TRS Studio แปลงตู้คอนเทนเนอร์ให้เป็นบ้านพักอาศัยราคาประหยัด

บ้านพักอาศัยจากตู้คอนเทนเนอร์ในนิคม Pesquero II ที่ประเทศเปรู
(ภาพจาก : archdaily.com)

ในนิคม Pesquero II เมืองลิมา ประเทศเปรู มีบ้านพักอาศัยที่สร้างจากตู้คอนเทนเนอร์ โดยบริษัทสถาปนิก TRS STUDIO ได้ออกแบบบ้านพักที่ต้นทุนต่ำ มีความสะดวกสบายและปลอดภัย วัสดุของอาคารประกอบด้วย ตู้คอนเทนเนอร์รีไซเคิล แผงโพลีคาร์บอเนต ไม้อัด OSB และแผ่นไม้ นำมาสร้างให้เป็นบ้านพักสำหรับผู้มีรายได้น้อย และทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติน้อยที่สุด

บ้านพักอาศัยจากตู้คอนเทนเนอร์ในนิคม Pesquero II ที่ประเทศเปรู
(ภาพจาก : archdaily.com)
ประตูตู้คอนเทนเนอร์สามารถเปิดออกได้อย่างกว้างขวาง
(ภาพจาก : dezeen.com)

รูปแบบของบ้านล้วนสร้างขึ้นมาจากวัสดุเหลือใช้ ดูแลรักษาง่าย บ้านตู้คอนเทนเนอร์แต่ละหลังมีพื้นที่ประมาณ 60 ตารางเมตร ผังบ้านเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม ความกว้าง 4 เมตร และยาว 15 เมตร ประตูตู้คอนเทนเนอร์สามารถเปิดออกได้อย่างกว้างขวาง สามารถมองเห็นพื้นที่ใช้สอยที่อยู่ด้านใน และการติดแผงโพลีคาร์บอเนตทำให้บ้านมีแสงธรรมชาติเข้ามา และบ้านไม่ดูมืดทึบจนเกิดไป

ลักษณะภายในบ้านตู้คอนเทนเนอร์ มีการใช้ไม้อัด OSBในการตกแต่งและกั้นผนัง
ส่วนด้านบนมีการติดตั้งหลังคาด้วยแผงโพลีคาร์บอเนตเพื่อให้แสงธรรมชาติสาดส่องมายังด้านใน
(ภาพจาก : dezeen.com)

ลักษณะบ้านเป็นแบบโมดูลาร์ 2 ชั้น ใช้วัสดุที่หาได้ตามพื้นที่ พื้นที่ชั้น 1 ประกอบด้วยพื้นที่ใช้สอยหลัก มุมครัว และห้องนอนอยู่ด้านหลังสุด และมีพื้นที่ขนาด 18 ตารางเมตรสำหรับเป็นสวนหรือพื้นที่พักผ่อน ส่วนชั้นสองเป็นพื้นที่ห้องนอน 2 ห้อง และห้องอ่านหนังสือที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นห้องนอนอีกห้องได้ โครงสร้างตู้คอนเทนเนอร์เป็นเหล็กแต่มีการเสริมความแข็งแรงและตกแต่งภายในและกั้นผนังด้วยแผงไม้อัด OSB หลังคาใช้แผงโพลีคาร์บอเนตมีลักษณะโปร่งแสง เพื่อให้มีแสงธรรมชาติเข้ามายังตัวบ้าน พื้นบ้านปูด้วยไม้ที่หาได้ในพื้นที่

บริเวณพื้นที่อ่านหนังสือชั้น 2 ของบ้าน
(ภาพจาก : dezeen.com)

การระบายอากาศของตัวบ้านจะไหลขึ้นสู่ชั้นบนโดยช่องหน้าต่างหลังคาแผงโพลีคาร์บอเนต และการที่ทำให้พื้นที่อ่านหนังสือชั้นสองสามารถปรับเปลี่ยนเป็นห้องนอนอีกห้องได้ รวมเป็นห้องนอน 4 ห้อง เพื่อรองรับครอบครัวที่มีการขยับขยายในอนาคต นอกจากนี้สถาปนิกได้สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้พักอาศัย ไม่ได้ออกแบบครั้งเดียวแล้วเหมือนกันหลายๆหลัง แต่จะให้คนในพื้นที่ร่วมดัดแปลงพื้นที่ภายในด้วยตนเอง

กลุ่มสถาปนิก TRS STUDIO เชื่อว่าการสร้างการมีส่วนร่วมร่วมกับชุมชน สามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะ มีความจำเป็นอย่างมากและควรสนับสนุน เพื่อทำให้เกิดการก่อสร้างอาคารที่ยั่งยืน ต่อไปจะเป็นโมเดลบ้านทางเลือกราคาประหยัดที่ผู้อาศัยสามารถสร้างเองได้ เป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่องค่านิยมและคุณภาพชีวิต

ข้อมูลจาก inhabitat.com // dezeen.com

Shipping container Farms การนำตู้คอนเทนเนอร์มาใช้ในการทำเกษตรกรรมยุคใหม่

ในยุคนี้ เรื่องการพัฒนาด้านการเกษตรกรรมเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นเรื่องปากท้อง อาหารการกิน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่สามารถทำเกษตรกรรมทางธรรมชาติได้ จะต้องคิดค้นหาทางที่สามารถปลูกผักสวนครัวได้ ภูมิภาคที่ทำเกษตรกรรมได้ยาก ส่วนใหญ่จะเป็นโซนยุโรปและแอฟฟริกาใต้

การทำเกษตรกรรมด้วยตู้คอนเทนเนอร์ เป็นการทำสวนแนวตั้งในร่ม สามารถเคลื่อนย้ายได้ เหมาะมากกับการปลูกพืชผักสวนครัวที่มีข้อจำกัดของขนาดพื้นที่ที่จำกัด ทั้งนี้ต้องตรวจสอบเรื่องงานระบบ เรื่องระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ การเข้าถึงระบบไฟฟ้าต่างๆ การติดตั้งระบบคอนเทนเนอร์มีข้อดีที่ขนส่งง่าย เคลื่อนย้ายง่าย และสามารถปรับขนาดพื้นที่เพาะปลูกได้ตามความเหมาะสม

การปลูกพืชในตู้คอนเทนเนอร์ช่วยเรื่องความมั่นคงในด้านการผลิตอาหารพื้นถิ่น ลดการนำเข้าอาหารให้น้อยลง จากที่มาจะเห็นว่าการคิดค้นรูปแบบนี้จะเป็นประเทศที่ขาดแคลนพื้นที่เพาะปลูก สภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย ในประเทศไทยไม่ค่อยเห็น เราจะพูดในประเด็นของประเทศที่เขาให้ความสำคัญกับด้านนี้

The DROP & GROW container farm

The DROP & GROW container farm
(ภาพจาก : lettusgrow.com)

เป็นโครงการพัฒนาด้านการเพาะปลูกของประเทศอังกฤษ เพื่อพัฒนาอาหารและสร้างความยั่งยืน DROP & GROW เป็นการทำสวนแนวตั้งที่สามารถผลิตพืชพรรณได้ตลอด 365 วัน โดยอาศัยระบบเทคโนโลยีแอโรโพนิก (Aeroponic) เป็นการพัฒนาจากกลุ่มนักวิจัยและเกษตรกร เพื่อดูวิธีการเติบโตและวัดผลได้อย่างแม่นยำ

พื้นที่ของตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 24 ตารางเมตร ภายในสามารถปลูกผักผลไม้ได้ตลอดได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ในช่วงที่เกิดโควิด-19ระบาดในปี 2020 เป็นช่วงที่ทั่วโลกเกิดภาวะวิกฤติ เรื่องอาหารการกินเป็นเรื่องที่ได้ผลกระทบเช่นกัน Jack Farmer เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง DROP & GROW และ CSO ของ LettUs Grow ได้เล่าว่า ทางบริษัทกำลังบุกเบิกการทำเกษตรกรรมแนวใหม่โดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ ช่วงล็อคดาวน์ในปี 2020 บริษัทเทคโนโลยีนี้ได้ทุ่มการผลิตโรงงาน D & G ในเมืองบริสตอลให้กับธนาคารอาหาร (Food Bank) ท้องถิ่น เริ่มต้นจากจุดเล็กๆในระดับท้องถิ่นในการหล่อเลี้ยงประชากร

การปลูกพืชภายใต้การควบคุมสภาพแวดล้อม (Controlled environment agriculture หรือ  CEA) เป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้วัดคุณภาพเรื่องการเพาะปลูกในรูปแบบใหม่ๆว่าดีและปลอดภัยต่อผู้บริโภค การทำเกษตรกรรมในร่มช่วยในเรื่องการควบคุมอากาศและแมลง ที่สำคัญด้วยความที่ตู้คอนเทนเนอร์สามารถเคลื่อนย้ายไปตั้งที่ไหนก็ได้ ถือเป็นวัตถุไม่ถาวร จึงเป็นข้อดีที่ไม่จำเป็นขอใบอนุญาตในการจัดตั้งพื้นที่เพาะปลูก

D & G ร่วมมือกับกลุ่มนักวิชาการมหาวิทยาลัย ได้แก่ University of York, University of Bristol และ John Innes Centre (JIC) เพื่อศึกษาด้านสัณฐานวิทยา (Morphology) ในการขยายพันธุ์ของรากพืชพรรณ เพื่อปรับปรุงพืชสวนครัวให้เกิดรวดเร็วให้ทันต่อเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา รวมไปถึงการศึกษาสรีรวิทยาของพืชว่าจะผสมพันธุ์พืชอย่างไรหากทำสวนแนวตั้งในตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเทคโนโลยีของ D & G คือการพัฒนาเรื่องวิธีการเติบโตของพืชในสภาพแวดล้อมที่หลาหลายตั้งแต่การปลูกพืชในเรือนกระจก และการทำสวนแนวตั้ง และการทำสวนในร่มอย่างตู้คอนเทนเนอร์

D & G เห็นวิกฤติจากสถานการณ์โควิด-19 ให้เป็นโอกาสในเรื่องของการผลิตอาหารโดยอาศัยความรู้และเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับชุมชน ฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับเล็กๆในท้องถิ่น การผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ หรือเกิดการจ้างงานมากขึ้น

โครงการ Grow It York โดย Katherine Denby และ Tom Mckenzie (ภาพจาก : lettusgrow.com)

นอกจากนี้ยังมี “Grow It York” เป็นอีกหนึ่งโปรเจคที่ทำสวนในตู้คอนเทนเนอร์ในเมือง ตั้งอยู่ที่ Spark:York มีจุดเริ่มต้นมาจาก Katherine Denby เป็นศาตราจารย์จาก Centre for Novel Agricultural Products (CNAP) และ Tom McKenzie เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Spark:York ได้ร่วมกันจัดตั้งฟาร์มตู้คอนเทนเนอร์เพื่อให้เป็นแหล่งผลผลิตในท้องถิ่นให้เข้ามายังตัวเมืองมากขึ้น

แนวคิดของ Grow It York คือการปลูกผักผลไม้ในรูปแบบไดนามิก โดยปลูกพืชในเฉพาะที่คนในพื้นที่ต้องการเท่านั้น เพื่อให้ไม่เกิดการสูญเสียหรือทิ้งอาหารโดยไม่จำเป็น ได้ผลผลิตที่คุ้มค่าที่สุด เหมาะสมกับพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกไม่ได้ และไม่ต้องเสียค่าขนส่ง โดยจัดตั้งร้านค้าร้านอาหารให้ใกล้แหล่งชุมชนและฟาร์มตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อให้เดินมาที่สวนโดยสะดวก ไม่ต้องขนส่ง เป็นแนวความคิดที่เพิ่มคุณค่าให้กับพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งที่ชุมชนเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตอาหารและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากแหล่งผลิต และโรงเรียนในพื้นที่สามารถเข้ามาเรียนรู้การเพาะปลูกแบบใหม่ในปัจจุบัน เป็นการต่อยอดให้กับเยาวชนที่จะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต

ข้อมูลจาก : www.lettusgrow.com // www.ukgbc.org

Container Facade การก่อสร้างอาคารด้วยคอนเทนเนอร์ที่ประเทศเดนมาร์ก

ประเทศเดนมาร์ก เป็นประเทศที่นอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องการพัฒนาเรื่องเส้นทางจักรยานในประเทศ เรื่องสถาปัตยกรรมถือว่าเติบโตเร็วเช่นกัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีการก่อสร้างอาคาร สิ่งที่โดดเด่นมากๆคือ การใช้คอนเทนเนอร์สามารถนำมาปรับใช้หลากหลายรูปแบบ

การนำตู้คอนเทนเนอร์มาสร้างเป็นที่พักสำหรับนักเรียนที่ท่าเรือโคเปนเฮเกน

“Urban Rigger” ตั้งอยู่บริเวณท่าเรือโคเปนเฮเกน
(ภาพจาก : dezeen.com โดย Laurent de Carniere)

บริษัทสถาปนิก Bjarke Ingels (BIG) ได้นำตู้คอนเทนเนอร์มาวางซ้อนกันเพื่อทำเป็นหอพักนักศึกษาบริเวณท่าเรือโคเปนเฮเกน โครงการนี้มีชื่อว่า “Urban Rigger” เป้าหมายของโครงการเพื่อเป็นหอพักราคาประหยัดสำหรับนักเรียน นักศึกษา ตั้งอยู่ใจกลางเมืองบริเวณท่าเรือ ซึ่งบริษัท BIG ได้นำตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 9 ตู้นำมาวางซ้อนกันมีลักษณะคล้ายรูปทรง 3 เหลี่ยม 2 ชั้น มีคอร์ด(ลานโล่งตรงกลาง) เป็นสวนเล็กๆ เหมือนพื้นที่ส่วนกลาง จำนวนห้องพักจะมีทั้งหมด 15 ห้อง

บริเวณพื้นที่ส่วนกลาง
(ภาพจาก : dezeen.com โดย Laurent de Carniere)

การที่เรียงตู้คอนเทนเนอร์ให้เหลื่อมกันในลักษณะนี้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันภัยที่เกิดจากน้ำท่วมหรือระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ไม่ว่าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นระดับไหน ไม่มีวันท่วม อาคารตู้คอนเทนเนอร์ถูกทาด้วยสีฟ้าสว่างสดใสและมีการเจาะช่องประตูหน้าต่างเข้าไป ส่วนบริเวณหลังคาถูกจัดแบ่งเป็นพื้นที่ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ พื้นที่ระเบียงดาดฟ้าขึ้นไปนั่งพักผ่อนได้ และอีกหลังปูด้วยหญ้า

ลักษณะหลังคาของหอพัก แบ่งเป็น 3 ส่วน และมีลานพื้นที่ส่วนกลางตรงกลาง
(ภาพจาก : www.danfoss.com)

โครงการ Urban Rigger เป็นโครงการที่นำเสนอการทำที่พักอาศัยในราคาไม่แพง โดยเลือกตู้คอนเทนเนอร์ในการสร้างที่อยู่อาศัยได้หลายห้อง สถาปนิกได้บอกว่า การขยายผลในเมืองมันสามารถทำได้ตลอด แต่พื้นที่บริเวณท่าเรือเป็นพื้นที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญและไม่ถูกนำมาใส่ใจให้พัฒนาให้ดีขึ้น กลุ่มสถาปนิกจึงคิดหาวิธีที่ทำอาคารหอพักที่เข้ากับบริบทท่าเรือได้อย่างเหมาะสมใจกลางเมืองโคเปนเฮเกนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ลักษณะพื้นที่ใช้สอยภายในโครงการ Urban Rigger
(ภาพจาก : urbanrigger.com)

ความยั่งยืนในด้านคุณภาพชีวิตเป็นสิ่งที่ควรคำนึง เมืองที่มีการเติบโตและมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การสร้างที่พักอาศัยเพื่อรองรับความหนาแน่นของคนที่อพยพเข้ามายังเมือง โครงการ Urban Rigger ถือเป็นนวัตกรรมการก่อสร้างที่แก้ปัญหาเรื่องเมือง

WFH House การนำตู้คอนเทนเนอร์เก่าไม่ใช้แล้ว มาสร้างบ้านพักให้น่าอยู่

WFH House ในเมืองอู๋ซี ประเทศจีน
(ภาพจาก : arcgency.com โดย Jens Markus Lindhe)

บริษัทสถาปนิกเดนมาร์กชื่อ Arcgency ได้ออกแบบบ้านพักอาศัยที่ชื่อว่า WFH House อยู่ในประเทศจีน โดยสร้างจากตู้คอนเทนเนอร์เก่าที่ถูกทิ้งไว้ นำกลับมาใช้ใหม่ การรีไซเคิลวัสดุเป็นสิ่งสำคัญมาก หากจะพูดถึงงานสถาปัตยกรรมและการออกแบบที่ยั่งยืน

การก่อสร้าง นำตู้คอนเทนเนอร์เก่า 3 ตู้มาเรียงต่อกัน
(ภาพจาก : arcgency.com โดย Jens Markus Lindhe)
ลักษณะการตกแต่งภายใน
(ภาพจาก : arcgency.com โดย Jens Markus Lindhe)

WFH House มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 180 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่เมืองอู๋ซี ประเทศจีน เป็นสถาปัตยกรรมสีเขียว ที่เน้นเรื่องความยั่งยืน ตั้งแต่การนำตู้คอนเทนเนอร์ มีระบบการเก็บกักน้ำฝน หลังคาสีเขียวหุ้มด้วยหญ้า และติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ตัวบ้านนำตู้คอนเทนเนอร์เก่ามา 3 ตู้เรียงกันและซ้อนกันเป็นบ้าน 2 ชั้น หุ้มด้วยฉนวนไม้ไผ่ ตัวบ้านออกแบบให้ตรงตามมาตรฐานของที่พักอาศัย ภายในประกอบด้วยพื้นที่หลัก คือ ห้องนั่งเล่นที่มีแสงธรรมชาติสาดส่องมายังด้านในจากช่องแสงสกายไลท์ พื้นที่รับประทานอาหาร ห้องครัว และห้องน้ำ ส่วนชั้นบนจะเป็นห้องนอน

แปลนพื้นชั้น 1
(ภาพจาก : arcgency.com )
แปลนพื้นชั้น 2
(ภาพจาก : arcgency.com โดย Jens Markus Lindhe)

WFH House คือรูปแบบบ้านสำเร็จรูปในระบบโมดูลที่สร้างและตกแต่งไว้อย่างสวยงาม หลังคาติดตั้งแผงโซล่าเซลล์และปูหญ้าเพื่อเป็นฉนวนกันความร้อนและกรองน้ำฝน การออกแบบตามหลักยุโรปคือสร้างคุณค่าให้กับการใช้ชีวิตเพื่อความยั่งยืนซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังนี้

  • มีความยืดหยุ่น
  • สร้างคุณค่าให้กับคุณภาพชีวิต
  • มีความน่าเชื่อถือ (ในระยะยาว) – วัสดุมีคุณภาพ ปลอดภัย ไม่เป็นพิษกับคน หรือเป็นวัสดุรีไซเคิล หรือการออกแบบสามารถถอดแยกชิ้นส่วนได้
  • วัสดุมีอายุการใช้งานยาวนาน
  • เข้าถึงธรรมชาติ
  • มีความเรียบง่าย
  • มีความเป็นกันเอง

บทสรุป

นวัตกรรมจากตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งแต่เดิมคือตู้ขนส่งสินค้า แล้วถูกปล่อยทิ้งไว้ จนยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป องค์ความรู้และเทคโนโลยีสามารถเกิดการพัฒนาตู้คอนเนอร์ให้เป็นนวัตกรรมการก่อสร้างในรูปแบบต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมด้านคุณภาพชีวิตของมนุษย์อย่างแท้จริง แต่เราต้องคำนึงถึงข้อดี-ข้อเสีย และการใช้งานของตู้คอนเทนเนอร์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here