PODCAST - เล่าประสบการณ์จากการเรียนในโรงเรียนสถาปัตย์_wonderfularch.com
PODCAST – เล่าประสบการณ์จากการเรียนในโรงเรียนสถาปัตย์

บทความนี้ เป็น PODCAST เรื่องแรก ที่มาเล่าเรื่องประสบการณ์จากการที่ผู้เขียนเคยเรียนอยู่ในคณะสถาปัตย์ ตั้งแต่ปี 1 จนถึงปี 5 ว่าในการเรียนด้านสถาปัตยกรรม ได้ประสบการณ์ กระบวนการคิด การเรียนรู้ต่าง ๆ เป็นแง่คิดให้กับคนที่สนใจอยากทราบว่า คณะสถาปัตย์เขาสอนอะไร และเราได้เรียนรู้และรับประสบการณ์รูปแบบใด

แนะนำตัว

สวัสดีค่ะ ผู้เขียนชื่อ ใบพลู เป็นคนที่เขียนบทความเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและงานศิลปะมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผู้เขียนหยุดๆเขียนๆบทความ เนื่องจากภาระงานส่วนตัว และปรึกษากับเพื่อนที่ทำงานเกี่ยวกับเว็บไซต์ เพื่อนแนะนำเราว่า ให้เลิกทำบล็อก แล้วพัฒนาเป็นเว็บไซต์ดีกว่า

แต่เรื่องราวที่เราจะเราให้ฟังครั้งนี้ เป็นบทความเสียงเรื่องแรกที่จะเล่าให้กับผู้ที่อ่านบทความเว็บไซต์ wonderfularch.com เป็นประสบการณ์ที่เราได้จากการเรียนคณะสถาปัตย์ แล้วจุดเริ่มต้นในการทำเว็บไซต์คืออะไรค่ะ

การตัดสินใจเรียนสถาปัตย์

ผู้เขียนตัดสินเรียนคณะสถาปัตย์จากแม่ของผู้เขียนเอง คือ ตอนม.ปลาย ความจริงแล้วผู้เขียนอยากเรียนเกี่ยวกับกราฟิก หรือไม่ก็เป็นแฟชั่น แต่ยังไม่รู้ความต้องการของตัวเองจริง ๆ แต่รู้ว่าตัวเองชอบวาดภาพ ชอบฟิสิกส์ และชอบโมเดลบ้าน จนไปปรึกษาแม่ แม่บอกว่าเราต้องเรียนสถาปัตย์

สารภาพตามตรง ตอนนั้นไม่รู้จริงๆว่า สถาปัตย์เขาเรียนอะไร จบมาทำงานอะไร เลยปรึกษากับแม่ และค้นหาคำตอบเองตามเว็บไซต์ต่าง ๆ เลยทราบว่า คณะสถาปัตย์เรียนเกี่ยวกับการออกแบบอาคาร จบมาสอบใบประกอบวิชาชีพเพื่อเป็นสถาปนิก จากนั้นผู้เขียนลองหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะสถาปัตย์ว่าต้องเรียนรู้อะไรบ้าง และดูข้อมูลเกี่ยวกับสถาปนิกตามเว็บไซต์ต่างๆ

ในตอนนั้นผู้เขียนอายุ 16 ย่าง 17 ยังสับสนว่าสรุปแล้วฉันจะเรียนคณะอะไรดี คุณอาจจะประหลาดใจว่า ผู้เขียนไม่รู้จักคณะสถาปัตย์จริงๆเหรอ มันคือเรื่องจริง เนื่องจากพื้นฐานครอบครัวไม่มีใครอยู่ในวงการนี้เลย และไม่มีใครพูดถึงอาชีพนี้ด้วย พ่อเป็นหมอ แม่เป็นพยาบาล ผู้เขียนจะถูกกล่อมมาตั้งแต่เด็กว่า โตขึ้นต้องเป็นหมอเหมือนพ่อแม่ ไม่ก็เป็นนักวิทยาศาสตร์

ผู้เขียนเชื่อคำพูดของแม่ และพ่อที่บอกเราว่า ควรเลือกอาชีพที่เป็นวิชาชีพ เพราะเป็นวิชาติดตัว และไม่มีใครแย่งงานเราได้ อีกอย่างพ่อมักจะบอกผู้เขียนว่า ให้ทำงานเกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 เพราะมนุษย์ต้องการปัจจัย 4 แทบทุกวัน นั่นคือ อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโลก และที่พักอาศัย (ปัจจุบันคิดว่าน่าจะเป็นปัจจัยที่ 5แล้ว คือ เทคโนโลยี) ฉะนั้นเรียนสถาปัตย์มีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่ ไม่อดตายแน่ๆ

เมื่อคิดไปมาหลายครั้ง ผู้เขียนตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่า จะเช้าคณะสถาปัตย์ และพยายามเข้าใจคณะนี้ว่าต้องเรียนรู้อะไรบ้าง ส่องเว็บไปเรื่อยๆ จนมีบทความหนึ่งเขียนเกี่ยวกับสถาปนิกหญิง Zaha Hadid เป็นสถาปนิกหญิงที่มีงานออกแบบที่หวือหวา ดูเหมือนในโลกอนาคต ทำให้ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้น และอยากรู้ว่าสถาปัตย์ทำอะไรได้บ้าง

จนกระทั่งใกล้ถึงเวลาที่จะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผู้เขียนสอบไม่ติด ทำให้ผู้เขียนเข้าเรียนคณะสถาปัตย์ในมหาวิทยาลัยเอกชนย่านบางเขน เป็นสถานที่ที่ทำให้ผู้เขียนพบแรงบันดาลใจจากการเรียนตลอดระยะเวลา 5 ปี

เกรด D เปลี่ยนชีวิต

ตอนเรียนอยู่ปี 1 ผู้เขียนยังไม่เข้าใจเรื่องสถาปัตยกรรมมากนัก โดยเฉพาะวิชาเขียนแบบโครงสร้าง ไม่รู้เรื่องเลย อุปกรณืเขียนแบบ การเขียนแบบ เรียนแบบงงๆ ลอกเพื่อนบ้าง จนท้อแท้ไปเลย แม้กระทั่งวิชาดีไซน์ หรือวิชาออกแบบ ผู้เขียนต้องเหมือนเริ่มต้นใหม่หมด แม้ใจเริ่มท้อแท้แต่กัดฟันสู้ต่อ

พอผลสอบเทอมแรกออกมา ผู้เขียนได้เกรด D ในวิชาเขียนแบบโครงสร้าง ทำให้ผู้เขียนรู้ตั้งแต่เทอมแรกว่า ไม่ได้เกียรตินิยมแล้ว (กฎของมหาลัยคือ คนได้เกียรตินิยมห้ามได้เกรด D และ F) แต่ทว่าผู้เขียนมีเส้นทางให้เลือกอยู่ 2 ทาง คือ สู้ต่อ กับ เลิกเรียนออกมาค้าขาย ด้วยความที่พ่อของผู้เขียนไม่ชอบการเรียนๆเลิกๆ เรียนแล้วซิ่ว พ่อจึงบอกว่ามี2ตัวเลือก จะเลือกไปทางไหน แต่ในตอนนั้นผู้เขียนเลือกกัดฟันเรียนต่อ เพราะคิดเอาเองว่า เราไม่รู้จะออกไปขายอะไร แต่ถ้าเรียน อย่างน้อยก็ยังมีความรู้ติดตัว และโอกาสก้าวหน้าน่าจะมีมากกว่า ผู้เขียนจึงบอกพ่อว่า ขอสู้ต่อจนเรียนจบปี 5

หลังที่เอ่ยปากออกไปแล้ว ผู้เขียนคิดว่า เราต้องเก่งขึ้น มีความรู้มากขึ้น และเข้าใจศาสตร์สถาปัตยกรรม ทำให้ผู้เขียนทำให้ผู้เขียนเริ่มเข้าห้องสมุด ซึ่งห้องสมุดที่มหาลัยค่อนข้างใหญ่ เป็นตึกที่สร้างใหม่มีหลายชั้น หนังสือสถาปัตย์จะอยู่ที่ชั้น 4 ซึ่งเพื่อนพาผู้เขียนไปห้องสมุด โดยบอกเพื่อนว่าอยากอ่านหนังสือ จากนั้นผู้เขียนรู้สึกว่า อยากมาอ่านหนังสือทุกวัน กลับบ้านฝึกเขียนแบบ เช้าไปเรียน พักกลางวันเข้าห้องมุด อ่านหนังสือ บ่ายเรียน ตกเย็นกลับบ้าน และทำงานดีไซน์ วันหยุดฝึกเขียนแบบ อ่านหนังสือ วนไปเรื่อย ๆ

กลายเป็นว่ากิจกวัตรหลังจากนี้ มันเป็นนิสัยประจำตัวของผู้เขียนไปโดยปริยาย คือ ต้องอ่านหนังสือ ต่อให้เรามีงานยุ่งมากเท่าไหร่เราจะต้องหาเวลาอ่านหนังสือ หาแรงบันดาลใจ เพื่อทำให้เรามีความรู้สึกมีกำลังใจในด้านความคิดสร้างสรรค์ หลังจากอ่านหนังสือทุกๆวันที่ห้องสมุด ทำให้ผู้เขียนได้รู้จักสถาปนิกที่มีชื่อเสียงมากมาย

ทำให้ผู้เขียนรู้สึกสนใจศาสตร์สถาปัตยกรรมมากขึ้น ซึ่งผู้เขียนพยายามที่จะศึกษาแนวคิด การทำงานของสถาปนิกทั่วโลก แล้วนำไปประยุกต์ปรับใช้กับตัวเอง แต่ความจริงคือ ผู้เขียนพยายามหาแรงจูงใจ สิ่งยึดเหนี่ยวที่ทำให้ตัวเองสามารถเรียนต่อจนจบได้ และไม่อยากให้พ่อผิดหวังในตัวเรา

คุณเชื่อมั๊ย พอเราอ่านหนังสือบ่อยๆ เราจะมีความรู้สึกว่าอยากเขียนหนังสือ ผู้เขียนรู้สึกอยากเขียนหนังสือ แต่ก็ไม่เคยเขียนบทความอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แค่รู้สึกลึกๆว่าอยากเขียนอะไรสักอย่าง

เวลาผ่านไป จนผลสอบปีหนึ่ง เทอมสองออกมา เกรดของผู้เขียนดีขึ้นจากเทอมแรก วิชาเขียนแบบจากที่ได้ D ขึ้นมาเป็น B+ แม้ไม่ได้ A แต่ทำให้ผู้เขียนภูมิใจ และคิดว่าเราน่าจะเรียนคณะสถาปัตย์ต่อไปได้

ตอนสมัยเรียน ผู้เขียนมีไอดอลสถาปนิกคือ Rem Koolhaas เพราะเขาไม่เพียงแต่เป็นสถาปนิก แต่เขียนหนังสือด้วย เราเลยหาข้อมูลและอ่านบทสัมภาษณ์ของ Rem ในเรื่องวิธีคิด และการทำงานว่าเป็นอย่างไร ผู้เขียนถึงขั้นที่ว่า บทความในหนังสือหน้าไหนน่าสนใจ จะถ่ายเอกสารเก็บไว้ เพื่อไว้อ่านซ้ำๆ

ส่วนเรื่องการเรียนที่คณะสถาปัตย์ ผู้เขียนมีหลายอารมณ์มากกับการเรียนคณะนี้ เพราะเราต้องมุ่งมานะในการทำงานออกแบบ (เป็นวิชาที่งานหนักที่สุดแล้ว) การต่อสู้กับความคิด ความรู้ในการออกแบบโปรเจคแต่ละชิ้นให้สำเร็จ การส่งงานตรงเวลา การมีวินัยกับตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการเรียนสถาปัตย์

ตอนสมัยเรียนช่วงปีแรกๆ ยอมรับว่าผู้เขียนไม่ใช่คนเก่ง แต่พยายามพัฒนาความสามารถของตนเอง ซึ่งสิ่งที่ได้จากสถาปัตย์และจากอาจารย์ที่คณะ ทำให้ผู้เขียนกลับมาครุ่นคิดอยู่เสมอ

อาจารย์ที่ปรึกษาเคยบอกผู้เขียนว่า ตัวผู้เขียนเองต่อไปต้องทำงานมากกว่า 1 อย่าง ไม่ได้ทำอาชีพสถาปนิกเพียงอย่างเดียว ต้องทำอาชีพอีกอย่างคู่กับสถาปนิก ตอนนั้นผู้เขียนไม่ได้เชื่อ แล้วมองว่าเป็นเรื่องตลกมาก เพราะตอนนั้นเราคิดว่า เรามีอาชีพเดียวนั่นแหละ แล้วบุคลิคภายนอกของผู้เขียนไม่ได้ดูแอกทีฟ เป็นคนเฉยๆ เฉื่อยๆหน่อย

พอขึ้นปี 2 ผู้เขียนรู้สึกว่าต้องต่อสู้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะวิชาดีไซน์ ตอนนั้นผู้เขียนรู้สึกตัวเองไม่เก่งเลย ไม่รู้วิธีการนำเสนองานที่ดีเป็นอย่างไร การพูด การนำเสนอแนวคิด ความรู้ด้านสถาปัตยกรรม การจัดเพลสงาน เรียกว่าต้องเรียนรู้ใหม่ บางทีผู้เขียนต้องลองไปฟังการนำเสนองานของเพื่อนที่เก่งๆ ดูจากหนังสือ บ้าง ดูจากคลิปวิดีโอต่างประเทศบ้าง ในการนำเสนอแบบสถาปัตยกรรม และทำให้ตัวเองมีแรงบันดาลใจที่ดี

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนที่ผู้เขียนกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ได้คุยกับพ่อ พ่อได้พูดเปรยๆว่า อยากเขียนบทความเกี่ยวกับแพทย์ การรักษาโรคให้คนอ่าน แล้วน้าสาวผู้เขียนบอกว่าลองเปิดบล็อกแล้วเขียนบทความให้คนอ่านดูสิ ในตอนนั้นผู้เขียนได้แต่นั่งฟังอยู่เงียบๆ แต่คิดในใจว่า อยากทำบ้างจังเลย

จุดเริ่มต้นของ wonderfularch.com

ช่วงปลายปี 2554 เป็นเหตุการณ์น้ำท่วม ตอนนั้นผู้เขียนอยู่ในช่วงปิดเทอมปี 2 เทอมหนึ่ง ปกติจะปิดเทอมเพียงเดือนเดียว แต่พอน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้ผู้เขียนต้องปิดเทอมยาวถึงสิ้นปี (ตุลาคม – ธันวาคม) ผู้เขียนกลับบ้านต่างจังหวัด อยู่กับพ่อแม่ ไม่ได้มีอะไรทำมากมาย

ตอนนั้นผู้เขียนได้นำคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คกลับมาบ้านด้วย แถมเราอยู่บ้านเฉยๆมาหนึ่งเดือนแล้ว แล้วผู้เขียนก็นึกถึงไอเดียอยากเขียนหนังสือทางออนไลน์ที่พ่อเคยพูด ทำให้ผู้เขียนเปิดโน๊ตบุ๊ค ทำการเปิดบล็อก โดยใช้บล็อกฟรีของ BlogSpot เพื่อเป็นการทดลองเขียนบทความของตนเอง

ตอนเริ่มเปิดบล็อก เป็นช่วงเวลาประมาณห้าโมงเย็นของวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 พอทำการเปิดบล็อก ต้องมีการตั้งชื่อก่อน ในตอนนั้นผู้เขียนรู้ว่าอยากเขียนบทความเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นความชอบส่วนตัวที่จะศึกษาด้านนี้ แต่เราคิดว่าจะใช้ชื่ออะไรดี

ด้วยความที่เราเป็นคนค่อนข้างขี้อาย จึงคิดเอาเองว่า ตั้งชื่อด้วยความตรงไปตรงมา ชัดเจนไปเลย ใช้ชื่อว่า “Wonderful Architecture” เป็นชื่อที่ดูธรรมดา ดูง่าย และชัดเจนว่าเป็นบล็อกที่เน้นบทความสถาปัตยกรรมที่ดี ในระยะแรก ผู้เขียนยังไม่กล้าที่จะเขียนความคิดของตัวเองลงไป เลยเขียนบทความแปลจากเว็บต่างประเทศ และเขียนประวัติสถาปนิกสำคัญๆ จนผู้เขียนเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น เริ่มเขียนบทความเองจากการอ่านหนังสือ ค้นคว้าหาข้อมูล แล้วสรุปเป็นบทความที่ใช้ภาษาของตนเอง

บทความที่มีเสียงตอบรับดี คือ “10 สิ่งที่โรงเรียนสถาปัตยกรรมไม่ได้สอน” เป็นบทความที่ผู้เขียนแปลมาเว็บ Archdaily หลังจากที่ผู้เขียนโพสลงไป มันถูกแชร์ไปมากมาย ทำให้ผู้เขียนอยากพัฒนาบล็อกนี้ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งในขณะนั้นผู้เขียนยังไม่คิดจะทำเว็บไซต์ เพียงแต่เขียนบล็อกแบบนี้ไปก่อน และไม่มีสื่อโซเชียลมีเดียใดๆเลย นอกจากบล็อกนี้เพียงอันเดียวเท่านั้น

ผู้เขียนมองว่า บล็อก หรือเว็บไซต์เป็นเครื่องมือที่แสดงตัวตนและเล่าเรื่องราวทุกอย่างชัดเจนดีแล้ว เราสามารถถ่ายทอดเรื่องราว ใส่รูปภาพ ตกแต่ง ใส่เสียงได้ตามแต่เอกลักษณ์ของแต่ละคน ผู้เขียนมองว่าบล็อกเพียงอันเดียวเพียงพอแล้วในการให้ผู้อ่านได้รู้จักผู้เขียนได้ดีที่สุด

ทฤษฏีสถาปัตยกรรมและปรัชญา

ตอนเรียนอยู่ปี 3 เป็นปีที่หนักหนาสาหัสที่สุดในการเรียนสถาปัตย์ เพราะเป็นปีที่เพื่อนร่วมคณะหายเยอะที่สุดด้วย เหมือนว่าแต่ละคนจะเริ่มรู้ตัวว่า ชอบหรือไม่ชอบสถาปัตย์ตอนปีนี้ แต่ผู้เขียนยอมรับว่าเหนื่อยมาก แต่ยังกัดฟันสู้ต่อไป ในการเรียนปี 3 เราต้องออกแบบอาคารที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น โรงเรียน บ้านพักตากอากาศบนภูเขา หรืออาคารแบบ Mix Used นอกจากนี้ต้องเรียนรู้การเขียนแบบโครงสร้างอาคาร งานระบบ งานไฟฟ้า ระบบท่อต่างๆ งานหลังคา

เพื่อนๆกลุ่มอื่นเห็นผู้เขียนต้องเขียนงานระบบพวกนี้ พวกเขาบอกว่า กลุ่มพวกเขาไม่เห็นต้องเขียนเลย ตอนนั้นเราก็งงๆ แต่ไม่ได้อะไร แต่ได้ไปบอกอาจารย์ประจำกลุ่มของผู้เขียนว่า กลุ่มอื่นไม่เห็นต้องเขียนงานระบบเลย แต่ทำไมอาจารย์ถึงให้เขียนงานระบบตั้งแต่หลังคา ยันพื้นดิน อาจารย์มองหน้าผู้เขียนแล้วบอกว่า “หรือคุณอยากย่ำอยู่กับที่”

“ถ้าไม่ทำอะไรที่มันยากขึ้น มันจะพัฒนาได้อย่างไร” พอผู้เขียนได้ฟังแล้ว ก็รู้สึกว่าทำไมเราต้องเดินหน้าต่อไป ถอยหลังไม่ได้ ผู้เขียนต้องไปศึกษาเอง แล้วถามเพื่อนที่มีประสบการณ์ (พ่อเป็นผู้รับเหมา) ในการเขียนแบบงานระบบอาคาร

แต่มีวิชาหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกผ่อนคลายได้บ้าง คือ วิชาทฤษฎีสถาปัตยกรรม เป็นวิชาเหมาะกับผู้เขียนมากๆ เพราะเป็นวิชาให้เราเรียนรู้ทฤษฏีการออกแบบต่างๆทั้งตะวันออกและตะวันตก ประวัติสถาปนิกสำคัญ ๆ ซึ่งสอดคล้องกับบล็อกที่ผู้เขียนกำลังทำอยู่ ทำให้ผู้เขียนใช้วิชานี้ในการฝึกพูด ฝึก present งาน การทำสไลด์ และสื่อสิ่งพิมพ์ กลายเป็นว่าผู้เขียนได้เรียนรู้ปรัชญาและแนวคิดเรื่องการออกแบบดีขึ้น นำเสนอแบบดีขึ้น และมีแรงบันดาลใจในการบล็อกที่มีคุณภาพ

ตอนสมัยเรียนช่วงปี 3 และปี 4 อาจารย์ที่สอนผู้เขียนวิชาดีไซน์และ landscape บอกว่า ตัวผู้ขียนมีวิธีคิดเหมือนคนญี่ปุ่น อาจารย์ให้ผู้เขียนลองไปศึกษาปรัชญาญี่ปุ่นอย่าง Wabi Sabi และงานสถาปนิกของ Kazuyo Sejima ปรัชญาของญี่ปุ่นเลยหล่อหลอมให้สนใจเรื่องความเรียบง่าย ความสามัญ และธรรมชาติ ที่สำคัญเป็นการแสดงตัวตนของ wonderfularch.com ในปัจจุบัน สื่อตัวตนของความเป็นตะวันออกที่มีความสนใจความเป็นไปต่างๆทั่วโลก

เรียนรู้จาก Great Architect

ช่วงฝึกงาน ผู้เขียนได้มีโอกาสไปฝึกงานที่ Bunnag Architects ของอ.เมธา บุนนาค ศิลปินแห่งชาติ ทำให้ผู้เขียนได้เข้าไปสัมผัสการทำงานของสถาปนิกที่มีชื่อเสียง ซึ่งเมื่อผู้เขียนได้เข้าไปเป็นนักศึกษาฝึกงาน ด้วยความตั้งใจว่า เราจะสามารถนำวิธีการทำงานสถาปนิกระดับ Great Architect มาปรับใช้กับตัวเองได้

หลังจากฝึกงานไปได้หนึ่งสัปดาห์ ผู้เขียนเห็นว่า เราเป็นคนโง่เขลาที่แท้จริง การเรียนในคณะกับการทำงานจริงมีความแตกต่างกันอย่างมาก นอกจากการทำงานให้ได้มาตรฐานและเป็นมืออาชีพ เรื่องภาพลักษณ์ยังเป็นสิ่งสำคัญ บุคลิกภาพ ความมั่นใจ ความรู้ความสามารถ เป็นสิ่งที่คนภายนอกมักจะมองและตัดสินแต่แรก ก่อนจะรู้ว่าเราเป็นคนเก่งมาก อัจฉริยะแค่ไหน เป็นคนดี คนมักดูจากภายนอกก่อนเสมอ

สิ่งที่อ.เมธา บุนนาค สอนผู้เขียนไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของวิชาชีพเท่านั้น แต่สอนให้เราเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง มีมาตรฐานการทำงาน ในบางทีในฐานะที่เป็นเด็กฝึกงาน ผู้เขียนมีความกดดันบ้างในบ้างครั้ง เพราะเราไม่มีประสบการณ์การทำงานจริง สิ่งที่เราเรียนรู้ในคณะเป็นเพียความรู้งูๆปลาๆ ถ้าเทียบกับการทำงานของมืออาชีพ

ตอนฝึกงานผู้เขียนได้รับมอบหมายให้เขียนแบบออฟฟิต Bunag Architects หลังที่ 2 ซึ่งยังไม่ได้ก่อสร้าง (ตอนนั้นปี 2557) เป็นออฟฟิตสองชั้น ไว้สำหรับเป็นโรงเวิร์คชอป นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้ช่วยระบายสีภาพรูปด้าน ภาพทัศนียภาพ ที่มีความยาวมากกว่าสามเมตร และทุกภาพล้วนวาดด้วยมือทั้งหมด ไม่มีการเรนเดอร์ใดๆจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำให้พนักงานทุกคนในออฟฟิตต้องรุมและช่วยกันระบายสีภาพทัศนียภาพ รูปด้าน รูปตัด แปลน ช่วยกันทำจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น จากนั้นนำภาพที่ระบายทั้งหมดสแกนเข้าคอมพิวเตอร์ต่อไป

บรรยากาศภายในออฟฟิต Bunnag Architects  ค่อนข้างเป็นระเบียบ เงียบ ทุกคนโฟกัสกับงานที่ตนเองทำ โดยมีคุณเล็ก(อ.เมธา) เป็นผู้ออกแบบและบริหาร บางครั้งคุณเล็กจะเรียกพนักงานทุกคนมาฟังเรื่องการออกแบบ เรื่องโครงสร้าง หรือดีเทลงานออกแบบโรงแรม เช่น การออกแบบสระว่ายน้ำ ที่ทำให้น้ำดูนิ่งสงบที่สุด บางทีหากมีการทำงานใดๆผิดพลาดขึ้นมา คุณเล็กก็จะเรียกทุกคนมาฟังข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำอีก

ในช่วงแรกๆที่ผู้เขียนยอมรับว่า รู้สึกกดดัน แต่ผู้เขียนเองได้ซึมซับความมีวินัย ความมีระเบียบมาโดยไม่รู้ตัว และผู้เขียนเกิดมานั่งคิดทบทวนถึงอนาคตตัวเอง ว่าหากเราจบการศึกษาจากคณะสถาปัตย์ไปแล้ว เราจะทำอะไรที่เราทำแล้วมีความสุข และยังเป็นตัวตนของเรา คุณเล็กบอกผู้เขียนว่า “คนที่มีความสุขที่สุดในโลก คือคนที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ” ซึ่งผู้เขียนอยากจะเป็นแบบนั้นบ้าง

ผู้เขียนเคยคิดว่า อยากจะเป็นแบบคุณเล็ก อุทิศตนในการทำงานเป็นสถาปนิกเพียงอาชีพเดียว ตั้งใจทำผลงานให้ดี แต่พอนึกๆไปแล้ว ตัวผู้เขียนเป็นคนที่มีความสนใจหลากหลาย ชอบทำอะไรหลายอย่าง เราคิดว่าเรามีสถาปนิกที่เราชื่นชอบไว้เป็นแรงบันดาลใจให้เรา แต่เราควรทำงานในสิ่งที่เราเป็นและถนัด ไม่จำเป็นต้องเลียนแบบใคร

สัปดาห์สุดท้ายของการฝึกงาน ผู้เขียนได้รับรู้ว่า ตัวเองยังมีพื้นฐานด้านสถาปัตยกรรมไม่แน่นพอ ความตั้งใจในการทำงานในวิชาชีพยังไม่พอ ทำให้ผู้เขียนได้บทเรียนจากการทำงานกับคุณเล็กว่า หากจะเป็นสถาปนิกมืออาชีพ ความทุ่มเทและความเสียสละต้องมีมากกว่านี้ ความเป็นผู้นำ หรือความรู้ความสามารถ บุคลิกภาพที่ดูน่าเชื่อถือ

แม้ว่าจะเป็นการฝึกงานในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ทำให้ผู้เขียนมีมุมมองในการทำงานด้านวิชาชีพเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากที่ผู้เขียนเป็นเพียงเด็กกะโปโล กลายเป็นนักศึกษาที่มีความมุ่งมั่นในการทำงานต่างๆให้ดีขึ้น

Thesis

พอขึ้นปี 5 จะต้องทำวิทยานิพนธ์ เราจะต้องคิดว่า จากความรู้ที่เราเรียนมาทั้งสี่ปี ทำให้เกิดโครงการสถาปัตยกรรมคนละ 1 โครงการ นักศึกษาส่วนใหญ่เท่าที่ผู้เขียนสังเกต มักจะเลือกทำอาคารศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ หรืออาคารขนาดใหญ่ แต่ในขณะนั้น ผู้เขียนกลับมองว่า เราไม่ได้อยากทำงานโครงการขนาดใหญ่ หรือเป็นงานเชิงพาณิชย์มากเกินไป แต่อยากทำงานสเกลขนาดกลาง งานเรียบง่าย ให้ความสำคัญกับบริบทที่อยู่โดยรอบมากกว่า

ผู้เขียนจึงได้ไปปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ อาจารย์บอกว่า ให้ผู้เขียนไปหาโครงการและสถานที่ตั้งโครงการที่สามารถเกิดขึ้นจริงได้มาอย่างน้อย 3 ที่ อาจจะเป็นโครงการของภาครัฐหรือเอกชนก็ได้ พอได้ฟังดังนั้นแล้ว ผู้เขียนจึงไปหาข้อมูลในกูเกิลว่า โครงการของรัฐบาลหรือกระทรวงไหนบ้างที่คิดจะทำ แต่ยังไม่ได้ทำ และกำลังจะทำที่ไหนบ้าง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลวิทยานิพนธ์ของตนเอง

ผู้เขียนได้ไปเจอข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ว่ามีโครงการที่จะทำห้องสมุดประชาชนทุกเขตในกรุงเทพมหานครให้ครบ บางเขตได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้เขตจึงไล่หาเขตที่มีแผนจะดำเนินการ แต่ยังไม่ได้ทำ นั่นคือ เขตบางกอกน้อย ตอนนั้นผู้เขียนรู้สึกว่า นี่แหละคือโครงการวิทยานิพนธ์ของฉัน

หลังจากนั้น ผู้เขียนคิดว่า โครงการห้องสมุดเขตบางกอกน้อย เป็นวิทยานิพนธ์ที่เราจะต้องทำให้จบ และสำเร็จการศึกษาให้ได้ ซึ่งอาจารย์ให้ผู้เขียนลองไปสำรวจที่เพื่อหาที่ตั้งในเขตบางกอกน้อย เพื่อทำการวิเคราะห์ที่ตั้งของโครงการที่เหมาะสมที่สุด

ผู้เขียนลงพื้นที่ไปสำรวจไซต์ จนได้ที่ตั้งที่คิดว่ามีความเหมาะสม และเป็นศูนย์กลางของห้องสมุดประชาชนและเพื่อชุมชนได้ คือ บริเวณชุมชนติดกับวัดระฆัง เหตุผลที่เลือกบริเวณนี้ เพราะว่า พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ทึบตัน คั่นชุมชน2ด้าน ไม่สามารถทะลุผ่านกันได้ ทำให้ชุมชนหรือผู้คนที่อาศัยในย่านนั้นถูกตัดขาดกับวัด จึงคิดว่าหากเราใช้ที่ตั้งและตัวห้องสมุดเป็นตัวเชื่อมชุมชนและวัด

ตอนทำวิทยานิพนธ์ ผู้เขียนรู้สึกสนุกในการวิเคราะห์ต่างๆ และค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ แต่พอถึงช่วงที่จะต้องออกแบบ เป็นช่วงที่หนักมาก เพราะเราพยายามคำนึงเรื่องบริบทโดยรอบที่ตั้ง การออกแบบห้องสมุดที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นพื้นที่แค่อ่านหนังสือเสมอไป แต่เป็นพื้นที่ส่วนกลางให้คนมานั่งแลกเปลี่ยนพูดคุย สื่อสารกัน และเป็นพื้นที่ให้คนเดินผ่านกันได้ของชุมชนทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งผู้เขียนยอมรับว่าคิดเยอะมาก แก้แบบแล้วแก้แบบอีก กลัวจะไม่จบมากๆ จนผู้เขียนเกือบจะท้อมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่กลับมามีสติอีกครั้ง หลังสละตัวเองไปนอนให้เต็มอิ่มหนึ่งคืน บอกตัวเองว่า ให้สู้จนถึงวินาทีสุดท้ายแล้วกัน

วันส่งงาน และเตรียมนำเสนองาน ผู้เขียนได้นำเสนองานคนท้ายๆ ตอนนั้นรู้สึกง่วง กลัว ไม่มั่นใจนิดหนึ่ง และอยากให้เวลาผ่านพ้นไปโดยเร็ว ตอนนำเสนองานเราก็เล่าสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราต้องการบอกว่าห้องสมุดแห่งนี้มันจะทำให้ชุมชนและบริบทโดยรอบดีขึ้นยังไง ทำไมเล่าต้องยกอาคารขึ้นไปข้างบน เพื่อให้เกิดพื้นที่ลานสาธารณะที่เชื่อมพื้นที่สองฝั่ง และไม่เกิดพื้นที่ทึบตัน

หลังจบการนำเสนองาน ผู้เขียนไม่พูดอะไร นอกจากรอฟังคณะกรรมการที่มาตรวจ เป็นอาจารย์ที่เป็นสถาปนิกทรงคุณวุฒิว่า เขาจะมีความคิดเห็นหรือตำหนิอะไรบ้าง แต่สิ่งที่เราได้ยินกลับเป็นความคิดเห็นในทางบวกมาก ผู้เขียนจำได้ว่ามีอาจารย์ท่านหนึ่งบอกกับผู้เขียนว่า ผู้เขียนน่าจะไปทำงานผังเมือง เพราะคิดไม่เหมือนสถาปนิก แต่คิดเหมือนนักผังเมือง เพราะอาจารย์บอกว่า ได้ฟังนักศึกษานำเสนองานทั้งหมด แต่มีเราเพียงคนเดียวที่ยอมสละที่ดินโครงการตนเองให้คนอื่น เราได้ฟังรู้สึกหาเหนื่อย และบอกตัวเองว่า คิดถูกแล้ว ที่กลับมาสู้จนวินาทีสุดท้าย กลายเป็นว่า ผู้เขียนจบการศึกษาจากคณะสถาปัตย์โดยสมบูรณ์ และได้รู้แล้วว่า เราควรจะทำอะไรต่อหลังจากนี้…………… 🙂

สิ่งที่ได้จากการเรียนสถาปัตย์ 5 ปี

กระบวนการทางความคิด

การเรียนสถาปัตย์ สอนให้เราสามารถคิดกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้น หรือจากไม่มีอะไร จนสามารถเกิดเป็นรูปธรรมได้ มันทำให้เรามีความคิดที่เป็นระบบ มีจินตนาการบนพื้นฐานของความจริง กระบวนการคิดของสถาปัตยกรรม ประกอบด้วย ศาสตร์ด้านศิลปะ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ผสมผสานกัน สามารถใช้สมองทั้งสองซีกในการทำงานได้

ความอดทน

การเรียนสถาปัตย์ ทำให้เรามีความอดทน รอคอยเป็น และไม่ท้อง่าย ๆ เพราะว่า ตอนที่เราเรียนอยู่ในคณะสถาปัตย์ เราจะได้รับมอบหมายงานออกแบบให้ทำ และมีเวลาที่กำหนด ต้องคิด วิเคราะห์ และทำมันออกมา ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะต้องอาศัยการให้ความสำคัญ จดจ่อ จนสำเร็จ ซึ่งพอผ่านการฝึกฝนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรากลายเป็นคนที่มีความอดทน สามารถดำเนินโครงการที่ต้องอาศัยระยะเวลา หรือแผนงานระยะยาว งานที่ต้องอาศัยความกดดันมากๆ ซึ่งทำให้เรากลายเป็นคนไม่กลัวความลำบาก สามารถอดทนอดกลั้นต่อเป้าหมายระยะยาวได้ดี

มีอิสระ

การเรียนสถาปัตย์ ทำให้เรามีอิสระในการทำงาน ด้วยกระบวนการคิดของการทำงานสถาปัตยกรรม สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย และสามารถสร้างสรรค์งานต่างๆขึ้นมาใหม่ได้ จึงถือได้ว่ามีอิสระในการทำงาน มีอิสระทางความคิดนั่นเอง

บทสรุป

ผู้เขียนหวังว่า PODCAST เรื่องประสบการณ์จากการเรียนในโรงเรียนสถาปัตย์ คงเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและผู้ฟังที่อยากรู้ว่า คณะสถาปัตย์สอนอะไร ต้องเตรียมตัวอย่างไร จนไปถึงการนำความรู้ที่เล่าเรียนมา สามารถพัฒนาต่อยอดกับการทำงานหลาย ๆด้าน

ขอขอบคุณที่ติดตามและอ่านบทความของ wonderfularch.com เสมอมาค่ะ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here