
หากพูดถึงการทำเกษตรกรรมแบบวิถีธรรมชาติ ชื่อ Fukuoka Masanobu เกษตรกรชาวญี่ปุ่นที่อุทิศตนให้กับงานเกษตร การปลูกข้าว การปลูกพืช ผัก ผลไม้ ที่ไม่ใช่สารเคมี เป็นแรงบันดาลใจให้เกษตรกรรมใหม่ๆ ที่หันมาใส่ใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ผู้เขียนเคยอ่านหนังสือของฟูกูโอกะ ฉบับภาษาไทย ชื่อว่า the One-Straw Revoluation โดย Fukuoka Masanobu ที่เขียนเกี่ยวกับการปลูกข้าวบาร์เลย์ ด้วยการทดลองปลูกข้าวแบบไม่ไถนา ไม่กำจัดวัชพืช และไม่ใช้ยาฆ่าแมลง จนนำไปสู่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ จนเกิดการสร้างปฏิทินการปลูกพืชผักชนิดต่างๆตามฤดูกาล
แนวคิดของเกษตรกรรมแบบวิถีธรรมชาติ
การเกษตรแบบฟูกูโอกะ เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ มีความเรียบง่าย มีหลัก 4 ประการคือ
- 1.ไม่ไถพรวนดิน
- 2.ไม่ใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์
- 3.ไม่กำจัดวัชพืช
- 4.ไม่ใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงทุกชนิด
ฟูกูโอกะเชื่อว่าการอาศัยการเติบโตโดยอาศัยระบบนิเวศในพื้นที่ แมลง น้ำ แผ่นดิน สร้างการเปลี่ยนแปลงในการเพาะปลูกพืชและข้าว วิธีดังกล่าวจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกได้ การที่ฟูกูโอกะมีความเชื่อเช่นนี้ เพราะว่าชีวิตการทำงานของเขา เขาประกอบอาชีพเป็นผู้ตรวจสอบพืชพรรณที่โยโกฮาม่ามาทั้งชีวิต ทำให้เขามีความรู้เกี่ยวกับพืชพรรณต่างๆที่ได้จากประสบการณ์การทำงาน
ฟูกูโอกะมองว่า ลองลบทฤษฎีแบบเดิมๆทิ้งไป แล้วให้ธรรมชาติเป็นผู้ที่ทำให้ข้าวในนาเติบโตเอง โดยที่เราไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน ฟังดูแล้วอาจดูเหมือนคนขี้เกียจ แต่ทฤษฎีนี้เขาใช้เวลาทดลองอยู่หลายปี มีการจดบันทึกการทดลองทุกครั้ง เขาไม่ใช้รถหรือความไถนา พอมีแมลงมาเกาะข้าวก็ไม่ฉีดยา หรือทำลายมัน ปล่อยให้เป็นไปตามวัฏจักรของระบบนิเวศ
การไม่ทำอะไรกับนาข้าว แท้จริงหมายถึง การที่เราเข้าใจธรรมชาติของข้าว รู้ว่าข้าวแต่ละพันธุ์มีการเติบโตและเริ่มร่วงโรยในช่วงเวลาใด เรียนรู้จากการสังเกต จดบันทึกอยู่เสมอ จนทำให้เกิดวิธีการปลูกข้าวและพืชผักสวนครัวได้ตลอกทั้งปี โดยไม่ต้องมีการปล่อยให้พื้นที่เพาะปลูกถูกปล่อยร้างอีกต่อไป
แนวคิดของฟูกูโอกะเป็นแนวคิดของคนที่เข้าใจธรรมชาติอย่างถ่องแท้ ในหนังสือของเขา เขาเขียนว่าหลังจากที่ทำงานเป็นผู้ตรวจสอบพืชพรรณต่างๆมาหลายสิบปี การกลับไปบ้านเกิดเพื่อหาทฤษฎีการปลูกข้าวและพืชพรรณต่างๆด้วยตัวเอง ในช่วงแรกล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะการไม่ทำอะไรกับนาข้าวนั้น ไม่ใช่ว่าไม่ต้องใส่ใจ แต่ต้องหมั่นคอยดูและสังเกตนาข้าวทุกๆเดือน ตลอดทั้งปี เพื่อให้เข้าใจการเติบโตของพันธุ์ข้าวที่แท้จริง
ปรัชญา
ปรัชญาของฟูกูโอกะ คือ ความว่าง การทำทุกอย่างให้ดูน้อยที่สุด ให้ทุกอย่างกับสู่สมดุลด้วยตัวเอง อย่าพยายามประดิษฐ์หรือดัดแต่งกิ่งหรือพืชพรรณมากจนเกินไป หรือสิ่งที่มนุษย์ได้ประดิษฐ์ขึ้นที่คิดว่าจะทำให้พืชเติบโตดีขึ้น หรือเร่งการผลิตจนไม่เป็นธรรมชาติ เช่น ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ย่าฆ่าแมลง หรือการใช้รถแทรกเตอร์ไถนา
เขามองว่าการไถพรวนดินเพื่อปลูกพืชไม่มีความสำคัญมากนัก หากเราเรียนรู้เรื่องของดินอย่างดี สุขภาพของดินประเภทต่างๆ นั่นคือให้ไถพรวนเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
การทำเกษตรกรรมจึงต้องใช้จิตใจที่มีความหยั่งลึกรับรู้ถึงธรรมชาติ ซึ่งเป็นการหยั่งรู้ที่ซับซ้อนที่ยากที่มนุษย์จะเข้าใจ ดังนั้นการทำใจให้ว่าง และทำให้ธรรมชาติดำเนินไปตามวัฎจักรที่ควรจะเป็น ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเข้าใจธรรมชาติได้ทั้งหมด
วิถีพุทธตะวันออก
เป็นปรัชญาที่ฟูกูโอกะนำมาใช้กับการทำเกษตรกรรม เป็นปรัชญาที่ได้ผล นอกจากการศึกษาและเข้าใจพืชพรรณต่างๆอย่างถ่องแท้ การที่รู้จักว่าการใช้วิถีชีวิตแบบตะวันออกเป็นวิถีที่ทำให้มนุษย์มีสุขภาพที่ดี การบริโภคพืชผักที่เกิดจากปลูกด้วยวิถีธรรมชาติ ส่งผลดีกว่าการบริโภคอาหารที่ถูกเร่งผลิตผิดธรรมชาติ ฟูกูโอกะหมายถึง การใช้ชีวิตแบบตะวันตก ทำให้คนสุขภาพไม่ดี และเจ็บป่วยได้ง่าย เพราะการบริโภคเนื้อสัตว์มากกว่าผักผลไม้นั่นเอง
เราเป็นคนในพื้นที่ใด การบริโภคอาหารพื้นถิ่นในพื้นที่นั้นๆเป็นการทำให้มีสุขภาพที่ดี ไม่ฟุ่มเฟือย และทำให้การทำเกษตรกรรมในแต่ละพื้นที่มีการฟื้นฟูและถูกส่งเสริมมากขึ้น การเข้าหาการบริโภคแบบวิถีธรรมชาติเป็นการดีกว่าการบริโภคอาหารแปรรูป ที่ฟูกูโอกะมองว่า เป็นความต้องการของมนุษย์ที่ไม่มีที่สิ้นสุด และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น
การต่อยอด
ด้วยแนวคิดและปรัชญาแบบวิถีธรรมชาติ ทำให้ฟูกูโอกะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจการใช้ชีวิตในชนบท ปลีกตัวออกจากสังคมเมือง และมุ่งหน้ากลับบ้านเกิด หันเข้าสู่ชีวิตที่เรียบง่าย
จากหนังสือ ฟูกูโอกะได้เล่าว่าหลังจากที่เขากลับบ้านเกิดแล้วมาทดลองทำนาข้าว และฟาร์มผักในแบบของตัวเอง ผ่านไปหลายปี มักจะมีวัยรุ่น นักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติตะวันตกมาขอพักที่ฟาร์มของเขา และร่วมพูดคุยเรื่องการทำเกษตรกรรม และการใช้ชีวิตแบบชนบท
ชีวิตที่เข้าใจธรรมชาติ
เพราะเขาเชื่อเรื่องการใช้ชีวิตที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ เป็นชีวิตที่สงบสุข มีสุขภาพที่ดี และจิตใจที่สงบ ทำให้ทำให้หลายๆประเทศในฝั่งตะวันตก หันมาสนใจการเกษตรกรรมและการบริโภคแบบตะวันออก ทำให้ฟูกูโอกะต้องเดินทางไปหลายๆประเทศ เพื่อเป็นวิทยากรการทำเกษตรแบบวิถีธรรมชาติ แม้แต่ประเทศที่ทุรกันดาร มีความแห้งแล้ง ไม่ว่าจะเป็นประเทศโซมาเลีย พื้นที่ทะเลทรายในแอฟริกา และประเทศอิตาลี
การเดินทางของฟูกูโอกะ ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ด้านการเกษตรกรรม แต่เป็นเรื่องของวิถีชีวิตกับธรรมชาติ พยายามบอกให้มนุษย์อย่าพยายามดัดแปลงและทำลายสิ่งแวดล้อมมากเกินไป และการที่เขาเดินทางไปช่วยประเทศที่แห้งแล้ง ไม่มีแม่แต่พืชพรรณที่บริโภคได้ ส่งผลให้เกิดความอดอยาก เขาจึงสาธิตการปลูกพืชผักต่างๆตามสภาพของดิน และปลูกแบบพึ่งพาธรรมชาติและระบบนิเวศมากที่สุด
เขามองว่า การที่จะทำเกษตรกรรมให้เติบโต ต้องอาศัยธรรมชาติ สัตว์ ในการช่วยให้พืชพรรณเติบโต มีเมล็ดพันธุ์ที่สามารถกระจายไปทั่วดินแดน มีพืชพรรณที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่แท้จริง
การปรับชีวิตให้สู่สมดุล
ฟูกูโอกะอุทิศตนให้กับการเกษตรกรรมวิถีธรรมชาติ แม้ขณะที่เขาอายุ 90 ปี ยังคงมุ่งมั่นทำเกษตรกรรม ดูพืชพรรณธรรมชาติอยู่เสมอ และคอยให้ความรู้แก่ผู้คนที่มาเยี่ยมเยือนฟาร์มของเขา จากงานเกษตรกรรม จากการลองผิดลองถูก จนนำไปสู่จิตวิญญาณของการใช้ชีวิตที่เป็นสามัยที่สุด
ตัวอย่างวิถีการเกษตรกรรมแบบธรรมชาติ ของฟูกูโอกะ มาซาโนบุผู้นี้ เป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดการทำเกษตรกรรม การใช้ชีวิตที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ถึงแม้เราจะอยู่ในยุคที่มีเทคโนโลยี และสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แต่ไม่ได้ทำให้คนมีสุขภาพที่ดีหรือลดความเครียดจากการเร่งรีบในชีวิตได้
ถ้าหากเรามีปรัชญาและหลักคิดในการดำเนินชีวิตที่ทำให้คุณภาพชีวิตเรากลับสู่สมดุล มีสุขภาพร่างกายและจิตที่ดี มีความเรียบง่าย ไม่เป็นผู้ทำลายธรรมชาติ แต่เป็นผู้ดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินตามระบบนิเวศ สิ่งนี้จะทำให้โลกน่าอยู่มากขึ้น
หลักคิดนี้ ทำให้เห็นว่า ต่อให้โลกดำเนินก้าวไปข้างหน้ามากแค่ไหน แต่ธรรมชาติยังคงเหมือนเดิมเสมอมา เป็นความบริสุทธิ์ที่ไม่เคยทำร้ายสรรพสิ่งบนโลก แต่มนุษย์ชอบเอาชนะธรรมชาติ จึงคิดสิ่งประดิษฐ์และทฤษฎีมากมายมาควบคุมธรรมชาติ และเร่งการเติบโตเร็วเกินไป
หลักคิดของ “ความว่าง” จึงนำไปสู่วิถีชีวิตที่สมดุลและเป็นสุข และทำให้พื้นที่ชนบทมีความงดงามด้วยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี
ที่มา : Masanobu Fukuoka Natural Farm และหนังสือ the One-Straw Revoluation
อ่านบทความการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองในยุคปัจจุบัน : คลิก