อัลบั้ม Only Yesterday
the Eagle วงดนตรีคลื่นลูกใหม่ในช่วงกลางยุค 70
เป็นวงดนตรีแนวร๊อค คันทรี

หลังจาก Please Mr. Postman ประสบความสำเร็จโด่งดังไปทั่วโลกแล้ว ซิงเกิลถัดมา Only Yesterday ซึ่งเป็นผลงานการประพันธ์ของริชาร์ดร่วมกับคู่หู John Bettis เช่นเคย เพลงนี้ขึ้นอันดับ 4 ในอเมริกา และ 7 ในอังกฤษ และโด่งดังในหลาย ๆ ประเทศ (โดยเพลงนี้ทำให้ริชาร์ดต้องเสียเงินค่าพนันจำนวน 1,000 เหรียญให้กับนักวิศวะกรเสียง ด้วยเหตุว่าเขาคิดว่าเพลงนี้ไม่น่าจะดัง) และตามมาด้วยอัลบัมที่ 6 ของพวกเขา Horizon แต่ช่วงกลางยุค 70s บรรยากาศแนวดนตรีเริ่มเปลี่ยนไป รวมถึงมีนักร้องคลื่นลูกใหม่ออกมาก เช่น ดิ อีเกิ้ล ทำให้ความนิยมของวงคาร์เพ็นเตอร์สในอเมริกาเริ่มลดลง โดยเห็นได้จากชาร์ตอัลบั้มที่ขึ้นไปที่อันดับ 13 แต่ความดังของพวกเขากับเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ เช่น อังกฤษและญึ่ปุ่น ที่ Horizon สามารถขึ้นอันดับ 1 ได้ ซิงเกิลที่ 3 ที่ตัดออกมา Solitaireขึ้นอันดับ 17 ในอเมริกา และ 32 ในอังกฤษ

อย่างไรก็ดี อัลบั้มดังกล่าวก็ยังมียอดจำหน่ายที่ดีในระดับแพลตินั่มในอเมริกา (เกินล้านแผ่น)อีกทั้งแฟนเพลงและนักวิจารณ์ชื่นชมกับอัลบัมชุดนี้มากเกี่ยวกับน้ำเสียงและเทคนิคที่แคเรนร้อง (แคเรนใช้คีย์เสียงในระดับฐานของเสียง ซึ่งริชาร์ดบอกไว้ว่าเป็นคีย์เสียงที่ดีและไพเราะที่สุดของแคเรน) ทั้งบทเพลงและดนตรีที่ลงตัว รวมถึงการมิกซ์เสียง แต่อาจเนื่องจากเพลงส่วนใหญ่ในอัลบัมชุดนี้จะเป็นบัลลาดหนัก ๆ เสียส่วนใหญ่ ทำให้ในยุคนั้นคนยังนิยมเพลงแนวบุพพาชนเสียส่วนใหญ่ และนอกจากนี้ด้วยคอนเซ็ปของชุดนี้ที่เริ่มจากเพลง Arora และปิดท้ายด้วย Eventide ซึ่งทั้ง 2 เพลงมีทำนองและดนตรีเหมือนกันต่างเพียงเนื้อร้องและด้วยความที่มีความยาวของเพลงสั้นประมาณ 1:33 นาที ทำให้ทั้ง 2 เพลงเหมือนเป็น jingle ที่ทำหน้าที่เปิดและปิดอัลบัมเท่านั้น ทำให้คนฟังมีความรู้สึกเหมือนว่าชุดนี้มีเพลงเพียงแค่ 8 เพลง แทนที่จะมี 10 เพลงเป็นอย่างน้อยเหมือนชุดอื่น ๆ

ส่วนเพลงอื่น ๆ ที่เป็นที่นิยมของแฟนเพลง เช่น (I’m Caught Between) Goodbye And I Love You, Happy (เป็นเพลงที่มีจังหวะเร็วกว่าเพลงอื่นในชุด ทำให้ริชาร์ดคิดว่าถ้าตัดสินใจใหม่ได้จะเลือกเพลงนี้เป็นซิงเกิลแทน Solitaire), Love Me For What I Am และ Desperado (งานโคฟเวอร์ของดิ อีเกิ้ล ซึ่งครั้งแรกที่ริชาร์ดได้ยินเพลงนี้หลังการมิกซ์เสร็จก็ตัดสินใจที่จะเลือกเป็นซิงเกิลถัดไปเช่นกัน แต่เนื่องจากมีศิลปินมากมายนำไปโคฟเวอร์แล้ว ความคิดดังกล่าวจึงถูกยกเลิกไป)

เนื่องจากปัญหาความนิยมของวงที่ลดลงในสหรัฐอเมริกา (ทั้งยอดจำหน่ายอัลบั้มและชาร์ทซิงเกิล)รวมถึงขณะนั้นเป็นยุคทองของเพลงดิสโก้ ส่งผลให้เกิดแรงกดดันที่มหาศาลกับ ริชาร์ด คาร์เพนเทอร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นทุก ๆ อย่างในการผลิตอัลบั้มของวงเรื่อยมา ทำให้อัลบั้มใหม่นี้เขาไม่ต้องการให้ความนิยมของวงตกลงโดยไม่ได้มีการจัดการอะไร… นั่นจึงเป็นที่มาของอัลบั้ม Passage ซึ่งเขาลดบทบาทของเขาลงหลายอย่างและทดลองเพลงหลาย ๆ แนวในชุดนี้โดยที่พยายามคงความเป็นวงคาร์เพนเทอส์เอาไว้ไม่ให้อิงไปกับกระแสดิสโก้ เช่นการใช้วงซิมโฟนี่และการประสานเสียงเต็มวง (เพลง Don’t Cry For Me Argentina และ Calling Occupants Of Interplanetary Craft) รวมถึงเป็นอัลบั้มแรกที่ไม่มีเพลงที่เขาและคู่หูแต่งอยู่เลย โดยเพลงในชุดนี้จะมีความหลากหลายของแนวเพลงมากที่สุด โดยที่มีเพลง All You Get From Love Is A Love Song เป็นซิงเกิลแรก ซึ่งขึ้นชาร์ทได้ 35 ในสหรัฐ และตามมาด้วย Calling Occupants Of Interplanetary Craft (ซิงเกิลที่แปลกที่สุดและยาวที่สุดของวง) เป็นซิงเกิลที่ 2 ซึ่งขึ้นชาร์ทที่ 32 ในสหรัฐ แต่สามารถขึ้นชาร์ทที่ 9 ได้ทั้งในอังกฤษและออสเตรเลีย สร้างความประหลาดใจให้กับพวกเขาเป็นอย่างมาก ถัดมาเป็นเพลงคริสต์มาส The Christmas Song (Chestnut Roasting On An Open Fire)(ไม่ได้บรรจุในชุด Passage) และตามด้วยเพลง Sweet, Sweet Smile ในต้นปี 1978 ซึ่งขึ้นอันดับ 44 ในสหรัฐและ 40 ในอังกฤษ และเป็นครั้งแรกที่เพลงของวงสามารถขึ้นชาร์ทเพลงครันทรีได้ (อันดับที่ 9) นอกจากนี้ในอัลบั้ม Passage ยังมีเพลงที่น่าสนใจอีกเพลงคือ I Just Fall In Love Again ซึ่งจริง ๆ แล้วริชาร์ดต้องการจะตัดเพลงนี้เป็นซิงเกิลถัดไปมากกว่า แต่เนี่องจากช่วงเวลาดังกล่าวดีเจที่เปิดแผ่นจะไม่เปิดเพลงที่มีความยาวเกินกว่า 4 นาที (I Just Fall In Love Again มีความยาว 4:04) ทำให้เพลงนี้ถูกลืมไป แต่อย่างไรก็ดีในปี 1978 แอน เมอร์เรย์ ได้โคฟเวอร์เพลงดังกล่าวและสามารถขึ้นชาร์ทลำดับที่ 12 ในสหรัฐได้ (ทำให้ริชาร์ดทราบว่าเขาตัดสินใจเกี่ยวกับเพลงนี้ผิดไป)

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าอัลบั้มชุดนี้จะมีความพยายามที่จะทำให้เกิดความแปลกใหม่อย่างมากมาย แต่ผลตอบรับก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย Passage ขึ้นอันดับ 49 ในสหรัฐและ 12 ในอังกฤษ และเป็นครั้งแรกที่ยอดจำหน่ายของอัลบั้มต่ำกว่าระดับแผ่นเสียงทองคำ (ตั้งแต่ Close To You จนถึง A Kind Of Hush ทุกชุดมียอดจำหน่ายเกินทั้งหมด)

ในช่วงต้นปี 1979 สุขภาพของทั้งคู่ย่ำแย่ลง ทั้งอาการติดยานอนหลับอย่างรุนแรงของริชาร์ด และอาการแอนนอริเซีย เนฟโวซา ของแคเรนก็พัฒนาอาการไปอย่างต่อเนื่อง (ซึ่งจะเห็นได้จากสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพจากหนังสือพิมพ์ วิดีโอ ทีวี) จนริชาร์ดตัดสินใจว่าเขาจะหยุดพักงานเพื่อบำบัดอาการติดยานอนหลับของเขาให้หายดีก่อน รวมถึงอาการป่วยของแคเรนด้วย แล้วจึงค่อยกลับเข้าห้องอัดใหม่ โดยที่แคเรนเองก็ต้องเข้ารับการบำบัดที่โรงพยาบาลในเมืองนิวยอร์ก ซึ่งตัวแคเรนไม่ค่อยเห็นด้วยกับพี่ชายนักในเรื่องการพักการออกอัลบั้มใหม่ ทำให้เธอตัดสินใจทำงานเดี่ยวไปด้วยในช่วงที่เธอพักรักษาตัว โดยได้ฟิล รามอน มาเป็นโปรดิวเซอร์ อัลบั้มดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นงานเพลงที่แต่งเองจากนักดนตรีที่ร่วมงานในขณะนั้นทำให้เพลงส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องคุณภาพ อีกทั้งฟิล รามอน เองก็อยากให้เสียงร้องของแคเรนในงานเดี่ยวมีความแตกต่างจากที่เป็นแคเรนของวงคาร์เพนเทอส์ ดังนั้นเมื่ออัลบั้มเสร็จออกมาจึงมีความแตกต่างจากงานที่เคยทำร่วมกับพี่ชายมาก ไม่ว่าจะเป็นดนตรี การเรียบเรียง เนื้อเพลง รวมถึงวิธีการร้องของแคเรนด้วย (ชุดนี้มีกลิ่นไอของดิสโก้อยู่มาก ซึ่งริชาร์ดได้เคยพูดห้ามในเรื่องนี้เอาไว้)ผลคือทำให้เมื่อนำเดโมที่เสร็จแล้วไปให้ริชาร์ดและผู้บริหารบริษัทเอแอนด์เอ็มฟัง ก็ไม่เป็นที่ประทับใจเท่าไหร่ ทำให้เธอตัดสินใจที่จะระงับการจำหน่ายอัลบั้มเดี่ยวดังกล่าวของเธอ (ซึ่งสร้างความสะเทือนใจกับแคเรนเป็นอย่างมาก)การทำอัลบัมดังกล่าวยังใช้เงินส่วนตัวของแคเรนไปถึง 400,000 เหรียญสหรัฐด้วย

อัลบั้มดังกล่าวเสร็จสิ้นในปี 1980 แต่ถึงแม้ว่าแคเรนจะเสียชีวิตแล้วในปี 1983 ไปแล้วก็ตามแต่อัลบั้มดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจำหน่าย แม้ว่าแฟนเพลงจำนวนมาก (ที่ทราบว่าอัลบั้มดังกล่าวมีอยู่จริง ๆ)ได้เขียนจดหมายถึงริชาร์ดว่าต้องการให้ออกจำหน่าย ซึ่งสุดท้ายแล้วอัลบั้ม Karen Carpenter ก็ได้ฤกษ์ออกจำหน่ายในปี 1996 ซึ่งหลาย ๆ เพลงในชุด Karen Carpenter ก็มิได้แย่จนถึงขั้นที่จะต้องถูกระงับการจำหน่ายเลย ในอัลบั้มนี้มีซิงเกิลหนึ่งเพลงคือ If I Had You (ริชาร์ดได้ให้ความคิดเห็นว่าเป็นเพลงที่ดีที่สุดในชุด แต่โดยความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนรู้สึกชอบ My Body Keeps Changing My Mind และ Making Love In The Afternoon มากกว่า) อย่างไรก็ดีริชาร์ดได้นำเอาเพลง 4 เพลงจากงานเดี่ยวดังกล่าวมาบรรจุไว้ในอัลบั้ม Lovelines (1989) ของวงคาร์เพนเทอส์ด้วย (Lovelines, If We Try, Remember When Lovin’ Took All Night และ If I Had You)

อัลบั้ม Made in America

ในกลางปี 1980 แคเรนได้พบรักและแต่งงานกับนักธุรกิจ โทมมัส เบอริส โดยงานจัดที่ Crystal Room of the Beverly Hills Hotel และมีเพลงที่แต่งสำหรับงานดังกล่าว Because We Are in Love (The Wedding Song) ซึ่งบรรจุอยู่ในอัลบัม Made In America

           หลังจากการบำบัดอาการติดยานอนหลับของริชาร์ดจนหายดี และการเสร็จสิ้นการรักษาอาการแอนนอริเซีย เนฟโวซา ของแคเรน (ซึ่งยังไม่ได้หายขาด) พวกเขาก็เตรียมตัวเข้าห้องอัดเพื่อออกอัลบั้มใหม่เลย นั่นคือ Made In America โดยเริ่มจากเพลง Touch Me When We’re Dancing เป็นซิงเกิลที่ 2 (I Believe You เป็นซิงเกิลแรก) ได้รับการตอบรับดีในระดับหนึ่ง (อันดับ 16 ในสหรัฐ และเป็นเพลงฮิต top 20 เพลงสุดท้าย) โดยริชาร์ดไม่ค่อยพอใจกับอันดับชาร์ทมากนักเนื่องจากเพลงนี้เป็นเพลงที่ดีที่น่าจะสามารถได้รับความนิยมในระดับ top 5 ได้ แต่เนื่องจากขณะนั้นมันพ้นช่วงยุคทองของวงไปแล้ว (ดีเจไม่ค่อยโปรโมทเพลงของวงคาร์เพนเทอส์ เพราะไม่ใช่เพลงในแนวกระแสในช่วงยุค 80)เพลงถัดมา (Want You) Back in My Life Again ขึ้นอันดับ 72 ในสหรัฐ ตามมาด้วย Those Good Old Dreams ขึ้นอันดับ 63 ในสหรัฐ (ริชาร์ดให้ความเห็นเกี่ยวกับเพลงนี้ว่าน่าจะขึ้นชาร์ทได้สูงกว่านี้) และ Beechwood 4-5789 ขึ้นอันดับ 74 ในสหรัฐ (และเป็นเพลงสุดท้ายที่สามารถขึ้นชาร์ท top 100 ในสหรัฐได้) Made In America ไต่ชาร์ทอันดับที่ 52 ในสหรัฐและ 12 ในอังกฤษ

ปลายปี 1982 อาการแอนนอริเซีย เนฟโวซา ของแคเรนก็ยังไม่ดีขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากน้ำหนักของแคเรนที่ลดลงอย่างมาก (ประมาณ 35 กิโลกรัม) ประกอบกับการที่เธอไม่ได้กลับมาทานอาหารอย่างปกติ แต่ใช้วิธีการฉีดสารอาหารเข้าสู่หลอดเลือดทำให้น้ำหนักของเธอกลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยพฤติกรรมการไม่ทานอาหาร การใช้สารทำให้อาเจียร (บูลิเมียร์)หลังจากทานอาหารเสร็จ รวมถึงการใช้การกลุ่มกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์เพื่อเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานก็ยังเป็นอยู่ ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อทั้งหลอดเสียงของเธอ ยังทำให้เกิดปัญหาหลอดเลือดแดงที่หัวใจบางและเปาะ รวมถึงกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนัก (ปกติแล้วร่างกายคนที่ขาดอาหารจะไปลดอัตราการเต้นของหัวใจรวมถึงเมตตาบอริซึ่มเพื่อลดการใช้พลังงานลง แต่การใช้สารกระตุ้นการทำงานของหัวใจกับสภาพร่างกายของแคเรนที่ขาดสารอาหารยิ่งไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานมากขึ้น)ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะสมและค่อย ๆ ทำลายกล้ามเนื้อหัวใจของเธอเรื่อยมาจนวันหนึ่ง
 star on the Hollywood Walk of Fame
ในคืนก่อนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1983 แคเรนได้โทรศัทพ์ไปคุยกับ ฟิล รามอน โดยเธอถามถึงอัลบัมเดี่ยวที่เขาเป็นโปรดิวเซอร์ให้ โดยถามเขาว่าอัลบัมดังกล่าวมันแย่มากเลยเหรอ? ก่อนที่จะได้รับคำตอบแล้วจบบทสนธนาสุดท้ายกันไป และในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1983 ก่อนวันเกิดครบรอบ 33 ปีของแคเรนไม่กี่อาทิตย์ เธอล้มฟุบลงกับพื้นห้องแต่งตัวที่บ้านของ แอกเนส แม่ของเธอ ก่อนที่จะมีคนพบและเรียกรถพยาบาลมารับตัวเธอ ซึ่งวันนั้นจะเป็นวันที่เธอต้องไปจดทะเบียนหย่าโดยมีแอกเนสไปเป็นเพื่อน หลังจากนั้นทางโรงพยาบาลได้แจ้งว่าเธอได้เสียชีวิตแล้ว ด้วยสาเหตุหัวใจล้มเหลว ซึ่งข่าวดังกล่าวกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกทั้งเรื่องการเสียชีวิตของเธอ และโรคแอนนอริเซีย เนฟโวซา ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในอเมริกาอย่างมากมาย (ประมาณ 50% ของผู้หญิงทั้งหมด) ซึ่งทำให้อเมริกาตื่นตัวกับโรคดังกล่าวอย่างจริง ๆ จัง ๆ และที่หน้าหลุมฝังศพของเธอมีการจารึกไว้ว่า “A star on earth – A star in heaven” และในเดือนตุลาคม 1983 วงคาร์เพนเทอส์ก็ได้รับการจารึกชื่อไว้ที่ star on the Hollywood Walk of Fame ด้วย
อัลบั้ม Voice of the Heart
ในปี 1983 ริชาร์ดได้ออกอัลบัม Voice of the Heart ซึ่งเป็นการรวบรวมงานเพลงที่ยังไม่ได้นำออกมาจำหน่าย ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพลงที่ถูกคัดออกจากอัลบัมต่าง ๆ จากปี 1976 จนถึง 1981 โดยมีเพลงที่ร้องใหม่สำหรับชุดนี้จริง ๆ 2 เพลง (แคเรนร้องไว้ก่อนเสียชีวิต) คือ Now (เพลงสุดท้ายที่แคเรนร้องในห้องอัดเสียง) และ Your Baby Doesn’t Love You Anymore (จากคำวิจารณ์ของแฟนเพลงหลายคนรวมถึงผู้เขียนต่างเห็นฟ้องต้องกันว่าเพลงในชุดนี้หลายเพลงมีคุณภาพดีกว่า Made In America หรือ Passage ด้วยซ้ำ) ซิงเกิลแรกของชุดนี้คือ Make Believe It’s Your First Time (101 ในสหรัฐ และ 60 ในอังกฤษ) และตามมาด้วย Your Baby Doesn’t Love You Anymore เป็นซิงเกิลที่ 2 Voice Of The Heart ขึ้นชาร์ทอันดับที่ 46 ในสหรัฐ และ 6 ในอังกฤษ โดยมียอดจำหน่ายในระดับแผ่นเสียงทองคำทั้งในสหรัฐและอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีเพลงที่สำคัญเพลงอื่น ๆ ได้แก่ Look To Your Dreams (เป็นเพลงที่แคเรนขอร้องให้ริชาร์ดแต่งให้ แต่เนื่องจากตัวเพลงมีกลิ่นไอเพลงเก่าทำให้เพลงนี้ไม่ถูกนำมาบรรจุไว้ในอัลบัมก่อนหน้านี้ Look To Your Dreams กลายเป็นเพลงที่แอกเนส มารดาของพวกเขาชอบมากที่สุด), At The End Of A Song, Sailing On The Tide และ You’re Enough
ภาพยนต์ The Karen Carpenter Story
ภาพยนต์ The Karen Carpenter Story
 
ในปี 1989 ได้มีการสร้างภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง “The Karen Carpenter Story” ซึ่งได้รับความนิยมสูง ทำให้อัลบัมเก่าต่าง ๆ ของวงคาร์เพนเทอส์ได้รับความสนใจอย่างมากและทำให้ยอดจำหน่ายสูง (ตั้งแต่ปี 1989 – 1991) สื่อต่าง ๆ ให้การยอมรับผลงานของพวกเขาในด้านความไพเราะความเป็นอมตะมากขึ้น ในปีนั้นเองริชาร์ดได้วางแผนออกอัลบัมถัดมาของวง Lovelines อัลบัมนี้คล้ายกับ Voice Of The Heart คือเป็นเพลงที่ถูกคัดทิ้ง (ไม่ได้ถูกนำมาใช้) มีหลายเพลงที่นำมาจากทีวีซีรีส์ที่คาร์เพนเทอส์เป็นโฮส และอีก 4 เพลงจากอัลบัมเดี่ยวของแคเรน (Karen Carpenter)ซึ่งซิงเกิลในชุดนี้คือ Honolulu City Lights ซื่งได้ตัดออกมาแล้วในปี 1985 เพลงหลายเพลงในชุดนี้กลายเป็นเพลงที่แฟนเพลงชื่นชอบ เช่น Where Do I Go From Here?, When I Fall In Love, Little Girl Blue, Slow Dance, You’re The One และ Kiss Me The Way You Did Last Night (Kiss Me The Way You Did Last Night บันทึกเสียงในช่วงอัลบัม Made In America แต่ด้วยความที่เพลงนี้ยากต่อการมิกซ์เสียงและสมัยนั้นเทคโนโลยียังไม่ทันสมัย ทำให้ไม่ได้บรรจุอยู่อัลบัมดังกล่าว แต่หลังจากที่มีเทคโนโลยีใหม่มาช่วยเพลงนี้จึงมีโอกาสให้แฟนเพลงได้รับฟังกัน) อัลบัมชุดนี้ขึ้นอันดับ 73 ในอังกฤษ โดยแฟนเพลงหลายคนให้คำวิจารณ์ชื่นชอบอัลบัมชุดนี้เช่นกัน
 
คาร์เพนเทอส์ มีเพลงอันดับ 1 บนชาร์ทบิลบอร์ดอยู่ 3 เพลง บนชาร์ทซิงเกิล 100 อันดับของฝั่งอเมริกา ได้แก่ (They Long To Be) Close To You, Top Of The World และ Please Mr.Postman มีเพลงอันดับท๊อป 10 อยู่ 9 เพลง บนชาร์ทซิงเกิล 100 อันดับ ได้แก่ We’ve Only Just Begun, For All We Know, Rainy Days And Mondays, Superstar , Hurting Each Other, Goodbye To Love , Sing , Yesterday Once More  และ Only Yesterday  และ อันดับ 1 อีก 15 เพลงบนชาร์ท Adult Contemporary Singles Charts คาร์เพนเทอส์มียอดขายอัลบั้มและซิงเกิล รวมกันมากกว่า 100 ล้านชุด ปัจจุบันเพลง We’ve Only Just Begun และ(They Long To Be) Close To You ได้ถูกบรรจุอยู่ใน Hall of fame
ตลอดเวลา 14 ปี คาร์เพนเทอส์ออกอัลบั้มอยู่ 11 ชุด มี 4 อัลบั้มที่มีเพลงติดใน 5 อันดับแรกบนชาร์ทคือ Close to You , Carpenters , A Song for Youและ Now & Then  โดยมีอัลบั้มรวมเพลง The Singles 1969-1973 ขึ้นอันดับหนึ่งทั้งฝั่งอเมริกาและอังกฤษ และออกซิงเกิล 40 ซิงเกิล ,รายการโทรทัศน์ภาคพิเศษ 5 ครั้ง และออกละครโทรทัศน์ 1 ครั้ง พวกเขายังทัวร์ไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฮอลแลนด์ และเบลเยี่ยม จนกระทั่งแคเรนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1983 ปัจจุบันพวกเขามียอดจำหน่ายแผ่นมากกว่า 100 ล้านแผ่นทั่วโลก
และนี่คือความสำเร็จของวง Carpenter วงดนตรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในยุค 70 ที่คงความคลาสสิกและเป็นอมตะคงอยู่จนทุกวันนี้ เชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหนหรือยุคปัจจุบันต้องเคยได้ยินเสียงเพลงของ Carpenter
 

2 COMMENTS

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here