Lina Bo Bardi

ผลงานสถาปัตยกรรมในบราซิลที่น่าสนใจมีอยู่มากมาย แต่ผลงานสถาปัตยกรรมที่สร้างสรรค์โดยสถาปนิกหญิงอย่าง Lina Bo Bardi เรียกว่ามีความโดดเด่น และมีอิทธิพลมากในบราซิล ด้วยลักษณะงานสถาปัตยกรรมที่มีความชัดเจนของรูปทรงอาคาร และมีความเป็นสถาปัตยกรรมในยุคโมเดิร์น

Lina Bo Bardi เป็นชาวอิตาลีที่เลือกมาทำงานที่บราซิล ซึ่งในยุคนั้นสถาปนิกในบราซิลมีแต่ Lúcio Costa และ Oscar Niemeyer ที่มีอิทธิพลในงานออกแบบของบราซิล เธอตัดสินใจถูกแล้วที่มาที่นี่ เพราะภายหลังเธอได้เป็นสถาปนิกที่เปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมของบราซิล ซึ่งในชีวิตทำงานเธอเป็นคนอุทิศกับงานที่เธอทำ นอกจากงานสถาปัตยกรรมแล้ว เธอยังเป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ

Lina Bo Bardi

Lina Bo Bardi จบการศึกษาที่ the Rome College of Architecture ประเทศอิตาลี เมื่อเธออายุได้ 25 ปี เธอได้ย้ายไปอยู่มิลาน ซึ่งเป็นการเปิดโลกทัศน์สถาปัตยกรรมโมเดิร์นให้กับเธอ โดยไปเริ่มต้นทำงานกับ Gio Ponti สถาปนิกชาวอิตาลี, นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์และเป็นบรรณาธิการของนิตยสาร Domus ทำให้Lina ได้ความรู้และประสบการณ์ด้านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ งานสถาปัตยกรรม และแฟชั่น แต่พอถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นช่วงลำบากของเธอ เธอต้องหยุดอาชีพสถาปนิก และหันมาทำงานด้านนิตยสารอย่างเดียวเป็นเวลา 4 ปีจนได้เป็นรองบรรณาธิการนิตยสาร Domus และร่วมเขียนบทความให้กับนิตยสารอื่นๆ เช่น นิตยสาร L’Illustrazione Italiana และนิตยสาร Grazia

เธอเคยเขียนบทความหนึ่งที่เล่าความรู้สึกของเธอในช่วงสงครามโลกว่า “ปีนั้นมันควรจะเป็นช่วงเวลาของความสุข ได้เห็นแสงแดดและท้องฟ้าสีฟ้า แต่ฉันกลับต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในชั้นใต้ดินเพื่อเป็นที่พักและที่หลบภัยจากระเบิดและปืน” ทำให้ในตอนนั้นเธอได้เข้าร่วมต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ของอิตาลี แต่พอสงครามสิ้นสุดลง เธอได้พบกับ Pietro Maria Bardi  ทั้งคู่ตัดสินใจแต่งงานกันในปี 1946 และครั้งนั้นทำให้เธอย้ายไปอยู่บราซิลอย่างถาวร

ในปี 1946 Lina และสามีได้เดินทางท่องเที่ยวไปทวีปอเมริกาใต้ แล้วเดินทางมาถึงประเทศบราซิล พวกเขาตัดสินใจตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ แต่เส้นทางอาชีพของเธอที่นี่ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะในตอนนั้นบราซิลยังไม่มีสถาปนิกที่เป็นผู้หญิง เธอรู้สึกว่าการหางานทำที่นี่มันยากมาก แต่เธอก็พยายามแสดงจุดยืนของเธอ โดยเธอเริ่มศึกษาสังคมและวัฒนธรรมของบราซิลอย่างจริงจัง จนเธอพบว่าในบราซิลมีแหล่งที่รวบรวมผลงานศิลปะต่างๆที่ไม่ค่อยดีนัก การค้นพบของเธอทำให้เธอได้งาน โดยในระหว่างนั้นเธอกับสามีได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทที่นี่และร่วมทำนิตยสารเกี่ยวกับบ้านและการตกแต่งภายในชื่อ Habitat และอีกปีต่อมา Assis Chateaubriand (นักการเมืองที่มีอิทธิพลในบราซิล) ได้ให้เธอมาช่วยออกแบบพิพิธภัณฑ์ศิลปะของเมืองเซาเปาโลชื่อ MASP (the São Paulo Museum of Art) โดยใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 11 ปี โดยลักษณะอาคารมีจุดเด่นในเรื่องของโครงสร้างช่วงกว้าง ถ้าดูจากรูปลักษณ์ของอาคารแล้วจะรู้ว่าเธอศึกษาเรื่องสถาปัตยกรรมและโครงสร้างมาอย่างดี

Lina Bo Bardi และ Pietro Maria Bardi
พิพิธภัณฑ์ MASP

the São Paulo Museum of Art (MASP)

อาคาร MASP จากมุมสูง



               เมื่อ Lina ได้รับมอบหมายให้ออกแบบพิพิธภัณฑ์ MASP รัฐบาลได้บอกกับเธอว่า โครงการนี้จะเป็นโครงการที่เป็นพื้นรวบรวมผลงานศิลปะและพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชน ด้วยที่ตั้งโครงการตั้งอยู่ในย่านพอลลิส อเวนิว(Paulista Avenue) ที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เธอจึงมีความคิดว่าให้โครงการเป็นตัวสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและเมือง โดยเธอได้ออกแบบพิพิธภัณฑ์ให้มีลักษณะเหมือนกล่องกระจกขนาดใหญ่ที่ถูกพาดด้วยแท่งคอนกรีตสีแดง ทำให้อาคารขนาดใหญ่นี้ให้ถูกยกขึ้นไปข้างบน เกิดพื้นที่ว่างใต้อาคารที่เชื่อมโยงระหว่างพิพิธภัณฑ์และพื้นที่ของเมือง

ความงามของอาคารจึงเป็นความงามที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ทางโครงสร้างวิศวกรรม ตัวอาคารมีภาษาในตัวเอง และผู้ที่อยู่เบื้องหลังงานวิศวกรรมนั่นคือ José Carlos Figueiredo Ferraz วิศวกรโครงสร้างที่ช่วยเหลือ Lina ตลอดทั้งโครงการ ด้วยลักษณะความยาวของอาคารประมาณ 75 เมตรที่อยู่เหนือพื้นดินขึ้นมาประมาณ 8 เมตร จึงต้องใช้โครงสร้างช่วงกว้างในการออกแบบ โดยเสาและคานที่ใช้จึงมีขนาดใหญ่มาก(โครงสร้างสีแดง) ประกอบด้วยเสา 4 เสาขนาด 4 x 2.5 เมตร และคาน 2 คานที่เป็นตัวสนับสนุนเสาไว้

อาคารที่สร้างความสัมพันธ์ให้กับเมือง
การใช้พื้นที่ใต้อาคารพิพิธภัณฑ์
(ภาพโดย http://www.cabinetmagazine.org/)

การเชื่อต่อของโครงสร้างในลักษณะนี้ ทำให้เกิดโครงสร้างที่เรียกว่า โครงสร้างความตึง (Tension Structure) เป็นการพัฒนาสถาปัตยกรรมแบบ Brutalist (สถาปัตยกรรมคอนกรีต) ในยุคโมเดิร์นให้ก้าวหน้าขึ้น โดยเธอบอกว่า เธอได้แรงบันดาลใจมาจากงานสถาปัตยกรรมอิตาลีอย่าง Pinacoteca di Brera ที่เป็นหอศิลป์ที่ใช้แสดงงานศิลปะสาธาณะ ทำให้เธอคิดว่าพื้นที่จัดนิทรรศการของอาคารพิพิธภัณฑ์ MASP ควรปราศจากผนัง เพื่อให้เกิดพื้นที่เปิดมากขึ้นทั้งพื้นที่ภายในและภายนอก ฉะนั้นพื้นที่ด้านใต้ของอาคารจึงมีลักษณะเหมือนใต้ถุนที่สามารถใช้ทำกิจกรรมต่างๆได้

อาคารแห่งนี้จึงมีความเป็นอิสระ และทำให้ศิลปะเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของเมืองและประชาชน Lina ได้ออกแบบให้อาคารมีความยืดหยุ่นในการจัดนิทรรศการทั้งพื้นที่ภายในและภายนอก

ลักษณะสถาปัตยกรรม Brutalist
Pinacoteca di Brera
ด้านข้างของพิพิธภัณฑ์
ลักษณะการจัดแกลอรีในปี 1957- 1968
ที่มีความอิสระในการจัดวาง
พื้นที่ภายในพิพิธภัณฑ์
พื้นที่ภายในพิพิธภัณฑ์

อาคาร MASP เป็นเครื่องที่พิสูจน์ถึงศักยภาพของสถาปนิกที่ช่วยส่งเสริมและรับผิดชอบสังคมผ่านงานออกแบบ อาคารหลังนี้จึงเป็นตัวอย่างอาคารที่พยายามปรับปรุงรูปแบบสถาปัตยกรรมในยุคโมเดิร์นที่มีควาามสัมพันธ์กับเมือง และมีความสัมพันธ์กันระหว่างการเมืองและศิลปะ ซึ่งปัจจุบันอาคาร MASP ได้เป็นสัญลักษณ์และรูปแบบสถาปัตยกรรมของบราซิล

The Glass House

The Glass House



               ในชานเมืองเซาเปาโลในเขต Morumbi มีงานสถาปัตยกรรมที่น่าศึกษาอีกงานหนึ่ง นั่นคือ The Glass House เป็นงานที่ Lina Bo Bardi ออกแบบและสร้างเสร็จในปี 1951 เพื่อเป็นบ้านที่เธอไว้พักอาศัยกับสามี โดยถ้าดูจากลักษณะบ้านจะเป็นอาคารที่มีความเรียบง่ายอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ตัวอาคารเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก มีเสากลมขนาดเล็กและบางที่ยกระดับอาคารขึ้นไป โดยมีบันไดเหล็กเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างทางเดินไปสู่บ้านพัก

ด้วยที่ตั้งอาคารอยู่บริเวณเนินเขา มีบริบทรอบๆเป็นป่า ทำให้เธอออกแบบบ้านที่มีกรอบอาคารเป็นกระจก ทำให้สามารถมองเห็นพืชพรรณได้โดยรอบ ซึ่ง Lina ออกแบบให้พื้นที่ใช้สอยของบ้านทั้งหมดถูกยกขึ้นเหนือพื้นดิน ทำให้พื้นที่ชั้นล่างดูไหลและต่อเนื่องไปกับบริบท ทั้งตั้นไม้ ทางเดิน และตัวสถาปัตยกรรม

The Glass House
The Glass House

Lina ได้ออกแบบให้บ้านพักเป็นกล่องที่ถูกยกขึ้น แฝงตัวไปกับพืชพรรณและต้นไม้ ซึ่งเธอบอกว่า มันคือ “เรือนกระจกในเขตร้อนชื้น” ด้วยความหนาแน่นของต้นไม้นี่เอง เมื่อมองจากถนนอาจมองไม่เห็นตัวบ้าน แต่ Lina ได้ท้าทายธรรมชาติด้วยการใช้สีขาวของเหล็กและกระจกตัดกับสีเขียวชอุ่มของป่าไม้ มันเป็นความขัดแย้งที่เห็นได้ชัดเจน  เธอได้ศึกษางานของ Le Corbusier และได้แรงบันดาลใจจาก Mies van der Rohe โดยเฉพาะอย่างยิ่งผนังกระจกและงานตกแต่งภายใน

งานตกแต่งภายใน Lina ตั้งใจให้มีเสาน้อยที่สุด เหมือนงาน Barcelona Pavilion ของมีส ฟาน เดอร์ โรห์ โดยมีการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ให้มีความยืดหยุ่น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเธอมีของสะสมที่เป็นงานศิลปะมากมาย แล้วนำมาจัดวางเหมือนแกลอรีเล็กๆ นอกจากนี้เธอได้เลือกใช้สีของเฟอร์นิเจอร์ที่ดูกลมกลืนกับสีวัสดุอาคาร เพื่อให้พื้นที่ปูด้วยกระเบื้องโมเสคสีฟ้าได้สะท้อนแสงออกมา ที่สำคัญอิทธิพลในงานของ Le Corbusier และมีส ฟาน เดอร์ โรห์ เป็นแรงบันดาลใจในการวาดภาพของเธออีกด้วย

บันไดทางเข้า

เนื่องจากที่ตั้งอยู่บนเนินเขาที่ลาดชัน ฉะนั้นการวางผังจะต้องยกตัวอาคารขึ้นไปโดยให้มีความลาดเอียงเล็กน้อย ผังชั้นแรกมีการออกแบบลาน (courtyard) ที่จัดสวนไว้อยู่ข้างๆบันได ซึ่งพอขึ้นบันไดมาถึงชั้นสองที่เป็นส่วนของที่พักอาศัย เราจะเห็นพืชพรรณที่ไม่เห็นรากต้นไม้ตามผนังกระจกที่ดูเหมือนภาพจิตรกรรมจากธรรมชาติ ถัดมาอีกด้านหนึ่ง Lina ออกแบบพื้นที่ที่มีลาน (courtyard) ที่ยาวและแคบเพื่อให้แสงธรรมชาติเข้ามายังตัวอาคารที่เป็นพื้นที่ห้องนอน แล้วออกแบบให้ผนังส่วนนี้เป็นผนังทึบ โดยเฉพาะผนังด้านหลังที่ยาวลงไปถึงชั้นล่าง เธอออกแบบให้เป็นผนังรับน้ำหนักแทนเสาคำ้ยัน ซึ่ง The Glass House ในปัจจุบันใช้เป็นพื้นที่จัดนิทรรศการที่ไว้ศึกษางานสถาปัตยกรรมและรวบรวมผลงานของเธอ

Site Plan
ภาพสเก็ตช์ The Glass House
The Glass House
นิทรรศการ


Furniture and Drawing

นอกจากงานสถาปัตยกรรมแล้ว Lina ยังเป็นศิลปินและนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งผลงานการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่รู้จักมากสุดคือ Bowl Chair เป็นเก้าอี้ทรงกลมคล้ายกับถ้วยชามขนาดใหญ่ เธอออกแบบ Bowl Chair หลังจากที่ออกแบบบ้านของเธอเอง (The Glass House)

Bowl Chair เป็นเก้าอี้ที่มีรูปทรงที่เรียบง่าย อิสระ สามารถเคลื่อนย้ายได้ ซึ่ง Lina ได้ออกแบบให้ตัว Bowl Chair มีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นเบาะเก้าอี้ และส่วนที่เป็นโครงเหล็ก และด้วยความยืดหยุ่น ถอดประกอบได้ง่ายนี้เอง จึงทำให้เก้าอี้ทรงกลมเหมือนถ้วยได้รับความนิยมมาก และใช้มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผลงานของเธอยังได้นำไปจัดนิทรรศการ “Lina Bo Bardi Together” ในปี 2014 ที่สำคัญเธอได้ผลิตเก้าอี้จำนวน 500 ตัว ที่หุ้มด้วยหนังสีดำ แล้วนำรายได้ทั้งหมดไปสร้าง Lina Bo and P.M. Bardi Institute

Drawing
Drawing
เฟอร์นิเจอร์ Bowl Chair
ภาพ sketch เก้าอี้ในปี 1950
Bowl Chair
Bowl Chair หนังสีดำ

ทั้งชีวิตของ Linda Bo Bardi เธอได้อุทิศการทำงานให้กับบราซิลในการสร้างผลงาน และวัฒนธรรมให้กับบราซิล แม้ผลงานเธออาจจะมีไม่มาก แต่ผลงานของเธอได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษามาถึงปัจจุบัน

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here