De Stijl รูปแบบศิลปะ สไตล์ และงานออกแบบของดัตช์ที่มีอิทธิพลในยุคโมเดิร์น_wonderfularch.com
De Stijl รูปแบบศิลปะ สไตล์ และงานออกแบบของดัตช์ที่มีอิทธิพลในยุคโมเดิร์น

เราอาจจะเคยเห็นงานศิลปะที่เป็นช่องสี่เหลี่ยม มีสีเหลือง สีแดง และสีน้ำเงิน งานศิลปะรูปแบบนี้ถูกนำมาดัดแปลง ต่อยอดไปในงานออกแบบแขนงต่างๆ เช่น งานสถาปัตยกรรม แฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ และงานตกแต่งภายใน ซึ่งตัวผู้เขียนเองเห็นงานสไตล์นี้ หรือที่เรียกเป็นภาษาดัตช์ว่า De Stijl หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า the style รู้จักและเห็นงานแบบนี้มาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษาสถาปัตย์ แต่ไม่ได้ศึกษามันอย่างจริงจังนัก

ผู้เขียนเลยคิดว่า De stijl เป็นรูปแบบงานศิลปกรรมที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ซึ่งศิลปะแบบนี้มีจุดเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1917 เป็นขบวนการศิลปะของชาวดัตช์ ประกอบด้วยกลุ่มศิลปินและสถาปนิกร่วมกันทำสไตล์นี้ขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างงานศิลปะแบบใหม่ เป็นศิลปะนามธรรม ลดความซับซ้อน รายละเอียด และลดการใช้สี ให้มีเพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยจัดองค์ประกอบของภาพให้มีเส้นตั้งเส้นนอนพาดไปมา โดยใช้เส้นสีดำ และระบายสีลงในช่องสี่เหลี่ยมด้วยแม่สีหลักเพียงสามสี

นอกจากนี้ De Stijl ยังเป็นชื่อวารสารที่ถูกตีพิมพ์โดยศิลปิน นักออกแบบ และนักเขียน ได้ร่วมกันตีพิมพ์วารสารชุดนี้ขึ้นมา เพื่อเผยแพร่แนวคิดและหลักทฤษฏีของพวกเขา ได้แก่

จากซ้าย : Van Doesburg , Piet Mondrian , Gerrit Rietveld , J. J. P. Oud , Vilmos Huszar
  • จิตรกร Piet Mondrian
  • จิตรกร Vilmos Huszár
  • สถาปนิก Gerrit Rietveld
  • สถาปนิก J. J. P. Oud
  • สถาปนิก Robert van ‘t Hoff
  • ศิลปิน Van Doesburg

จิตรกรและสถาปนิกกลุ่มนี้เรียกสิ่งที่พวกเขาได้รังสรรค์ขึ้นมาว่าเป็นปรัชญา ชื่อว่า Neoplasticism หมายถึง ศิลปะรูปแบบใหม่ ทั้งนี้เพื่อสร้างการเคลื่อนไหวและขับเคลื่อนศิลปะรูปแบบใหม่ ซึ่งหลักการของ De Stijl มันเหมือนยูโทเปียในโลกศิลปะ รับรู้ทฤษฏี แต่คนภายนอกไม่สามารถมาทำต่อได้ มันเลยดูจะเฟื่องฟูสุดๆตั้งแต่ปี 1920 -1930 เท่านั้น เพราะมันเป็นรูปแบบศิลปะที่เป็นแบบเฉพาะจริงๆ แต่ว่าศิลปินที่ดูจะมีชื่อเสียงที่สุด คือ Piet Mondrian

หลักการของ De Stijl (Neoplasticism)

หลักการของ Neoplasticism มีกฎชัดเจนคือ

  • 1 ต้องแสดงออกให้เป็นนามธรรม (abstraction)
  • 2 ใช้แม่สีหลัก ได้แก่ สีเหลือง สีแดง และสีน้ำเงิน
  • 3 ใช้เส้นตรง ทั้งเส้นตั้งและเส้นนอน
  • 4 การระบายสี ให้ระบายภายในช่องสี่เหลี่ยม และต้องใช้แม่สีหลักเท่านั้น
  • 5 การจัดวางองค์ประกอบของภาพ ต้องใช้เส้น และรูปทรงเรขาคณิต ได้แก่ สี่เหลี่ยมจัตุรัส และสี่เหลี่ยมผืนผ้า
  • 6 สีของเส้นตั้งและเส้นนอน ใช้สีขาว หรือสีดำ

ที่มาของ De Stijl

De Stijl เป็นการพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงของโลกศิลปะหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากมีศิลปะบาโรก เป็นศิลปะเน้นความหรูหรา รายละเอียดการตกแต่งอย่างวิจิตร โดยนำเสนอแนวคิดที่ดูเรียบง่ายขึ้น ให้เข้าสู่โลกศิลปะยุคใหม่ ลดองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นออกไป สิ่งที่เหล่าศิลปินและสถาปนิกกลุ่มนี้ได้คิดขึ้นมา มีความผสมผสานความเป็นจิตรกรและสถาปนิกผสมผสานกัน นั่นคือ มีเส้น ระนาบ ที่ว่าง และการจัดองค์ประกอบ เพราะนอกจากจากเป็นงานภาพวาด พวกเขายังเอาหลักการนี้ไปใช้ในงานสถาปัตยกรรม และงานตกแต่งภายใน ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่

  • 1 Rietveld Schröder House
  • 2 Red and Blue Chair
งานออกแบบและงานสถาปัตยกรรมที่ตรงตามหลักการของ De Stijl ทุกประการ_wonderfularch.com
งานออกแบบและงานสถาปัตยกรรมที่ตรงตามหลักการของ De Stijl ทุกประการ
(บน : Rietveld Schröder House ล่าง : Red and Blue Chair)

อิทธิพลของ De Stijl มาจากการวาดภาพแบบ Cubist และรูปทรงเรขาคณิตพื้นฐาน ทำให้เกิดภาพที่เป็นอิสระ มีเส้น ระนาบ และที่ว่าง ทำให้ส่งผลต่ออิทธิพลของโรงเรียน Bauhaus ในเรื่องของงานสถาปัตยกรรม ศิลปะ งานออกแบบในอุตสาหกรรมของยุคใหม่ (ยุคโมเดิร์น)

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ทำให้เนเธอร์แลนด์ตัดขาดจากโลก อยู่ภายในประเทศของตนเองเท่านั้น ทำให้ชาวดัตช์มีเวลาที่จะพัฒนาสิ่งต่างๆในประเทศตนเอง โดยเฉพาะวงการศิลปกรรม

การก่อตั้ง De Stijl

ในปี 1915 ศิลปิน ฟาน โดสเบิร์ก (Van Doesburg) ได้พบกับ Piet Mondrian ในงานนิทรรศการที่ Stedelijk Museum Amsterdam และพบปะกับ J.J.P. Oud และ Vilmos Huszár ศิลปินชาวฮังการี จนในปี 1917 พวกเขาเหล่านี้ร่วมกับนักประพันธ์ และกวี ชื่อ Antony Kok ในการก่อตั้ง De Stijl และในปี 1918 สถาปนิก Gerrit Rietveld ได้มาเข้าร่วมกลุ่ม จนเกิดสมาชิกเพิ่มขึ้นกว่า 100 คน

ในช่วง 3 ปีแรก สมาชิกกลุ่มต่างมีอุดมการณ์เหมือนกัน หลังผ่านไป 3 ปี ศิลปิน Van der Leck ได้ขอออกจากกลุ่ม แต่ว่าด้วยในสมัยช่วงสงครามโลก สภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคม เป็นแรงบันดาลใจ แรงผลักดันให้พวกเขาคิดทฤษฏีใหม่ในโลกศิลปกรรม และมันก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินและสถาปนิกรุ่นต่อๆไปหลายคน เช่น แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์

ชื่อ Neoplasticism เป็นคำที่ปีต โมนดรียาน (Mondrian) ตั้งขึ้นมาในปี 1917 เขายังได้เขียนบทความชื่อ “Neo-Plasticism in Painting” ถูกตีพิมพ์ในวารสาร De Stijl และตีพิมพ์หนังสือทฤษฏีของเขาชื่อ Le Néo-Plasticisme

หนังสือ Le Néo-Plasticisme และวารสาร De Stijl_WonderfulArch
หนังสือ Le Néo-Plasticisme และวารสาร De Stijl

ยุคหลังปี 1920   

ในปี 1921 กลุ่มสมาชิกมีการเปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่ฟาน โดสเบิร์กได้คบสมาคมกับกลุ่มบาวเฮาส์ อิทธิพลจากข้างนอกเริ่มเข้ามามีบทบาทกับกลุ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคาซิมีร์ มาเลวิช ศิลปินชาวรีสเซีย และทฤษฏีศิลปะเค้าโครง (Constructivism) ซึ่งก็มีสมาชิกในกลุ่มบางส่วนไม่เห็นด้วยที่เอารูปแบบจากที่อื่นเข้ามา

ในปี 1924 ได้ถอนตัวออกจากลุ่ม เมื่อฟาน โดสเบิร์กได้เสนอทฤษฏีใหม่ “Elementarism” ปรับเปลี่ยนจากทฤษฏีเดิม โดยการใช้เส้นทแยงมุม มากกว่าเส้นตั้งหรือเส้นนอน อีกอย่างหนึ่งคือ โดเบิร์กได้เปิดรับสมาชิกเข้ากลุ่มมีความหลากหลายมากขึ้น เช่นอิทธิพลจากดาดา (Dadaism) และ Antiphilosophy ของ Aldo Camini เนื่องจากมีหลายเสียง หลายทฤษฏี ทำให้เกิดเสียงแตกกันภายในกลุ่ม

Elementarism เปลี่ยนรูปแบบที่ใช้เส้นตั้งเส้นนอน มาเป็นเส้นทแยงมุม

ยุคหลังฟาน โดสเบิร์ก เสียชีวิต

  • มีการจัดนิทรรศการ “De Stijl” ในกรุงปารีส ในปี 1923
  • ฟาน โดสเบิร์ก เสียชีวิตในเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปี 1931
  • การมีบทบาทหลักของฟาน โดเบิร์ก ทำให้กลุ่ม De Stijl ไปไม่รอด แต่สายสัมพันธ์ของพวกเขา ยังไปมาหาสู่กันตลอด มันอาจดูขัดกับภาพลักษณ์ของคนทั่วไปที่อาจจะมองว่า กลุ่มศิลปินแนวใหม่กลุ่มนี้มีความเข้มแข็ง มีความแน่นแฟ้น แต่ความจริงแล้วศิลปินบางคนไม่เคยเห็นหน้ากันเลย เช่น ศิลปินMondrian และสถาปนิก Rietveld
  • แม้ช่วงหลัง ภายในกลุ่มจะมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่ก็ยังมีสมาชิกที่ยังยึดหลักการเดิมเอาไว้ คือ สถาปนิก Gerrit Rietveld ยังออกแบบเฟอร์นิเจอร์ตามหลักการของ De Stijl หรือแม้แต่โมนดรียาน ยังคงทำงานตามหลักการที่เขาตั้งขึ้นมาโดยตลอด

อิทธิพลในงานสถาปัตยกรรม

De Stijl มีอิทธิพลกับสถาปนิกในยุคโมเดิร์น อย่าง Mies van der Rohe นำหลักการมาใช้ในการออกแบบในช่วงแรกๆ หรือ Gerrit Rietveld ได้ออกแบบบ้าน the Rietveld Schröder House ซึ่งเป็นงานสถาปัตยกรรมหลังเดียวที่ใช้หลักการของ De Stijl ทุกประการ หรืองานออกแบบบ้าน Eames House ออกแบบโดย Charles และ Ray Eames

อิทธิพลในปัจจุบัน

  • อิทธิพลของ De Stijl กระจัดกระจายไปทั่วโลก ปัจจุบันยังมีการจัดนิทรรศการ มีพิพิธภัณฑ์ที่แสดงผลงานของ De Stijl ที่พิพิธภัณฑ์ Kunstmuseum Den Haag ประเทศเนเธอร์แลนด์ (เก็บคอลเลกชั่นผลงานของโมนดรียานไว้มากที่สุด)
  • พิพิธภัณฑ์ Stedelijk Museum Amsterdam จัดแสดงผลงานของ Rietveld และ Van Doburg เอาไว้
  • พิพิธภัณฑ์ The Centraal Museum of Utrecht มีคอลเลกชั่นงานของสถาปนิก Rietveld ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  • De Stijl ยังเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสถานีรถไฟ Salaryevo stations กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เปิดทำการในปี 2016
สถานีรถไฟ Salaryevo stations กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย_wonderfularch.com
สถานีรถไฟ Salaryevo stations กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย

บทสรุป

De Stijl หรือ Neoplasticism เป็นหลักการศิลปะและงานออกแบบที่เกิดจากคนรุ่นใหม่ในยุคสงครามโลก ที่อยากจะมีความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆบนโลก จนทุกวันนี้มันคือหลักทฤษฏีที่ถูกนำไปใช้กันมากมายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ งานสถาปัตยกรรม งานแฟชั่น หรืองานออกแบบตกแต่งภายใน และถูกพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆไม่สิ้นสุด

ที่มา : www.theartstory.org / wikipedia

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here