Plastic Innovation รีไซเคิลพลาสติกให้เป็นวัสดุก่อสร้าง

จำนวนพลาสติกบนโลกในปัจจุบันมีการผลิตและถูกใช้เป็นจำนวนมาก และถูกปล่อยทิ้งเพื่อรอการย่อยสลายซึ่งต้องใช้เวลาเป็นร้อยๆปี  ในปัจจุบันมีหลายหน่วยงานกำลังแก้ปัญหาเรื่องของพลาสติกให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง จะเห็นว่ากลุ่มนักรณรงค์ นักวิทยาศาสตร์ นักออกแบบ และกลุ่มองค์กรไม่แสวงผลกำไรได้พยายามคิดค้นการแปรสภาพพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วให้เป็นสินค้าหรือนวัตกรรมที่ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

ในบทความนี้ จะเล่าถึงการนำพลาสติกมาพัฒนาเป็นวัสดุการก่อสร้าง เป็นอาคาร สามารถนำพลาสติกพัฒนารูปแบบสถาปัตยกรรมที่นำไปสู่การเกิดสิ่งใหม่ ทำให้เกิดความยั่งยืนให้กับโลกได้ในอนาคต

อิฐพลาสติก (Precious Plastic)

อิฐพลาสติก (Precious Plastic)
อิฐพลาสติก (Precious Plastic)

วัสดุพลาสติกที่นำมาใช้กับงานสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างอาคาร เป็นการทดลองว่าพลาสติกมีความสามารถในการเป็นวัสดุหุ้มอาคาร มีความคงทนแข็งแรง เราจะเห็นในต่างประเทศนำพลาสติกมาทำเป็น façade เป็นเปลือกหุ้มอาคาร ที่มีการนำมารีไซเคิล แปรสภาพและแปรรูปให้ต่างจากรูปเดิม

พลาสติกสามารถนำแปรรูปเป็นอิฐเพื่อการก่อสร้าง โดยนำพลาสติกจากกล่องนม ขวดพลาสติก ฝาขวด กล่องพลาสติกบรรจุอาหาร นำไปหลอมด้วยความร้อนกว่า 250 องศาเซลเซียส แล้วอัดขึ้นรูปคล้ายกับอิฐทั่วๆไป จากนั้นสามารถฉาปปูนได้ปกติ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาอิฐพลาสติกให้มีลักษณะเหมือนตัวต่อเลโก้ เพื่อให้คนทั่วไปสามารถก่อสร้างอาคารได้อย่างรวดเร็ว เหมาะกับการก่อสร้างอาคารที่อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติ เป็นอาคารชั่วคราว หรือเป็นอาคารที่มีงบไม่สูงนัก

The Ocean Cleanup เป็นองค์กรที่พยายามเก็บพลาสติกที่ถูกปล่อยทิ้งในมหาสมุทร นำมาพัฒนาสิ่งที่เป็นประโยชน์กับมนุษย์ นั่นคือนำมาเป็นวัสดุก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยแก่ผู้คนไร้บ้าน ทำให้คนมีที่พักอาศัย และเป็นการคืนสมดุลให้กับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

อิฐ Precious Plastic หรืออิฐเลโก้ เป็นอิฐพลาสติกที่นำขยะพลาสติกกว่า 2 กิโลกรัมมาอัดขึ้นรูป ใช้เวลาเพียง 4 นาทีด้วยความร้อน แม้ว่าอิฐเลโก้จะไม่สามารถรับน้ำได้เท่าอิฐทั่วไป แต่มันสามารถเป็นเหมือนฉนวนกันความร้อนและกันความร้อนได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันอิฐ Precious Plastic ถูกนำมาใช้ในการก่อสร้างที่พักอาศัยของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมในยุโรป ใช้ก่อสร้างในหมู่บ้านที่มีภัยพิบัติบ่อยครั้ง หรือมีแผ่นดินไหว อย่างประเทศโคลัมเบียที่มีการนำอิฐเลโก้ชนิดนี้มาก่อสร้างบ้านที่มีความเสี่ยงในเรื่องภัยพิบัติ มาตั้งแต่ปี 2014 อิฐชนิดนี้ทำให้ชาวบ้านลงมือก่อสร้างกันเองได้ในเวลาที่กระชับ มันเป็นการแก้ปัญหาให้กับคนไร้บ้านเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมันยังมีราคาถูกและไม่สร้างมลพิษและสิ่งแวดล้อม

การก่อสร้างบ้านด้วยอิฐ Precious Plastic ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 5 วัน อาคารที่เกิดขึ้นมีความเรียบง่ายสวยงามไม่ต่างจากบ้านที่ก่อสร้างด้วยการก่ออิฐฉาบปูนทั่วไป ที่สำคัญเคลื่อนย้ายง่าย ติดตั้งง่าย และคงทนอีกด้วย

เปลือกหุ้มอาคารจากพลาสติก (Shelter Plastic)

การสร้างเปลือกหุ้มอาคาร หรือ Façade ที่ทำมาจากพลาสติก หรือนำมาทำเป็นศาลากลางแจ้งชั่วคราว ซึ่งพลาสติกเป็นวัสดุที่สามารถกันความร้อน กันเสียงได้ ที่สำคัญมีน้ำหนักเบา การนำพลาสติกมาทำเปลือกหุ้มอาคาร ศาลากลางแจ้ง หรือ Pavilion ดูเป็นเรื่องที่น่าศึกษาในการหาทางเลือกวัสดุก่อสร้างทางเลือกที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ศาลากลางแจ้งที่ทำจากแผ่นบล๊อกพลาสติกกลวง
ออกแบบโดย BIG Architect (ภาพจาก : dezeen.com)

ในหลายๆประเทศของวงการออกแบบ ได้พยายามนำพลาสติก มาสร้างสรรค์ผลงานเป็นงาน installation art เป็นงานศิลปกรรม และพื้นที่พักชั่วคราว อย่างบริษัทสถาปนิก BIG จากเดนมาร์ก เคยนำเสนอการออกแบบพาวิลเลี่ยนจากพลาสติกที่ Serpentine Gallery โดยนำบล็อกพลาสติกนำมาต่อเรียงขึ้นไปให้มีลักษณะบิดโค้งเป็นภูเขาสูง ที่มีโพรงกว้างที่คนสามารถเข้าไปยังพื้นที่ด้านในได้ การจัดเรียงบล็อกพลาสติกกลวงของ BIG แบบสลับไปมาทำให้เกิดรูปด้านของศาลาที่น่าสนใจ ให้ความรู้สึกว่ามีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา และสามารถเป็นที่นั่งให้กับคนที่เข้ามาชมศาลาได้

นอกจากนี้ที่อเมริกามีการพัฒนาวัสดุพลาสติกรีไซเคิลให้เป็นศาลาที่มีลักษณะเหมือนการพับกระดาษ origami เป็นงานทดลองของกลุ่มนักศึกษา พัฒนาโครงสร้างมาจากการถอดรูปแบบฟองน้ำ ฟองสบู่ และแพทเทิร์นคริสตัล มีลักษณะบิดและโค้งงอได้คล้ายกับการพับกระดาษ เกิดนวัตกรรมโครงสร้างที่มีน้ำหนักเบา มีความสวยงาม และปรับเปลี่ยนได้

แม้แต่แบรนด์โคคา โคล่าในประเทศจีน ให้ความสำคัญกับการนำขวดพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ โดยรวบรวมขวดพลาสติกโคคา โคล่าเกือบสองหมื่นขวดมาทำเป็นศาลาที่มีลักษณะเป็น Arch โค้งขนาดใหญ่ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ให้ประชาชนได้เห็นพลาสติกมีมากขึ้นหากไม่ถูกนำกลับมาใช้ จะส่งผลในแง่ร้ายกับสิ่งแวดล้อมในหลายๆด้าน

งานสถาปัตยกรรม (Architecture)

ในงานสถาปัตยกรรม ได้มีการพัฒนาวัสดุจากขยะพลาสติก มาเป็นส่วนประกอบในงานสถาปัตยกรรม เป็นวัสดุโปร่งแสง มีความสวยงาม ทำให้งานสถาปัตยกรรมที่ต้องการเล่นแสงไฟ หรือต้องการแสงธรรมชาติและดูดความร้อนได้บางส่วน เป็นวัสดุที่ถูกนำมาใช้มาก คือ “polycarbonate plastic” เป็นพลาสติกที่มีทั้งแบบโปร่งแสงและโปร่งใส มีน้ำหนักเบา

The Nelson-Atkins Museum of Art

Polycarbonate plastic ตัวอย่างที่ชัดๆคืองานของ Steven Holl คืองาน  The Nelson-Atkins Museum of Art ที่ตัวสถาปัตยกรรมมีแนวคิดในการทำให้อาคารดูโปร่ง สว่างไสว หมายความว่า ในตอนกลางวันภายในอาคารจะได้รับแสงสว่างจากแสงธรรมชาติที่ส่องมายังด้านในผ่านวัสดุพลาสติก และในตอนกลางคืนแสงไฟจากอาคารด้านในจะส่องส่างออกมายังพื้นที่ด้านนอก จึงทำให้อาคารเห็นการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลาของวัน

Sint-Oelbert Gymnasium School

นอกจากนี้ ที่เนเธอร์แลนด์ยังมีการนำเศษพีวีซีมารีไซเคิลเป็นกระเบื้องสำหรับใช้ก่อสร้างอาคาร เป็นอาคารถาวรที่เกิดจากวัสดุพลาสติกรีไซเคิลได้สำเร็จ อาคารที่เกิดเป็นรูปธรรมคือ โรงเรียนสอนดนตรี Sint-Oelbert Gymnasium School ตัวอาคารมีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมสีดำ ที่เกิดจากการที่เกิดจากการบุกระเบื้องจากพลาสติกรีไซเคิลรูปสีเหลี่ยมข้าวหลามตัดเรียงซ้อนกันทั้งอาคารทั้งสีด้าน

อาคารแห่งนี้เป็นอาคารนวัตกรรมที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม สำหรับผู้ที่สนใจวัสดุก่อสร้างที่เกิดจากการแปรรูปเศษพลาสติก ซึ่งกลุ่มนักออกแบบและสถาปนิกของยุโรปมองว่าการนำพลาสติกมาพัฒนาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง พวกเขาพยายามรวบรวมพลาสติกเพื่อใช้ผลิตวัสดุก่อสร้างต่อไป

บทสรุป

การพัฒนานวัตกรรมวัสดุเพื่อที่พักอาศัยจากการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง เป็นการสร้างคุณค่าในการช่วยสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศให้ดีขึ้น และทำให้เกิดและทำให้เกิดการช่วยเหลือผู้ไร้บ้านได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในอนาคตโลกจะมีการนำพลาสติกมาใช้ได้อย่างถูกต้องและเข้าใจมากขึ้น

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here