Bauhaus
               Bauhaus อาจเรียกได้ว่าเป็นลัทธิการออกแบบในรูปแบบหนึ่งที่เน้นความเรียบง่ายตรงไปตรงมา และถูกนำมาใช้เยอะมาก แม้ว่าโรงเรียน Bauhaus จะปิดตัวลงไปแล้ว แต่เรื่องของการออกแบบยังคงพูดถึงอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งความคลาสสิกของ Bauhaus นั้นคือแนวคิด ปรัชญา และแรงบันดาลใจ ผู้เขียนจะพูดถึง Bauhaus ในมุมมองของตัวผู้เขียน ดังนี้
 

จุดเริ่มต้น

Walter Gropius
               โรงเรียน Bauhaus มีจุดเริ่มต้นจาก Walter Gropius สถาปนิกชาวเยอรมัน ซึ่งเขาเป็นสถาปนิกที่มีชีวิตช่วงต้นเหมือนคนทั่วๆไป เรียบง่าย โดยทำงานเป็นสถาปนิกตามบริษัทต่างๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเรื่อยๆ และเคยเป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่เขามีประสบการณ์เคยออกแบบ facade อาคารที่เชื่อกันว่าเป็นการออกแบบสมัยใหม่ในยุคนั้น ร่วมกับเพื่อนที่ชื่อ Adolf Meyer (ตอนหลังมีบทบาทมากใน Bauhaus) ซึ่งขณะนั้นทั้งสองคนเป็นสถาปนิกในบริษัทของ Peter Behrens โดย facade อาคารที่พูดถึงนี้คือ “the Fagus Factory”
 
               the Fagus Factory เป็นโรงงานอุตสาหกรรมผลิตโรงเท้า ที่มีกรอบอาคาร(facade) เป็นกระจกเกือบเท่าความสูงของอาคาร อาจพูดได้ว่าเป็นผนังกระจกที่มีขนาดใหญ่มาก มีขอบกั้นกระจกด้านบนและด้านล่างเท่านั้น ซึ่งการออกแบบในลักษณะนี้ทำให้หน้าตาของอาคารเหมือนกล่อง(cube) ที่มีความใส เกิดความรู้สึกระหว่างพื้นที่ภายในและพื้นที่ภายนอกไม่แยกออกจากกันอีกต่อไป ตัวอาคารเห็นเส้นแนวตั้งและแนวนอนในสัดส่วนที่เท่าๆกัน
 
 
the Fagus Factory

               อาชีพสถาปนิกของ Gropius ถูกหยุดชะงักอยู่ช่วงหนึ่ง(4ปี) เนื่องจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 โดย Gropius ถูกเกณฑ์ให้เป็นทหารสู้รบในสงครามและเกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง เขาก็ได้รับรางวัล “Iron Cross”   นั่นทำให้ชีวิตของ Gropius ดีขึ้นมาก อาชีพสถาปนิกของเขาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และเป็นความโชคดีของเขาด้วยก็ได้ เมื่อ Henry van de Velde จิตรกรและสถาปนิกชาวเบลเยียมกำลังจะเกษียณจากตำแหน่งอาจารย์ที่ the Grand-Ducal Saxon School of Arts and Crafts(ชื่อเก่าก่อนถูกเปลี่ยนเป็นเบาเฮ้าส์) เขาเลยได้พูดคุยกับ Gropius ให้มาดำรงตำแหน่งแทน เป็นการเข้ามาสู่วงการการศึกษาครั้งแรกของ Gropius และทำให้เขาเป็นคนมีชื่อเสียง

 

โรงเรียน Bauhaus 

               Bauhaus สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 1926 โดยหลังจากที่อาคารเสร็จสมบูรณ์ Bauhaus เริ่มมีชื่อเสียงทันที และเป็นที่พูดถึงมากในยุโรป มีผู้คนมาถ่ายรูปอาคารเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสื่อต่างๆ อาจเป็นเพราะว่าในยุคนั้นยังไม่มีการออกแบบอาคารที่มีหลังคาแบน(flat slab) และผนังกระจกที่มีขนาดใหญ่มาก่อน ทำให้ Bauhaus ในยุตเฟื่องฟูถูกใช้จัดกิจกรรมหลายอย่างรวมถึงเรื่องของการเมือง ความทรงจำของคนในสมัยนั้นคือแสงไฟที่สะท้อนออกมาจากผนังกระจกในยามคำ่คืน สามารถมองเห็นกิจกรรมภายในที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา  ถ้าดูจากรูปลักษณ์ภายนอกของโรงเรียน อาจมองไม่ออกว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร  
  

เบาเฮ้าส์ในยุคที่ยังรุ่งเรือง


               ถ้าอธิบายตามหลักกราฟิก ตัวอาคารจะแบ่งออกเป็น 6 ส่วน คือ 1.พื้นที่สำหรับทำ workshop 2.พื้นที่สำนักงานและธุรการ 3. พื้นที่สตูดิโอสำหรับนักเรียน 4.ห้องเธียเตอร์ 5. บ้านพักสำหรับอาจารย์ 6. โรงเรียนเทคนิค

พื้นที่อาคารแต่ละส่วน
การวางผังอาคาร



               แนวคิดในการวางผังอาคาร คือ นำอาคารทั้ง 6 ส่วนมาจัดเรียง โดยที่คนสามารถเดินได้รอบอาคาร สุดท้ายแล้วการจัดวางใช้หลักการเชื่อมกัน(interlock) ของพื้นที่แต่ละส่วน การวางในลักษณะนี้ถูกวิเคราะห์จากการขึ้นของดวงอาทิตย์ และบริบทสภาพแวดล้อมโดยรอบ โดยถูกวิเคราะห์ว่าแสงแดดในตอนกลางวันจะสาดส่องในส่วนของพื้นที่เวิร์คช็อป(หมายเลข1) ไปเรื่อยๆจนถึงช่วงตินเย็น(พระอาทิตย์ตก) แสดงอาทิตย์จะส่องเป็นที่สุดท้ายบริเวณสตูดิโอ(หมายเลข4) 

 

ภาพถ่ายเบาเฮ้าส์จากมุมสูง



พื้นที่หมายเลข 1 คือ Academy for Arts / Workshops





เป็นอาคารที่เป็นจุดเด่นมากที่สุด นั่นเป็นเพราะว่า การใช้ผนังกระจกขนาดใหญ่ ที่คนภายนอกสามารถมองเห็นพื้นที่ภายในอาคารได้ โดยชั้นล่างเมื่อมองลอดเข้าไปจะเห็นกิจกรรมเวิร์คช๊อป โดยแสงอาทิตย์จะส่องมายังบริเวณนี้เกือบทั้งวัน ทำให้เมื่อถึงฤดูร้อน ความร้อนที่เข้ามาในอาคารทำให้คนที่อยู่ในอาคารเกิดความหงุดหงิดที่ต้องทนต่อความร้อน ทำให้ต้องมีม่านทึบแสงมาช่วยบดบัง และด้านนอกเป็นกรอบอาคารที่ตีเป็นเส้นขนาดใหญ่ จุดเด่นที่ต้องพูดถึงคือ กรอบอาคารที่ทำมาจากโลหะที่ตีเป็นเส้น มันเป็นกรอบที่ครอบคลุมอาคารทุกชั้น โดยไม่ได้ยึดกับพื้นอาคาร แต่เหมือนลอยอยู่ด้านนอก แต่จะมีฐานคอนกรีตรองรับกรอบอาคารไว้ ซึ่งการออกแบบนี้กลายเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน

พื้นที่หมายเลข 2 คือ สำนักงานและธุรการ
มันถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่เชื่อมกันระหว่างสตูดิโอและโรงเรียนเทคนิค และถูกยกสูงขึ้นจากพื้นดิน ทำให้คนสามารถเดินผ่านไปผ่านมาบริเวณด้านล่างได้ โดยการเชื่อมในลักษณะนี้ Gropius มีแนวคิดมาจากสะพาน แต่เขาก็ยังลังเลกับพื้นที่บริเวณนี้ในตอนแรก เนื่องจากว่า ไม่อยากให้มันดูเทอะทะ หรือมีขนาดใหญ่จนเกินไป มันต้องเพรียว สวยงาม ท้ายที่สุดเขาเลยตัดสินใจว่าให้มันเป็นโครงสร้างอาคาร2ชั้น เป็นสะพานที่มีเสาค้ำอยู่ด้านล่าง

พื้นที่หมายเลข 3 คือ Theater

Theater

 

พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่ใช้จัดการแสดงและประชุมสำหรับนักเรียนและอาจารย์ หรือบางครั้งใช้สำหรับการเลกเชอร์ เป็นพื้นที่สันทนาการ โดยถ้ามองจากภายนอก ลักษณะอาคารเป็นอาคารที่เตี้ยที่สุด กรอบอาคารเป็นคอนกรีตสลับกับช่องเปิด(กระจก) โดย Gropius ตั้งใจให้เป็นพื้นที่กึ่งส่วนตัวกึ่งสาธารณะ ไม่ได้เป็นพื้นที่ปิดซะทีเดียว โดยจะอยู่ติดกับสตูดิโอและอพาร์ตเมนต์ของนักเรียน

 

พื้นที่หมายเลข 4 คือ อาคารสตูดิโอ 4 ชั้น
 
สตูดิโอ4ชั้น
 
เป็นพื้นที่อาคารที่สูงที่สุดนั่นคือ เป็นอาคารหลังคาflat slabที่มี 4 ชั้น และเป็นอาคารที่มีพื้นที่แคบที่สุด ภายนอกอาคารมีระเบียงยื่นออกมาจากหน้าต่าง โดยทุกชั้นมีระเบียงเรียงตรงกันทุกชั้น และชั้นบนสุดเป็นดาดฟ้าเป็นพื้นที่พูดคุยของนักเรียน

 

พื้นที่หมายเลข 5 Technical School
อาคารด้านนี้จะมีช่องเปิดน้อย ไม่ได้เป็นช่องเปิดเป็นแถบแบบอาคารเวิร์คช๊อป โดยพื้นที่ภายในจะเปิดเผยให้เห็นน้อย นักเรียนจะเรียนและฟังเลกเชอร์อยู่ภายใน มีความเป็นส่วนตัว



ภาพวาดแสดงกิจกรรมบริเวณบันได


หลายปีที่อาคารสร้างเสร็จบรรยากาศที่นี่เต็มไปด้วยกิจกรรม ความคิดสร้างสรรค์ การทดลองต่างๆ และจุดเด่นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของเบาเฮ้าส์คือ บริเวณปล่องบันไดของอาคาร ที่เป็นตัวเชื่อมพื้นที่ต่างๆ โดยพื้นที่ของบันไดเป็นพื้นที่พบปะพูดคุยของนักเรียน เป็นที่สังสรรค์อีกที่หนึ่ง ทำให้ศิลปินในยุคของเบาเฮ้าส์อย่าง Oskar Schlemmer  ได้วาดภาพกิจกรรมเหล่านี้ไว้ รวมถึงภาพกิจกรรมอื่นๆในเบาเฮ้าส์ ส่วนเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายในออกแบบโดยนักเรียนของเบาเฮ้าส์ช่วยกันออกแบบและสร้างขึ้นมา มันเหมือนโรงเรียนอุตสาหกรรมก็ว่าได้

เฟอร์นิเจอร์ที่นักเรียนช่วยกันออกแบบ



 

 

การเรียนการสอน       

เบาเฮ้าส์ในตอนแรกไม่มีการเรียนการสอนแผนกสถาปัตยกรรม แต่เน้นการสอนศาสตร์ของศิลปะอย่าง จิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปกรรม และกราฟิก ซึ่งมีการเรียนการสอนที่มีเอกลักษณ์ มีแนวทางการสอนที่รูปแบบใหม่ ที่ปัจจุบันเรียกว่า “รูปแบบโมเดิร์น” 

               ในช่วงแรกเบาเฮ้าส์เป็นโรงเรียนสอนศิลปะแบบเต็มขั้น เพื่อสอนให้นักเรียนเป็นศิลปินมากกว่าการเป็นสถาปนิก ทำให้เบาเฮ้าส์เป็นที่แจ้งเกิดของศิลปินมากมาย แต่ท้ายที่สุด Gropius คิดว่างานแขนงศิลปะมีสอนทุกแขนงแล้ว ก็ควรจะมีแขนงสถาปัตยกรรมด้วย เมื่อเบาเฮ้าส์ได้รวมศิลปะและสถาปัตยกรรมไว้ด้วยกัน การเรียนการสอนของที่นี่จึงมีอิทธิพลมากในเรื่องวิธีการออกแบบ แนวความคิดไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบสถาปัตยกรรม กราฟิก การออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ  โดยเบาเฮ้าส์มีการสอนที่มีหลักทฤษฏีของตัวเองพร้อมกับภาคปฏิบัติ และทดลองงานสำหรับนักเรียน ฉะนั้นกิจกรรมในโรงเรียนนักเรียนส่วนใหญ่แทบไม่ได้ออกไปไหน แต่สนุกและหมกหมุ่นกับงานทดลองของตัวเอง

ฉะนั้นนักเรียนที่เรียนที่นี่เลยมีความสามารถในงานฝีมือ รู้หลักทฤษฏีศิลปะอย่างเช่น ทฤษฏีสีพื้นฐาน การจัดองค์ประกอบ ส่วนอาจารย์ที่สอนจะเป็นศิลปินอาชีพที่มีความรู้ความสามารถแตกต่างกันออกไป ทำให้นักเรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจ สุดท้ายศิลปินจากเบาเฮ้าส์ได้ออกไปเผยแพร่ความรู้และอิทธิพลทั่วทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา เกิดเป็นลักษณะเฉพาะของตัวเองขึ้นมา นั่นคือ Bauhaus Styles

Style 
               อะไรที่เรียกว่า Bauhaus Styles ถ้าเราดูจากงานออกแบบหรือศิลปินในลัทธินี้ คือ การออกแบบที่เรียบง่าย ชัดเจน ตรงไปตรงมา จากที่เราเห็นจากงานลัทธิเบาเฮ้าส์คือ การใช้สีที่เป็นสีพื้นฐาน อย่างเช่น สีแดง สีเหลือง และสีนำ้เงินพร้อมกับการใช้รูปทรงเรขาคณิตที่ไม่มีความซับซ้อนใดๆ

ศิลปะแบบเบาเฮ้าส์ โดย Piet Mondrian



               เบาเฮ้าส์มีวัตถุประสงค์ว่า งานออกแบบทุกอย่างจะต้องมีความเรียบง่าย และตัวผลิตภัณฑ์สามารถออกแบบได้ง่ายเช่นกัน โดยปราศจากการตกแต่ง และลดทอนองค์ประกอบต่างๆออกไป เหลือแต่ส่วนที่สำคัญของงาน ทำให้การออกแบบของเบาเฮ้าส์ใช้ได้กับทุกประเทศ โดยไม่ขัดแย้งกับวัฒนธรรม หลักการออกแบบของที่นี่อีกอย่างคือ การเผยให้เห็นวัสดุที่แท้จริง ซื่อสัตย์ต่อวัสดุที่ใช้ อย่างเช่นในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เก้าอี้หรือโต๊ะ ขาเก้าอี้โชว์ผิววัสดุที่ทำจากเหล็กได้อย่างชัดเจน โดยไม่ต้องมีอะไรมาหุ้ม หรือถ้าเป็นไม้ก็เห็นว่าเป็นเนื้อไม้นั่นเอง 

               จิตวิญญาณของเบาเฮ้าส์ คือ ศิลปะที่ดี และการออกแบบที่ดี โดยหลักการ 2 อย่างนี้ได้กลายเป็นหลักการทางสากลที่ใช้กันทั่วโลก 


ลักษณะการออกแบบเฟอร์นิเจอร์

 

ลักษณะการออกแบบเฟอร์นิเจอร์
การออกแบบโปสเตอร์



งานออกแบบในสมัยที่เบาเฮ้าส์รุ่งเรืองนั้นเติบโตรวดเร็วมาก เยอรมันได้กลายเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการออกแบบ และสถาปัตยกรรม เรียกว่าเป็นการปฏิวัติงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านกราฟิกและเฟอร์นิเจอร์จะเห็นชัดเจนมากที่สุด ส่วนงานศิลปะและสถาปัตยกรรมจะเกี่ยวเนื่องกันตลอด นั่นคือ สร้างแรงบันดาลใจให้กันและกัน มันเหมือนเป็นวัฏจักรการออกแบบที่วนเป็นวงกลม พัฒนาไปจนถึงจุดสูงสุดแล้ววนกลับมาเริ่มต้นที่เดิมใหม่ นั่นคือ เบาเฮ้าส์เริ่มแย่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อนาซีได้เป็นผู้นำในเยอรมัน เบาเฮ้าส์ก็ได้รับผลกระทบจากสงครามนี้ด้วย อาคารโดนระเบิดบางส่วน อาจารย์และนักเรียนทุกคนถูกไล่ออกจากอาคาร ไม่มีใครอยู่ที่นั่นอีก อาคารจึงถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ โดยเฉพาะบริเวณอ
พาร์ตเมนต์ ส่วน Gropius ได้ไปอยู่อเมริกาและเสียชีวิตที่นั่น และทำให้อเมริกาได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมและศิลปะแบบเบาเฮ้าส์มากที่สุด

แต่ในปี 1976 ได้มีการปรับปรุงดูแลเบาเฮ้าส์อีกครั้ง และทำการจัดนิทรรศการขึ้น ที่สำคัญองค์กรยูเนสโกได้ให้เบาเฮ้าส์เป็นมรดกสำคัญของโลก


ปัจจุบัน

เบาเฮ้าส์ในปัจจุบันมีหลงเหลือให้เห็นแบบจางๆ หมายความว่า ไม่ชัดเจนนักว่าเป็นแบบเบาเฮ้าส์หรือเปล่า บางครั้งเรานำมาพูดถึงแต่เพียงทฤษฏี และแรงบันดาลใจ มันไม่ได้หายไป เรื่องราวของเบาเฮ้าส์ถูกนำมาพูดอยู่หลายครั้ง นั่นคือความยิ่งใหญ่ของโรงเรียนแห่งนี้ ผู้เขียนยังเคยคิดว่าไม่แน่เรื่องราวแบบนี้อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งก็ได้ ที่มีคนคิดถึงเรื่องการศึกษาที่สร้างคนที่สร้างผลงานให้คนรุ่นหลังๆได้ศึกษา

1 COMMENT

  1. อยากทราบว่าใน ส่วนที่6 โรงเรียนเทคนิคอยู่ส่วนไหนของตึกBauhausอะคะ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here