การแยกขยะทำให้คุณภาพชีวิต สังคม และเมืองดีขึ้นอย่างไร

ในกระแสสังคมในปัจจุบัน มีการเริ่มพูดถึงและรณรงค์เรื่องขยะกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของขยะพลาสติก จะว่าไปแล้วหากพูดเรื่องของขยะ เราต้องพูดเรื่องการแยกขยะด้วย ว่าการที่เราสามารถจัดการกับขยะจำนวนมากให้มีประสิทธิภาพนั้น การแยกขยะเป็นสิ่งที่ควรคำนึง ทั้งนี้เราอาจจะต้องเข้าใจการแยกขยะแท้จริงก่อนว่ามันมีกระบวนการ ขั้นตอนการดำเนินงานอย่างไรบ้าง แล้วส่งผลกระทบต่อเมืองต่อชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร

ผู้เขียนเคยอ่านบทความเกี่ยวกับเรื่องขยะมาบ้าง รู้สึกอยากลองมาปรับใช้กับตัวเอง ปรับทีละเล็กละน้อย เริ่มจากพลาสติกก่อน แยกพลาสติกออกจากขยะอื่นๆ แต่เราเริ่มแค่ตัวเอง ไม่ได้มีส่วนที่ไปทำให้เป็นรูปธรรมในระดับสังคม ก็เลยคิดว่าบทความนี้อยากจะเขียนตัวอย่างเมืองต่างๆที่เขาทำเรื่องแยกขยะสำเร็จเป็นรูปธรรม ว่าผลลัพธ์ที่ได้เป็นอย่างไร ส่งผลกระทบในด้านใดบ้าง และต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ในการโครงการนี้เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ชีวิต สังคม และเมือง

เมืองคามิกัตสึ เมืองปลอดขยะที่เป็นรูปธรรมจากความร่วมมือของทุกคน

เมืองคามิกัตสึ เป็นเมืองเล็กๆที่อยู่ในจังหวัดโทกูชิมะ มีประชากรประมาณ 1,344 คนเท่านั้น เป็นเมืองเกษตรกรรมและเมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองไร้ขยะ มีการให้ประชาชนในเมืองแยกขยะออกเป็น 45 ประเภท กระบวนการที่ทำให้เมืองปลอดขยะได้ถาวรต้องใช้เวลากว่า 20 ปี อาจจะย้อนแย้งกับสถิติของประเทศญี่ปุ่นที่เป็นผู้ผลิตพลาสติกเป็นอันดับสองของโลก

เมืองคามิกัตสึมีกระบวนการในการนำขยะมารีไซเคิล นำกลับมาใช้ใหม่ หลีกเลี่ยงการเผาขยะ เพื่อให้เกิดมลพิษทางอากาศให้น้อยที่สุด บางครั้งประชาชนต้องนำขยะมาล้างให้สะอาดเพื่อนำไปรีไซเคิล ที่มืองคามิกัตสึมีศูนย์ขยะไว้คัดแยกขยะได้มากถึง 45 ประเภท 34 หมวดหมู่ ทั้งรวบรวม บริจาค แลกเปลี่ยน และรีไซเคิล โดยผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้วหากมีชิ้นส่วนหรือองค์ประกอบมากกว่า 2 ประเภทขึ้นไป ต้องแยกชิ้นส่วนออก แล้วคัดแยกตามประเภทที่เมืองกำหนดไว้ จากนั้นก็นำไปรีไซเคิลที่ศูนย์ขยะ “สถานีขยะฮิบิกายะ”  ถ้าเป็นพลาสติกห่ออาหารหรือขนม จะต้องล้างให้สะอาดเสียก่อน หรือหากเป็นวัสดุกระดาษควรมัดรวมกันเป็นกองใหญ่ ส่วนแก้วและพลาสติกคัดแยกตามประเภทของพลาสติกและสีต่างๆ ส่วนที่ชาวเมืองมองว่ารีไซเคิลได้ยากคือ สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศจนต้องนำส่งไปเผาขยะในเมืองอื่น

ตารางแสดงประเภทการแยกขยะตามหลักการของเมืองคามิกัตสึ

ในปี 2016 เมืองคามิกัตสึสามารถรีไซเคิลขยะของเมืองไปแล้วถึง 81 เปอร์เซ็นต์ของขยะทั้งหมด เมื่อผลลัพธ์ของเมืองเป็นที่ประจักษ์ เมืองคามิกัตสึจึงเป็นแรงบันดาลใจและเป็นต้นแบบให้เมืองอื่นๆได้มองเห็นประโยชน์ของการคัดแยกขยะที่แท้จริง ทำให้ประเทศญี่ปุ่นเริ่มรณรงค์ให้ประเทศลดขยะเป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า “Zero Waste”

จากที่เห็นกระบวนการของเมืองคามิกัตสึ การออกกฎและนโยบายเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ถึงมีทฤษฏีที่น่าเชื่อถือ หากไม่มีความร่วมมือคนประชาชน ผลลัพธ์คงไม่เกิดขึ้น การได้รับการผลักดันและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิต คุณภาพสังคม และเกิดรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงแต่ผู้บริโภคหรือประชาชนของเมือง แต่ยังรวมไปถึงเจ้าของธุรกิจ ผู้ผลิตสินค้าต่างๆต้องคำนึงเรื่องปริมาณขยะที่เพิ่มปริมาณขึ้นทุกวัน การคิดบรรจุภัณฑ์หรือสิ่งค้าต่างๆต้องคิดอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า บรรณจุภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น ในสหภาพยุโรป (EU) ได้ออกกฎหมายฉบับใหม่ว่า ตั้งแต่ปี 2021 ได้กำหนดให้ผู้ผลิตต้องผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น ผู้บริโภคสามารถซ่อมแซมเองได้ หรือเป็นวัสดุที่นำมารีไซเคิลได้แทนที่การทิ้งขว้างแบบไร้ประโยชน์

ลำดับขั้นตอนของเมืองคามิกัตสึในการทำให้เมืองลดขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste)

1 การทำปุ๋ยหมักในครัวเรือน

ผู้นำในคามิกัตสึมองว่า การลดขยะในเมืองให้ได้ผลแท้จริง ต้องเริ่มวางเป้าหมายและมาตรการเมืองรีไซเคิล และวิธีการในการลดขยะ แต่เดิมการลดขยะมักจะใช้การเผา ซึ่งก่อเกิดมลพิษทางอากาศ แกนนำจึงคิดว่าควรเปลี่ยนวิธีการจัดการขยะเป็นการทำปุ๋ยหมักขยะ ในปี 1995 คามิกัตสึให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้อาศัยในเมืองนี้ ด้วยการซื้อเครื่องแปรรูปขยะมูลฝอยสำหรับครัวเรือน ให้แต่ละบ้านจัดการขยะในบ้านเรือนของตน และมีศูนย์จัดการขยะซึ่งเป็นสถานีที่เป็นศูนย์กลางของเมือง ในระยะแรกมีการให้ประชาชนแยกขยะออกเป็น 9 หมวดหมู่ จากนั้นเริ่มแยกแยะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีมากถึง 45 รายการ

2 แนวทางที่นำไปสู่การรีไซเคิลขยะได้ 81 เปอร์เซ็นต์

เมืองคามิกัตสึได้นำแนวความคิดว่า “นำทรัพยากรของคุณมาเอง” หมายความว่าผู้อาศัยแต่ละบ้านจะต้องนำขยะคัดแยกด้วยตนเอง สถานีคัดแยกขยะของเมืองจะเปิดให้บริการตั้งแต่ 7.30 น. – 14.00 น. ทุกวัน ที่สำคัญเจ้าหน้าที่สถานียังให้ความช่วยเหลือประชาชนหากมีปัญหาในเรื่องการคัดแยกขยะ

ซากาโนะ อาคิระ เป็นประธานของ Zero Waste Academy กล่าวว่า “ฉันคิดว่าบางคนที่มาที่สถานีนี้เพราะตั้งหน้าตั้งตารอที่จะมาคุยกับเจ้าหน้าที่ ทั้งเมืองจะมารวมตัวกันที่นี่ ซึ่งทำให้ที่นี่เปรียบเสมือนสถานที่ที่สร้างจุดประกายและสร้างปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชนด้วย”

ขยะที่คัดแยกตอนเริ่มต้นมี 9 ประเภท และเพิ่มมาเป็น 34 ประเภทในปี 2002 และเพิ่มมาเป็น 45 ประเภทในปี 2015 ยกตัวอย่างเช่น วัสดุโลหะสามารถแบ่งแยกได้ 5 ประเภท หรือวัสดุพลาสติกสามารถแบ่งได้ 6 ประเภท และวัสดุกระดาษสามารถแบ่งได้ถึง 9 ประเภท จะมีการเผาขยะจริงๆไม่กี่ชนิด เช่น ยาง พีวีซี และผ้าอ้อมสำเร็จรูป ฯลฯ จากการคัดแยกขยะของเมือง แล้วนำขยะไปขายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองจากรายได้ถึง 2.5 -3.0 ล้านเยนต่อปี

3 ร้านค้า “คุรุคุรุ”

นอกจากชาวเมืองจะคัดแยกขยะด้วยตนเองแล้วนำไปไว้ที่สถานีคัดแยกขยะ เมืองคามิกัตสึยังมีร้านค้าขยะชื่อ “คุรุคุรุ” แปลเป็นไทยว่า “วนไปวนมา” ซึ่งเป็นร้านค้าที่เป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของสิ่งของที่เดินทางกลับไปกลับมา เป็นร้านค้าที่เต็มไปด้วยของที่ใช้แล้ว

ร้านค้าคุรุคุรุเป็นโครงการหมุนเวียนที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ผู้คนจะนำสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วแต่ยังมีประโยชน์ ใช้งานได้นำมาให้ร้านค้า ซึ่งผู้คนที่ต้องการสินค้าจากร้านสามารถนำออกไปได้ ไม่ว่าจะเป็นคนในเมืองหรือนอกเมือง มันดีกว่าให้สิ่งของถูกทิ้งไปโดยสูญเปล่า

ยังมีอีกโครงการหนึ่งคือ “คุรุคุรุ เวิร์คชอป” เป็นโครงการที่นำเสื้อผ้าเก่าๆที่ไม่ได้ใช้งานแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ โดยนำมาแปรสภาพทำเป็นผลิตภัณฑ์และสินค้าใหม่ๆ ซึ่งผลิตภัณฑ์จากเสื้อผ้าเก่าถูกออกแบบได้สวยงามตามยุคสมัย มีตั้งแต่เสื้อกันลม ตุ๊กตารูปสัตว์ หรือแม้แต่กระเป๋าที่ทำจากชุดกิโมโน งานฝีมือล้วนมาจากกลุ่มผู้สูงอายุที่มีฝีมือในการทำงานฝีมือเป็นอย่างดี นอจากนี้ยังสื่อว่า Zero Waste สามารถเข้ามาอยู่ในงานสถาปัตยกรรมได้ จากการนำวัสดุก่อสร้างเหลือใช้มาประกอบเป็นร้านค้า รวมไปถึงการตกแต่งภายในที่ใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับการบริจาคมา

4 ข้อเสนอที่ทำให้เกิดการรองรับ Zero Waste ในโลกธุรกิจมากขึ้น

องค์กร Zero Waste Academy ได้จัดตั้ง “Zero Waste Certification” เพื่อใช้เป็นสิ่งที่รองรับภาคเอกชน และภาคธุรกิจในการกำจัดขยะให้ได้มากที่สุด เช่น ร้านอาหารและธุรกิจอื่นที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ โดยมีกฎเกณฑ์เป็นไปตามหลักของ  Zero Waste

หลักการของ Zero Waste Certification มีด้วยกัน 3 ประการคือ

  • 1 ฝึกอบรมพนักงานให้รู้วิธีการแยกขยะ และการกำจัดขยะให้เป็นศูนย์
  • 2 สร้างการมีส่วนร่วมในการแยกขยะและการรีไซเคิลร่วมกับเทศบาล
  • 3 กำหนดเป้าหมาย การทำงาน และกฎระเบียบสำหรับภาคเอกชน

หลังจากนั้นภาคธุรกิจประเภทต่างๆจะได้รับการประเมินผลมีด้วยกันหกหมวด ในกระบวนการนี้ภาคธุรกิจและภาคเอกชนจะได้เรียนรู้ในหลากหลายแง่มุมในการลดปริมาณขยะ ในปี 2017 ร้านอาหารในคามิกัตสึได้ผ่านการรับรองจำนวน 6 แห่ง นอกจากนี้องค์กร Zero Waste Academy ยังคอยช่วยเหลือธุรกิจอื่นๆที่ต้องการลดปริมาณขยะ และเขียนรายงานความคืบหน้า รวมถึงการประชาสัมพันธ์ต่างๆของโครงการ

หลังจากที่ภาคธุรกิจในเมืองผ่านการรับรองมากขึ้น จึงทำการขยายผลด้วยการเปิดรับสมัครภาคธุรกิจนอกเมืองมากขึ้น หรือเปิดรับสมัครทั่วประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้เป็นการจุดประกายให้เกิดการสร้างการมีส่วนร่วมในการรณรงค์เรื่อง Zero Waste

ข้อมูลประกอบจาก : greenqueen.com.hk / nippon.com

ขยะเป็นศูนย์ในมุมมองของอียู (EU)

องค์กรสหภาพยุโรป (EU) เริ่มตะหนักในเรื่องของปริมาณขยะที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องของการกำจัดขยะให้เป็นศูนย์ ได้ออกกฎเกณฑ์เรื่องการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในอนาคตเพื่อสร้างความยั่งยืน เป็นหลักการที่บังคับใช้ในทวีปยุโรป เน้นเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ดึงประโยชน์และทรัพยากรคุณภาพจากขยะให้ได้มากที่สุด และถูกนำไปบัญญัติไว้ในกฎหมาย ผู้เขียนคิดว่าเรารับรู้ไว้ไม่เสียหาย มีกฎเกณฑ์ดังต่อไปนี้

การป้องกันและการใช้ซ้ำ

เป็นการป้องกันสินค้า ต้องผลิตสินค้าที่มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ที่สำคัญต้องตะหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก ให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง ให้เกิดเป็นโมเดลภาคธุรกิจ

บรรจุภัณฑ์

ในปัจจุบัน บรรจุภัณฑ์มักถูกออกแบบให้ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งไป ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและค่าใช้จ่าย การนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง ในขณะเดียวกันตัวบรรจุภัณฑ์ต้องห่อหุ้มดูแลของภายในบรรจุภัณฑ์ไม่เสียหาย โดยสนับสนุนในภาคธุรกิจตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ไปจนถึงภาคธุรกิจขนาดใหญ่

ปริมาณขยะจากบรรจุภัณฑ์มีมากขึ้นทุกๆปี ในทวีปยุโรปมีขยะจากบรรจุภัณฑ์มากมาตลอด ในปี 2017 มีขยะที่ได้จากบรรจุภัณฑ์จำนวน 173 กิโลกรัมต่อประชาชนในสหภาพยุโรป ซึ่งบรรจุภัณฑ์ที่มีมากที่สุด คือ พลาสติก มีการผลิตมากถึง 17.8 ล้านตัน การแก้ปัญหาควรแก้ที่การผลิต และการกำจัดขยะก็เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขให้ได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

องค์กร  Zero Waste Europe (ZWE) เป็นองค์กรที่ทำงานในสหภาพยุโรป ร่วมมือกับ Break FreeFrom Plastic (BFFP) เพื่อจัดการการสร้างขยะจากบรรจุภัณฑ์ โดยใช้หลักการอนุรักษ์และสร้างคุณค่าของธุรกิจที่ปราศจากขยะด้วยการออกแบบ หรือจัดการกับขยะตามประเภทหมวดหมู่ที่กำหนดไว้

วัสดุบรรจุอาหาร

วัสดุ หมายถึง วัสดุที่สัมผัสโดนอาหารหรือขนมโดยตรง ต้องไม่มีสารพิษที่ทำลายคุณภาพของอาหาร และเกิดความเสี่ยงกับผู้บริโภค เป็นเรื่องของสุขภาพ ที่สำคัญต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างผลเสียกับมลภาวะ และภัยสุขภาพ มีผลต่อระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบฮอร์โมน ดังนั้นสหภาพยุโรปจึงต้องร่วมมือกับ ZWE และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์มีความปลอดภัย มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และนำมาใช้ซ้ำได้

ผ้าอ้อมที่นำกับมาใช้ซ้ำได้

ผ้าอ้อม เป็นขยะที่กำจัดได้ยากอีกประเภทไม่ต่างจากพลาสติก ส่วนมากใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเลย ทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ในทวีปยุโรปมีขยะจากผ้าอ้อมประมาณ 6.7 ล้านตันต่อปี รวมไปถึงของเสีย ที่ต้องหาวิธีการรีไวเคิลซึ่งมีต้นทุนทางเทคนิคที่สูงมาก ส่วนใหญ่ต้องขุดหลุมฝังกลบหรือเผาทำลายทิ้งไป ซึ่งเป็นตัวการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้ยุโรปต้องกลับมาคิดเรื่องการทำผ้าอ้อมเด็กที่สามารถรีไซเคิลได้ สามารถย่อยสลายได้ คาดว่ารูปแบบการผลิตผ้าอ้อมเด็กหรือผ้าอ้อมสำเร็จรูปในอนาคตต้องสามารถกลับมาใช้ซ้ำได้ (รูปแบบนำไปซัก) หรือนำไปทำปุ๋ยหมัก (รูปแบบที่ย่อยสลายได้) และนำไปรีไซเคิล (กรณีที่เป็นผ้าอ้อมที่ย่อยสลายไม่ได้เหมือนพลาสติก) ถือเป็น 3 รูปแบบที่ยุโรปกำลังคิดค้นและผลิตเพื่อดูแลด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ

ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้หญิง

ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้หญิง ได้แก่ ผ้าอนามัย เป็นสิ่งที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ส่วนมากจะกำจัดด้วยการเผา ฝังกลบ หรือทิ้งเกลื่อนกลาด ตามข้อมูลบอกว่า ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนในยุโรปที่สามารถซื้อผลิตภัณฑ์ของผู้หญิงในแต่ละเดือนได้ เป็นเรื่องปัญหาความยากจน และราคาผลิตภัณฑ์ที่สูง จากข้อมูลของ ZWE บอกว่าความจริงแล้วในยุโรปมีผลิตภัณฑ์ผู้หญิงที่นำมารีไซเคิลได้ ปลอดสารพิษ ไม่ได้ทำจากพลาสติก เช่น กางเกงอนามัย แต่จำนวนประชากรที่เข้าถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังมีจำนวนน้อย ทั้งนี้เนื่องจากขาดการประชาสัมพันธ์และการเข้าถึงกลุ่มคนทุกกลุ่ม อีกอย่างคือผลิตภัณฑ์ของผู้หญิงที่นำมารีไซเคิลได้มีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆตามท้องตลาดทั่วไป

ตัวอย่าง

ในปัจจุบัน ประเทศในยุโรปที่ถือว่ามีความเข้มแข็งมากในเรื่องจัดการขยะให้เป็นศูนย์ ได้แก่ ประเทศอิตาลีและประเทศสเปน โดยเฉพาะที่คานปานโนริ แคว้นทัสกานี ประเทศอิตาลี มีประชากรประมาณห้าหมื่นคน สามารถลดจำนวนขยะมาตั้งแต่ปี 2004 จนถึงปัจจุบัน สามารถลดปริมาณขยะได้ประมาณ 700 กิโลกรัมต่อปี ปัจจุบันขยะในคานปานโนริกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ถูกนำมาคัดแยกขยะตามหมวดหมู่ แล้วนำไปรีไซเคิลหรือย่อยสลายตามธรรมชาติ อีก 18 เปอร์เซ็นต์ เป็นการขุดฝังกลบขยะ จนกระทั่งในปี 2020 เริ่มไม่ให้มีการขุดหลุมฝังขยะอีกต่อไป

เหตุผลที่คานปานโนริเป็นเมืองที่มีสถิติเป็นเมืองขยะเป็นศูนย์ในระดับหัวแถว เพราะเกิดจากความร่วมมือของประชาชน เครือข่ายโรงเรียน ครูมีส่วนในการขับเคลื่อนเรื่องขยะเป็นศูนย์ในการให้ความรู้กับนักเรียน Rossano Ercolini มีอาชีพเป็นครูชาวอิตาเลียน และเป็นประธานของ Zero Waste Europe ในปี 2013 เขาได้รับรางวัล Goldman Environmental Prize เป็นรางวัลที่มอบให้กับนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ทางเทศบาลให้ความสำคัญกับการลดขยะโดยไม่ต้องเผา โดยเทศบาลกับประชาชนร่วมมือกันจัดการขยะด้วยการนำขยะขายให้กับโรงงานรีไซเคิล และจัดตั้งศูนย์ Zero Waste เพื่อใช้เป็นที่ศึกษาเรื่องขยะและหาทางกำจัดที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลสถิติ

จากข้อมูลเว็บไซต์ของสหภาพยุโรปในเรื่อง Eco Innovation ว่าในแต่ละเทศของยุโรปมีประสิทธิภาพในการจัดการด้านนวัตกรรมและสิ่งแวดล้อม โดยวัดผลลัพธ์จากนวัตกรรม กิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลลัพธ์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคม มีรายละเอีบดดังต่อไปนี้

ตัวบ่งชี้ด้าน Eco Innovation

  • ปัจจัยการผลิตด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
  • การกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (มีการลงทุน)

ตัวชี้วัดด้าน Eco Innovation

  • การจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยสิ่งแวดล้อมและด้านพลังงาน (คิดเปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ GDP)
  • จำนวนนักวิจัยแผนกวิจัยและพัฒนา (R&D) ทั้งหมด (เปอร์เซ็นต์ของการจ้างงาน)
  • จำนวนมูลค่าของการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม

ด้านกิจกรรมนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม

  • มีการดำเนินการและจัดการด้านทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพในวงการ SMEs
  • การจัดการผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนในวงการ SMEs (วัดจากการเก็บข้อมูลและการสำรวจจากประเภทธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้อง)
  • จำนวนใบรับรอง ISO 14001

ผลลัพธ์ด้าน Eco Innovation

หมายถึงผลลัพธ์ที่เกิดจากการติดตามขอบเขตการทำงานของกลุ่มธุรกิจและกลุ่มนักวิจัยว่าเกิดการสร้างสิ่งเป็นรูปธรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ประกอบด้วยสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกันวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม มีสื่อสิ่งพิมพ์ทางด้านวิชาการเกี่ยวกับ Eco Innovation หรือสื่ออื่นๆที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม

ในด้านเศรษฐกิจและสังคม ต้องเห็นผลลัพธ์ในวงกว้าง มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ หมายถึงมีการจ้างงาน มีการทำงาน เกิดการขยายผลผลประกอบการในทางธุรกิจหรืออุตสาหกรรม มีการส่งออก หรือขยับขยายเรื่อง Eco Innovation ในวงกว้างมากขึ้น

นอกจากนี้ในด้านประสิทธิภาพของ Eco Innovation คือการผลิตสิ่งต่างๆที่ไม่เป็นมลภาวะกับสิ่งแวดล้อมหรือสังคม และส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ เช่น การผลิตวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การผลิตพลังงานทั้งหมดภายในประเทศ และความเข้มข้นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ล้วนเป็นตัวชี้วัดด้านประสิทธิภาพด้านนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมในประเทศว่ามีการริเริ่มและพัฒนาไปลำดับไหน

จากข้อมูลของอียู ในปี 2022 ประเทศในทวีปยุโรปที่ถือว่าเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ได้แก่

  • 1 ประเทศลักเซมเบิร์ก
  • 2 ประเทศฟินแลนด์
  • 3 ประเทศออสเตรีย
  • 4 ประเทศเดนมาร์ก
  • 5 ประเทศสวีเดน
  • 6 ประเทศเยอรมนี
  • 7 ประเทศฝรั่งเศส
  • 8 ประเทศอิตาลี
  • 9 ประเทศเนเธอร์แลนด์

เหตุผลที่ประเทศลักเซมเบิร์กเป็นผู้นำด้าน Eco Innovtion

เหตุผลที่ประเทศลักเซมเบิร์กเป็นผู้นำด้าน Eco Innovation Innovation เพราะว่าลัมเซมเบิร์กมีเป้าหมายชัดเจนในด้านสิ่งแวดล้อม มีการบริหารจัดการตั้งแต่ภาพใหญ่ไปจนถึงการลงรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการน้ำภายในประเทศ การรีไซเคิลวัสดุต่างๆ มีการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ และคิดวิธีแก้ปัญหาด้านนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมให้หลากหลาย

ประเทศลัมเซมเบิร์กอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ร่วมมือกับกลุ่มหอการค้าลัมเซมเบิร์ก โดยได้นำเสนอแผนการดำเนินการซึ่งมีทั้งหมด 30 รายการ โดยแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มดังนี้

  • 1 จัดสร้างศูนย์เทคโนโลยีเชิงนิเวศ เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับทดลองเทคโนโลยี การวิจัย และด้านเศรษฐกิจ
  • 2 จัดทำแผนที่ 360 องศาด้าน Eco-Innovation
  • 3 กระตุ้นให้เกิดการทำงานร่วมกันหลายๆฝ่ายในการแก้ปัญหาด้านนวัตกรรมเชิงนิเวศ (สิ่งแวดล้อมและสังคม)
  • 4 ดำเนินการด้านการจัดซื้อจัดจ้างทางภาครัฐ มุ่งเน้นไปที่ด้านนวัตกรรมเชิงนิเวศ
  • 5 รวมกลุ่มคนที่ลงมือปฏิบัติงานด้านนวัตกรรมเชิงนิเวศทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
  • 6 มีการออกแบบนิทรรศการเพื่อแสดงด้านเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมขอลักเซมเบิร์ก
  • 7 จัดตั้งชมรมนักพัฒนาด้านนวัตกรรมเชิงนิเวศ(Eco-Innovators) เพื่อสื่อสารเรื่องนี้ไปในวงกว้างมากขึ้น
  • 8 ดำเนินการโครงการนำร่องด้านนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมและสังคมตามภาคเครือข่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง

ลักเซมเบิร์กพยายามที่จะปลุกจิตสำนึกให้กับประชาชนในด้านเทคโนโลยีสีเขียว ที่จะมาช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมของเมืองดีขึ้น โดยร่วมมือกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยประเทศลัมเซมเบิร์กมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบดิจิทัลให้เข้าถึงทุกเพศทุกวัย ทั้งคนรุ่นใหม่และผู้สูงอายุ เพื่อหวังให้เกิดเป็นเมืองอัจฉริยะที่ยังคงรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคมที่มีบริบทหลากหลายเอาไว้ เช่น การมีรถยนต์ไฟฟ้า การสร้างแอปพลิเคชันสำหรับกิจกรรมของเมือง ประเทศเล็ก ๆแห่งนี้ได้วางกลยุทธ์ที่จะพัฒนาประเทศให้เป็นผู้นำด้าน Eco Innovation ของยุโรป

Green ICT หรือเทคโนโลยีสารสนเทศเทศและการสื่อสารสีเขียว คือแนวทางที่นำคอมพิวเตอร์มาช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาและลดผลกระทบในด้านลบในกระบวนการต่างๆ เช่น การออกแบบ ขั้นตอนการผลิต ขั้นตอนการดำเนินงาน หรือขั้นตอนกำจัดและรีไซเคิล โดยเฉพาะการผลิตหรือการสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งประเทศลักเซมเบิร์กได้นำหลักการ Green ICT มาใช้ ในอนาคตจะรวมไปถึงการตรวจสอบอาคาร และการประหยัดพลังงาน ถือว่าลักเซมเบิร์กสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศโดยเข้าถึงทุกชนชั้น ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ส่วนหนึ่งจะส่งผลเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์

เทคโนโลยีที่เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยของประเทศนี้ เช่น การสร้างแอปพลิเคชันซื้ออาหารเพื่อสิ่งแวดล้อม แอปพลิเคชันดูแลสุขภาพ หรือแอปพลิเคชันสำหรับบริการสาธารณะต่าง ๆ เป็นต้น ทั้งนี้การสร้างระบบเหล่านี้ต้องมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน เช่น การเก็บรักษาข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ด้วย

ข้อมูลประกอบจาก : zerowasteeurope.eu / ec.europa.eu / siliconluxembourg.lu / spuerkeess.lu

การแยกขยะในประเทศไทย

ในประเทศไทย เริ่มให้ความสนใจกับ Zero Waste และการแยกขยะเริ่มมีการรณรงค์มากขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะไม่ชัดเจนนัก แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยเริ่มจากการลดใช้ถุงพลาสติกตามร้านสะดวกซื้อต่างๆ ให้ประชาชนใช้กระเป๋าผ้าในการบรรจุสินค้าจับจ่ายใช้สอย หรือมีการเริ่มแยกพลาสติก ทำความสะอาดพลาสติกลงในถังขยะรีไซเคิล แม้จะยังไม่ได้มีการจัดแยกประเภทขยะจำนวนมากเหมือนญี่ปุ่น ซึ่งผู้เขียนได้ลองอ่านบทความการแยกขยะในประเทศต่างๆ ต่างก็มีประเภทของขยะที่ต้องแยกแตกต่างกันออกไป ตามวัฒนธรรมการใช้ชีวิต จึงมีข้าวของเครื่องใช้ที่ต่างกัน อย่างญี่ปุ่นมีการแยกตะเกียบหรือขวดสาเก ซึ่งประเทศไทยไม่ต้องเน้นเท่าญี่ปุ่น หรือปเยอรมันมีการแยกแจกันดอกไม้ที่ไม่ใช้แล้ว ที่กล่าวนี้มันขึ้นกับปัจจัยวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นั้น ๆ

จากข้อมูลที่ผู้เขียนในอ่านมาจำนวนหนึ่งพบว่า ถ้าประเทศไทยจะสามารถเป็นประเทศที่ปราศจากขยะ ประชาชนเข้าใจและเริ่มแยกขยะด้วยตนเองอย่างถูกต้อง จนเมืองมีระบบการจัดการด้วยตัวเองต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 – 10 ปี ซึ่งมันไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคน เรื่องการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ซึ่งมันต้องอาศัยความค่อยเป็นค่อยไป และทำซ้ำๆอย่างสม่ำเสมอ

เรื่องการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง ทำให้คนเห็นผ่านด้วยสายตาแบบซ้ำๆทุกวัน ซึ่งการสื่อสารต้องทำในวงกว้างเข้าถึงทุกคน ทุกเพศทุกวัย ทั้งรูปแบบนามธรรมและรูปธรรม เช่น การมีทั้งขยะที่แบ่งประเภทการแยกขยะอย่างชัดเจนในพื้นที่สาธารณะ การทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านการแยกขยะ การจัดกิจกรรมรณรงค์ หรือการร่วมมือกันจากหน่วยงานหลายๆฝ่ายในการทำให้ประเทศไทยเป็นเมือง Zero Waste อย่างแท้จริง

คุณประโยชน์ของเมืองที่มีขยะเป็นศูนย์

  • 1 เมืองมีความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย และดูสวยงาม
  • 2 ประชาชนจะมีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดีขึ้น เพราะเมื่อบ้านเมืองดูสะอาด ไม่มีขยะตามถนนหนทาง หรือกองขยะที่เกิดกลิ่นเหม็น เชื้อโรคหรือสิ่งปฏิกูลจะน้อยลง ลดการเกิดเชื้อพาหะต่างๆที่ทำให้คนเจ็บป่วยหรือติดเชื้อได้
  • 3 ระบบนิเวศต่างๆจะดีขึ้น สิ่งแวดล้อมจะค่อยๆกับสู่ภาวะที่สมดุล ทั้งระบบนิเวศทางบก ทางน้ำ และอากาศ ลดภาวะปรากฏการณ์แก๊สเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศจากการเผาขยะ
  • 4 เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในที่นี้อาจจะมองเห็นผลลัพธ์ยากหน่อย เพราะต้องอาศัยระยะเวลาและองค์ความรู้เป็นตัวพิสูจน์ อย่างเช่น การนำพลาสติกที่ย่อยสลายยากมาแปรสภาพเป็นวัสดุที่ทำประโยชน์แก่มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุก่อสร้าง ขาเทียมสำหรับคนพิการ เป็นต้น
  • 5 คุณภาพชีวิตของประชาชนจะดีขึ้น หากคนทุกคนเริ่มเข้าใจเรื่องการแยกขยะและนำไปปฏิบัติจริง จะทำให้ผู้คนมีชีวิตเป็นระเบียบมากขึ้น หมายถึง บ้านช่องจะดูเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น เพราะการแยกขยะเหมือนเป็นการจัดของหรือจัดระเบียบบ้านไปในตัว เมื่อบ้านไม่รกและมีสิ่งของเท่าที่จำเป็น จะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีจิตใจที่ปลอดโปร่งและมีความสุขมากขึ้น
  • 6 การแยกขยะสามารถสร้างรายได้เสริม อย่างเช่น การนำเสื้อผ้าเก่าๆมาเย็บดัดแปลงเป็นของใช้อย่างอื่น เช่น กระเป๋า ผ้ารองแก้ว เป็นต้น นอกจากจะช่วยด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการไม่ต้องเผาขยะ ยังทำให้เราสามารถมีรายได้จุนเจือครอบครัวอีกทางหนึ่ง

บทสรุป

ในยุคปัจจุบันเป็นยุคที่เจอปัญหาขยะล้นเมือง ขยะได้เข้าไปทำลายสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และสภาพสังคม ฉะนั้นการเริ่มต้นให้ทุกคนหันมาสาใจในเรื่องการแยกขยะ จะช่วยลดปัญหาด้านลบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มันอาจจะยากในระยะเริ่มต้น เพราะมันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ที่สำคัญต้องอาศัยระยะเวลาเป็นตัวพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งตัวอย่างการปฏิบัติและแนวทางในบทความนี้คงเป็นประโยชน์หรือเป็นแรงบันดาลใจในการใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

1 COMMENT

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here