรือไม่”

“ผมมักจะบอกนักเรียนสถาปัตย์ว่า ให้เดินทางท่องเที่ยวในขณะที่พวกเขายังเป็นหนุ่มสาว เพื่อออกไปสัมผัสประวัติศาสตร์ทางสถาปัตยกรรม ซึ่งสำหรับผมแล้วสถาปัตยกรรมคือการสร้างสรรค์ที่ว่างที่ให้คนมาอยู่รวมกัน ผมรู้สึกแบบนี้ตอนที่ผมเดินทางดูงานสถาปัตยกรรมในญี่ปุ่นและต่างประเทศ เราจะพบงานลักษณะนี้ในงานสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงในอดีต และสถาปัตยกรรมท้องถิ่น”

อันโดสมัยเป็นนักมวย

อันโดบอกว่าสิ่งที่จุดประกายให้เขาอยากเป็นสถาปนิกคือ ตอนอายุ14 เขาได้เห็นบ้านของเขาต้องถูกสร้างใหม่ และได้เห็นช่างไม้ทำงานกันอย่างไม่หยุดหย่อนจนถึงขั้นลืมกินข้าว เขารู้สึกหลงใหลในความมุ่งมั่นและทัศนคติของพวกเขา ทำให้เขาเข้ามาอยู่ในโลกของสถาปัตยกรรม

แต่ในช่วงเริ่มต้นของการทำอาชีพสถาปนิกของอันโดนั้นไม่ได้สวยหรู ถึงขั้นที่เขาเคยโดนดูถูกจากงานออกแบบบ้านชิ้นแรก จึงทำให้เขาใช้บ้านหลังนี้เป็นออฟฟิตมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าทุกวันนี้ผลงานของอันโดจะเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก แต่เขาบอกว่า สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการต่อยมวยคือ ไม่มีใครช่วยเขาได้ระหว่างที่กำลังต่อสู้ เราต้องช่วยตัวเอง เหมือนกับงานสถาปัตยกรรมที่ไม่มีใครบอกวิธีคิดให้อันโดจนกว่าจะถึงกระบวนการการก่อสร้างที่เขาบอกว่าจะต้องอาศัยความร่วมมือของผู้คนจำนวนมาก ซึ่งอันโดบอกว่าการเรียนรู้ด้วยตัวเองมันจะไม่ได้ส่งผลในทันที แต่มันจะต้องอาศัยประสบการณ์ที่ต้องสะสมไปเรื่อยๆ ทุกอย่างที่พวกคุณได้เรียนรู้ตอนนี้มันจะส่งผลในอนาคต
Le Corbusier

Le Corbusier

เลอ คอร์บูซิเยร์เป็นสถาปนิกที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล แต่เขาไม่เคยศึกษาสถาปัตยกรรมจากสถาบันใดๆ การเรียนรู้ของคอร์บูซิเยร์เกิดจากประสบการณ์และเหตุการณ์พาไป เขาบอกว่า เขาชอบศิลปะ ถึงขั้นสามารถมีความสุขที่ได้วาดรูปทั้งวัน ซึ่งเราต่างรับรู้ว่าคอร์บูซิเยร์ถือเป็นบุคคลอัจฉริยะอีกคนหนึ่ง เนื่องจากความสามารถที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน สถาปนิก และจิตรกร ซึ่งความสามารถของเขามีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมและศิลปะในยุคหลัง

คอร์บูซิเยร์มีชีวิตที่ต้องออกเดินทางอยู่บ่อยๆ นั่นคือเขาออกเดินทางไปทั่วยุโรป ไม่ว่าจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และกรุงเวียนนา ที่ที่ทำให้คอร์บูซิเยร์ได้พบกับศิลปินอย่าง กุสตาฟ คลิมต์ และโจเซฟ ฮอฟแมน ที่ทำให้คอร์บูซิเยร์มีความหลงใหลในศิลปะ จนกระทั่งเขาได้เดินทางมายังกรุงปารีส เมืองหลวงที่ทำให้เขาเข้ามาสัมผัสโลกสถาปัตยกรรมอย่างจริงจัง แต่สิ่งที่คอร์บูซิเยร์พกติดตัวอยู่เสมอนั่นคือ สมุดสเก็ตซ์เล่มเล็กๆที่คอยบันทึกภาพต่างๆเพื่อเอาไว้ศึกษา ซึ่งสิ่งต่างๆที่คอรบูซิเยร์ได้บันทึกไว้ ล้วนเป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์

ภาพจิตรกรรม โดย เลอ คอร์บูซิเยร์

ฉะนั้น การเรียนรู้ของเลอ คอร์บูซิเยร์จึงไม่ได้เกิดในสถาบันหรือห้องเรียน แต่เกิดจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เกิดจากการสังเกต และเกิดจากการได้ออกไปเห็นสิ่งต่างๆและจดบันทึกเอาไว้ อีกทั้งเขายังไปเป็นลูกมือของสถาปนิกที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ที่ทำให้คอร์บูซิเยร์ได้เรียนรู้ถึงวิธีคิดงานสถาปัตยกรรมและปรัชญาต่างๆ ที่สำคัญเขาไม่เคยหยุดที่จะฝึกฝนในเรื่องของศิลปะ ซึ่งเราจะเห็นได้จากภาพจิตรกรรมของคอร์บูซิเยร์ที่มีลักษณะเป็นนามธรรม ที่ส่งผลต่องานสถาปัตยกรรมอีกด้วย

ดังนั้นคำว่า พรสวรรค์ มันอาจจะหมายถึง การที่คนๆนั้นได้ฝึกฝนในเรื่องที่ตนสนใจมากกว่าคนทั่วไป จนเกิดความชำนาญ และการที่เรียนรู้ด้วยตัวเองมักจะมีการจดจำที่ดีมากกว่าสิ่งที่มีคนป้อนข้อมูลให้ และนั่นทำให้การเรียนรู้ของทะดะโอะ อันโด และเลอ คอร์บูซิเยร์มีความคล้ายคลึงกัน และทั้งคู่ต่างก็ประสบความสำเร็จในสิ่งที่พวกเขาทำ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here