Urban Green Space สวนในเมือง พื้นที่สีเขียวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ปัจจุบันพื้นที่ในเมืองทั่วโลกเติบโตไปด้วยตึกระฟ้าจำนวนมาก เพื่อรองรับประชากรที่เข้ามาอาศัยในเมืองมากขึ้น ทำให้ทรัพยากรทางธรรมชาติลดลง เกิดมลภาวะที่ส่งผลกระทบกับมนุษย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น อากาศที่ร้อนมากขึ้น จำนวนขยะที่มีปริมาณมหาศาล ในภาวการณ์เช่นนี้ทำให้คนต้องนึกถึงวิถีทางธรรมชาติอีกครั้ง การมีสวนหรือพื้นที่สีเขียวในเมืองสามารถบรรเทามลภาวะที่เสียหายในเมืองไม่มาก็น้อย

แนวความคิดในการมีพื้นที่ทางธรรมชาติ การมีสวน ซึ่งให้เป็นพื้นที่สีเขียวของเมือง ผู้เขียนมีความคิดว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการมีสวนในเมือง ทำให้เมืองกลับมามีความสมดุล คอยดูดซับมลพิษและของเสียต่างๆไปได้ ในบทความนี้จะพูดถึงแนวความคิดการเกิดสวนและพื้นที่สีเขียวในเมือง

สวนบนอาคารและที่พักอาศัย

สวนบนอาคาร หรือที่เรารู้จักในชื่อ “Roof Garden” เป็นการทำสวนบนชั้นดาดฟ้าของอาคาร ทั้งนี้เพื่อเป็นการปรับอุณหภูมิภายในอาคาร ทำให้อาคารเย็นลง ต้องอาศัยหลักการนวัตกรรมและเรื่องโครงสร้างเพื่อรองรับน้ำหนักของพืชพรรณ การมีสวนบนอาคารจะดูดซับความร้อนและมลภาวะในเมือง ช่วยเก็บกักน้ำฝน และทำให้เกิดการประหยัดพลังงานภายในอาคาร จึงทำให้ในยุคโมเดิร์นจึงเริ่มมีความนิยมในการทำสวนบนอาคาร จุดเริ่มต้นในระยะแรกเริ่มคือ Villa Savoye ที่ออกแบบโดย Le Corbusier ที่มีการทำสวนบนชั้นดาดฟ้า ไม่ได้ทำสวนบนพื้นดินเหมือนแต่ก่อน จากนั้นในยุคที่อุตสาหกรรมเจริญรุ่งเรือง เกิดอาคารสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ทรัพยากรทางธรรมชาติลดลง

รูปแบบสวนบนอาคาร มีทั้งการจัดสวนเพื่อใช้เพิ่มพื้นที่สีเขียว การทำเกษตรกรรม การควบคุมอุณหภูมิของอาคาร และเพื่อการประหยัดพลังงาน ซึ่งในประเทศที่ไม่สามารถปลูกพืชได้ หรือสภาพภูมิประเทศไม่เหมาะสมในการปลูกพืชพรรณ จึงต้องทำการปลูกพืชในอาคารขึ้น เพื่อสร้างความยั่งยืนของชุมชนไปสู่ระดับเมือง เกิดการพึ่งพาตนเอง สร้างรายได้และเศรษฐกิจให้กับประเทศ

จากงานวิจัยขององค์การสหประชาชาติคาดว่าในปี พ.ศ.2593 จะมีประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองกว่าหมื่นล้านคน การบริโภคอาหารที่จะเกิดขึ้นจะเน้นทรัพยากร อาหารแปรรูปต่างๆ จะเกิดภาวะขาดแคลนอาหารของคนในเมือง ซึ่งการที่จะให้คนในเมืองสามารถพึ่งพาตนเองได้ ต้องสร้างระบบการจัดการอาหารในเมือง ซึ่งมีหลายๆประเทศที่เข้าใจปัญหาตรงนี้ เริ่มจัดการการมีพืชพรรณต่างๆในการเลี้ยงคนในประเทศ

ญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่น มีการปลูกพืชในอาคารที่กรุงโตเกียว “Pasona Urban Ranch” เป็นการเริ่มต้นทำให้พื้นที่สำนักงานในเมืองหลวงให้เป็นพืชที่ทำการเกษตรกรรม ออกแบบโดย Kono Designs เป็นบริษัทออกแบบตกแต่งภายใน ได้ออกแบบอาคารให้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ การปลูกผัก ปลูกข้าว พืชพรรณต่างๆ เพื่อหวังให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจด้านเกษตรกรรมมากขึ้น เนื่องจากคนรุ่นใหม่หันมาทำงานในเมืองมากกว่าเลือกกลับไปทำเกษตรที่ชนบท โดยพื้นที่ภายใน Pasona Urban Ranch ทำการปลูกพืชด้วยดินและระบบไฮโดรโปนิกส์ และต้องควบคุมอุณหภูมิให้มีความอุ่นที่เหมาะสมสำหรับพืชพรรณ การใช้แสงสีต่างๆในการสังเคราะห์แสง ทำให้สร้างความสนใจแลพแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในเมือง ว่าแม้แต่อยู่ในเมืองก็สามารถพึ่งพาตนเองได้เช่นกัน

เนเธอร์แลนด์

ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศที่นอกจากจะมีการพัฒนาเส้นทางจักรยานที่ดีที่สุด เรื่องการพัฒนาเกษตรกรรม ประเทศเล็กๆแห่งนี้พัฒนาการทำเกษตรกรรมในอาคารที่สามารถผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งประเทศได้ และผลิตส่งออกให้กับประเทศต่างๆเป็นอันดับต้นๆของโลกมาตั้งแต่ปี 2560

ด้วยประเทศที่ค่อนข้างเล็กและค่าครองชีพที่สูง ทำให้เนเธอร์แลนด์ต้องอาศัยการใช้พื้นที่และที่ดินให้คุ้มค่ามากที่สุด และต้องคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเสริมการทำเกษตรกรรมของประเทศ โดยการผลิตมะเขือเทศของ Duijvestijn เป็นรูปแบบการทำเกษตรที่ยั่งยืนเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2554 ใช้การปลูกผักแบบเรือนกระจกและระบบไฮโดรโปนิกส์ และพยายามลดการใช้ของเสียและขยะให้มากที่สุด ผลิตภัณฑ์ที่ Duijvestjin สามารถนำกลับมาใช้แบบหมุนเวียนได้ มีปรัชญาว่าจะทำให้การผลิตเกษตรกรรมในทุกๆวันเป็นการทำงานและมีส่วนร่วมต่อสังคม ผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้กับผู้คน มีส่วนช่วยทำให้โลกดีขึ้นไม่มากก็น้อย

ที่ RotterZwam มีการเพาะพันธุ์เห็ดในเมือง ที่เป็นรูปแบบการทำธุรกิจท้องถิ่นที่พัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม โดยการเพาะเห็ดใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์และกากกาแฟเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีโรงเวิร์คชอปที่เปิดให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจหรือผู้ที่สนใจการทำอาชีพฟาร์มเห็ด เป็นการสร้างอาชีพและความยั่งยืนให้กับในประเทศ

สิงคโปร์

ประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศในแถบอาเซียนที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ในเรื่องการปลูกพืชในเมืองก็เช่นกัน สิงคโปร์ได้มีการทำเกษตรกรรมใจกลางเมือง ทำการปลูกพืชผักสวนครัว การทำสวนแนวตั้ง อย่างที่ Sustenir Agriculture เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ของสิงคโปร์ที่มีความตั้งใจในการทำเกษตรกรรมสำหรับคนเมือง เพื่อสร้างความยั่งยืนและผลผลิตที่ดีต่อการบริโภคและสิ่งแวดล้อม สามารถคิดค้นการปลูกพืชแบบไร้ดิน พืชสวนแนวตั้งภายในอาคารที่ใช้พื้นที่การเพาะปลูกได้อย่างคุ้มค่า สามารถเพาะปลูกพืชผักสวนครัวได้กว่า 1 ตันในพื้นที่ไม่เกิน 60 ตารางเมตร

ฝรั่งเศส

ประเทศฝรั่งเศส เป็นประเทศในแถบยุโรปที่ขึ้นชื่อเรื่องการพัฒนาเรื่องอาหารและการเกษตร มีกลุ่มสตาร์อัพรุ่นใหม่ชื่อ Agricool ได้ทำการเพาะปลูกสตรอเบอร์รี่ในแนวตั้งภายในอาคาร และพืชผักสวนครัวอื่นๆ มีการเปิดฝึกอบรมแก่ผู้คนที่สนใจ เพื่อให้การการต่อยอดและสร้างอาชีพของคนในเมือง เกิดการขยายฐานการเกษตรกรรม เป็นวิธีคิดในรูปแบบของธุรกิจที่สามารถขยายการเกษตรออกไปในเมืองได้มากขึ้น

อินเดีย

ประเทศอินเดียมีการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมในเมือง อย่าง Farmizen เป็นการพัฒนาระบบแอพลิเคชันการเกษตรกรรม ที่ช่วยให้คนในเมืองยุคใหม่สามารถเข้าถึงและซื้อผลิตภัณฑ์ออแกนิคจากเกษตรกรท้องถิ่น ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชน ในแอพลิเคชันจะมีสินค้าที่เป็นพืชผักสวนครัวต่างๆ ทุกคนจะสามารถสั่งซื้อผักออแกนิคผ่านมือถือ เป็นการนำเทคโนโลยีของโทรศัพท์มือถือมากระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชุมชน และทำให้คนในเมืองที่ใช้ชีวิตวุ่นวายกับการทำงานสามารถเลือกรับประทานผักผลไม้ออแกนิคจากสวนของชุมชนท้องถิ่นหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์

จีน

ประเทศจีน เป็นประเทศที่นอกจากจะมีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ด้านพัฒนาพื้นที่สีเขียวและเกษตรกรรม จีนก็ให้ความสำคัญ โดยจีนมีการพัฒนาการปลูกพืชในเมือง อย่างที่เซียงไฮ้ เป็นเมืองเศรษฐกิจของประเทศ แต่มีการทำเกษตรกรรมในเมืองในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชในแนวตั้ง การปลูกพืชในอาคารและชั้นดาดฟ้า การปลูกพืชในเรือนกระจก เป็นต้น ด้วยความที่เซียงไฮ้เป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุด จำนวน 24 ล้านคน ทำให้พื้นที่สำหรับทำเกษตรกรรมถูกทำลายเพื่อมาทำพื้นที่อาศัยและการค้าสำหรับคนเมือง ทำให้รัฐบาลจึงต้องปรับโซลูชันของเซียงไฮ้ใหม่ โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีและพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยต้องทำความเข้าใจกับผู้คนในเมืองว่าไม่สามารถที่จะทำฟาร์มขนาดใหญ่ได้ จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการทำพื้นที่เกษตรบนดาดฟ้าหรือระเบียง เป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนโดยจับเรื่องของความเป็นอยู่ของคนเข้ามาเกี่ยวด้วย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว

ที่กรุงปักกิ่ง รัฐบาลพัฒนาเมืองหลวงให้เป็นเมืองที่ส่งเสริมการเกษตรกรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ได้ รัฐจึงได้ทำแผนการพัฒนากรุงปักกิ่งด้านการเกษตรแบ่งออกเป็น 5 โซนคือ พื้นที่ใจกลางเมืองเป็นสวนเกษตรที่สามารถเป็นนิทรรศการและแหล่งเรียนรู้ พื้นที่ชั้นในเป็นพื้นที่การเกษตรส่งเสริมการท่องเที่ยว พื้นที่ชั้นนอกเป็นพื้นที่การเกษตรที่เน้นการผลิต การแปรรูปผักผลไม้ต่างๆ พื้นที่ในเขตภูเขา เป็นพื้นที่ในการปลูกผักผลไม้ที่ช่วยรักษาระบบนิเวศของพื้นที่ไว้ และพื้นที่ระดับภูมิภาค เป็นพื้นที่อำนวยความสะดวก การมีสหกรณ์ในการนำเข้าและส่งออกผลผลิตการเกษตรต่างๆ เป็นการสร้างความสัมพันธ์กับพื้นที่เขตอื่นๆโดยรอบ ซึ่งกลยุทธ์พื้นที่ 5 โซนของกรุงปักกิ่ง ทำให้เกิดรูปธรรมส่งเสริมการเกษตรในเมือง และการส่งเสริมเทคโนโลยีที่ช่วยในการผลิตและแปรรูป การแลกเปลี่ยนการตลาด จนเกิดศูนย์วิจัยที่มีฐานข้อมูลการเกษตรของเมืองกว่า 221 แห่ง เป็นการขยายโครงสร้างเครือข่ายการเกษตรกรรมและส่งเสริมสินค้าและผลิตภัณฑ์ของชุมน นอกจากนี้ยังนำความรู้ด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในการเก็บกักน้ำฝน การใช้ดินและน้ำให้คุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งเทคโนโลยีการใช้น้ำทำให้คืนสมดุลให้สภาพแวดล้อมของเมืองเรื่องมลพิษทางอากาศได้อย่างรวดเร็ว

สวนในพื้นที่สาธารณะ

นอกจากการทำสวนบนอาคารแล้ว การมีสวนในพื้นที่สาธารณะเป็นการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ที่จะช่วยให้สภาพแวดล้อมของเมืองดีขึ้น วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเมืองมีสุขภาพจิตและสุขภาพใจที่ดี ด้วยจำนวนประชากรที่ย้ายเข้ามาทำงานในเมืองกันมากขึ้น ทำให้เกิดการขยายตัวของอาคารสูงต่างๆเพื่อรองรับประชากร การมีสวนหรือต้นไม้เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนในการสูดอากาศบริสุทธิ์ เป็นปอดของเมือง ผู้เขียนมองว่าการมีสวนในเมืองเป็นการช่วยปรับสมดุล

ทั่วโลกตอนนี้ยังให้ความสำคัญกับสวนในพื้นที่สาธารณะ หากติดตามสื่อเรื่องพื้นที่สีเขียว จะเห็นว่ามีแนวความคิดที่พัฒนาพื้นที่สีเขียวมีอยู่มากมาย พยายามให้พื้นที่สีเขียวแทรกไปตามที่ต่างในตัวเมือง หรือเป็นส่วนหนึ่งกับอาคาร อย่างสหรัฐอเมริกา ในกรุงนิวยอร์กที่พยายามสร้างพื้นที่สีเขียวและสวนในเมือง อย่างโครงการ “The High Line” เป็นโครงการสวนสาธารณะ โดยใช้ทางรถไฟเดิมที่มีสภาพทรุดโทรม ปรับเปลี่ยนให้เป็นทางสีเขียว โดยปลูกพืชพันธ์ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ถือเป็นสวนลอยฟ้าที่ไหลไปตามทางของเมือง หรือแม้แต่การมีกิจกรรมร่วมกันปลูกต้นไม้ เป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของผู้คนที่ช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีอย่างง่ายที่สุด แม้แต่ประเทศไทยก็มีการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมือง ตามพื้นที่ว่างพื้นที่รกร้างให้เป็นปอดของเมืองของโครงการ “Green Bangkok 2030” เป็นโครงการที่มีแนวคิดจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนกรุงเทพ 10 ตารางเมตรต่อคน ภายในปี 2573

บทสรุป

การมีพื้นที่สีเขียวในเมืองให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง จะต้อเกิดจากความพร้อมของคนในเมือง รัฐบาล และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการร่วมมือกันพัฒนาเมืองให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์ ทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพที่ดี และสุขภาพจิตที่ดี มีธรรมชาติอยู่ท่ามกลางเมืองที่มีการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here