PODCAST 02 - Minimalist น้อยแต่มาก หรือขี้เกียจคิด
PODCAST 02 – Minimalist น้อยแต่มาก หรือขี้เกียจคิด

“สวัสดีค่ะ ขอต้อนรับสู่ช่อง PODCAST ของ wonderfularch.com”

Podcast ตอนที่ 2 ผู้เขียนอยากจะมาเล่าเรื่อง Minimalist ในมุมมองและประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ว่าแท้จริงแล้ว นิยามของ Minimalist มันเป็นอย่างไร แล้วมันส่งผลกับการใช้ชีวิต วิถีคิดแบบใดบ้าง

หากมองในปัจจุบันนี้ เราคงได้ยินคำว่า มินิมอล อยู่ตลอด โดยเฉพาะในเรื่องการออกแบบ การตกแต่งภายใน งานศิลปะ แฟชั่น หรือแม้กระทั่งงานสถาปัตยกรรม หรือมักจะใช้พูดทั่วไป เพื่อแสดงถึงความเป็นคนมีสไตล์ เท่ ทันสมัย แต่ในความคิดของผู้เขียนแล้ว เราต้องมาทำความเข้าใจกันหน่อยว่า มินิมอล จริงๆแล้วนำไปใช้อย่างไร

ประสบการณ์ตอนเรียนสถาปัตย์

ตอนที่ผู้เขียนเรียนอยู่สถาปัตย์ ประมาณปี 2 ปี 3 ในวิชาดีไซน์ ตอนที่อาจารย์ให้โจทย์เราในการออกแบบอาคาร นอกจากเราจะต้องเขียนแปลน รูปตัด และรูปด้าน การคิดรูปด้านคือการทำให้หน้าตาอาคารดูสวย ดูมีมิติ สามารถสร้างความเชื่อมโยงกับบริบทที่อยู่โดยรอบได้

ตอนเราเรียน การออกแบบรูปด้านให้สวย เป็นการวัดฝีมือการออกแบบของนักศึกษา ส่วนใหญ่จะทำรูปด้านแบบฟรีฟอร์ม บิดไปบิดมา มีดีเทลเยอะ นั่นหมายความว่า คือสิ่งที่นักศึกษาไว้แสดงศักยภาพทักษะการออกแบบ ผู้เขียนก็เห็นด้วยในแง่การพัฒนาเรื่องรูปด้าน การหาทฤษฏี รูปแบบวัสดุ แต่มันก็มีความย้อนแย้งเหมือนกัน ระหว่างการเรียนกับการทำงานจริง

ตอนผู้เขียนเรียนอยู่ ด้วยความที่เราศึกษาปรัชญาญี่ปุ่นมาก เราเห็นว่าอยากจะนำหลักปรัชญาพวกนี้มาใช้ในการออกแบบของเรา พยายามไม่ใส่รายละเอียด หรือลงดีเทลในรูปด้านอาคารมากเกินไป เราเน้นออกแบบที่ว่าง (space) ให้สวย แล้วปล่อยให้รูปด้านออกมาตามฟังก์ชันภายใน หมายความว่าถ้าผนังจะทึบก็ปล่อยทึบไปเลย ถ้ามันต้องโปร่ง เป็นกระจก ก็จะปล่อยให้โล่งไปเลย เราคิดแบบนี้ อยากทดลองแบบนี้ดูบ้าง

ตอนนำเสนอแบบ ผู้เขียนไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่กับรูปด้านอาคาร แต่เรื่องการวางแปลน ฟังก์ชันผู้เขียนยังมั่นใจว่าทำได้ดี เมื่อถึงการคอมเมนต์ของอาจารย์ มีอาจารย์ท่านหนึ่งได้บอกผู้เขียนหลังจากเห็นรูปด้านอาคารว่า “ดูรูปด้านแล้ว ขี้เกียจคิดใช่มั๊ย”

ตอนนั้นผู้เขียนไม่ได้ตอบอะไร แต่แค่รู้สึกคาใจนิดหน่อย ว่าการออกแบบที่ดี หรือการออกแบบเพื่อให้ได้เกรดดีๆ มันต่างกันยังไง มันเป็นความสงสัยของนักเรียนสถาปัตย์ ตอนนั้นเราดูตามหนังสือ ตามเว็บไซต์ของงานสถาปนิกทั่วโลก บางทีเขาก็ออกแบบรูปด้านได้เรียบมาก ไม่ซับซ้อน แต่พอคิดแบบนี้แล้ว ผู้เขียนกลัวตัวเองจะเป็นพวก องุ่นเปรี้ยว พอโดนขัดหน่อย ทำเป็นอ้างนู่นอ้างนี่

ผู้เขียนจึงกลับไปทบทวนด้วยตัวเองว่า การทำงานกับการเรียนไม่เหมือนกัน ในตอนเรียน อาจารย์เขาอยากรู้ว่าเรามีทักษะด้านการออกแบบมาน้อยแค่ไหน ซึ่งดูหลายๆองค์ประกอบ เช่น ทักษะ ความรู้ด้านการก่อสร้าง วิธีคิด การเข้าใจฟังก์ชัน พื้นที่ใช้สอยภายในอาคาร งานระบบ เป็นต้น สุดท้ายมันคงไม่เกี่ยวว่าเราจะทำรูปด้านสวยหรือไม่สวย แต่มันขึ้นอยู่กับว่า เราสามารถนำความรู้ด้านสถาปัตยกรรมมาทำให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้จริงหรือไม่

ในแง่ของการศึกษา

ในแง่ของการศึกษา คำว่า Minimalist เรามักจะพูดเพื่อใช้เป็นแนวทางหรือรูปแบบในการอ้างอิงงานออกแบบ และมันเป็นข้อถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้น ระหว่างนักเรียนและอาจารย์ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าการศึกษาในคณะออกแบบภาคอื่นๆเป็นอย่างไร แต่ในการเรียนสถาปัตย์ การนำคำว่า มินิมอลมาใช้มันค่อนข้างกว้าง

ถามว่าผู้เขียนสนใจหลักการของ Minimalist แต่ตอนสมัยเรียนผู้เขียนก็ไม่เคยนำมันมาใช้ในการนำเสนอแบบเลยซักครั้ง แต่เราแค่ยังยึดหลักการของเราในใจตลอด เพราะตอนเป็นนักเรียนสถาปัตย์ เราต้องหาแนวคิดที่มันเคยเกิดขึ้นแล้วจริงๆมานำเสนอ มากกว่ามาพูดว่าสิ่งที่เราคิดคือ มินิมอล  หากเรานำมาพูด หรือนำเสนอแล้วไม่ได้รู้มันอย่างลึกซึ้ง มันจะเป็นการสร้างความเข้าใจแบบผิดๆได้

ในแง่การทำงาน

ตอนเข้าสู่ชีวิตการทำงาน ผู้เขียนก็เคยมีปะสบการณ์ของการทำงานออกแบบกราฟิก จะมีประเด็นเรื่องงานออกแบบโลโก้ให้กับโครงการหนึ่ง ผู้เขียนจำได้ว่าได้ทำการออกแบบโลโก้ให้ดูเรียบง่ายมากที่สุด ซึ่งมันผ่านกระบวนการปรับและพัฒนาแบบอยู่หลายครั้ง จนสุดท้ายได้โลโก้ที่ได้คุยกับกลุ่มทีมงาน ว่าโอเค เป็นที่พอใจ สื่อความหมายตรงตามชื่อโครงการ แต่เมื่อถึงเวลาเอางานไปเสนอนายทุน เสียงตอบรับบอกว่า งานมันดูน้อยไปหน่อย พอผู้เขียนได้ฟัง ทำให้ฉงนใจอยู่นิดหน่อยว่า งานออกแบบของเรามันน้อยจนดูเหมือนไม่ได้คิดขนาดนั้นเลย พูดยากเหมือนกัน ว่าความคิดของผู้ออกแบบกับลูกค้าต่างกันอย่างสิ้นเชิง

แต่การทำงานออกแบบแบบมินิมอล ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสีโมโนโทนเสมอไป การใช้สีสด สีสันสดใส แต่ใช้สีให้พอดีและเรียบง่ายให้มากที่สุด ถือว่าเป็นรูปแบบมินิมอลได้เช่นกัน สีสันสดใสแต่องค์ประกอบของสีไม่ได้มีมากจนเกินไป ผู้เขียนมักใช้หลักการนี้ในการออกแบบงานโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ต่างๆ ต้องมีความสวยงาม เรียบง่าย ชัดเจน ในขณะเดียวกันต้องดึงดูดสายตาด้วย

ที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเล่าจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ในการทำงาน หากเราศึกษา Minimalist อย่างถ่องแท้และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ทำให้เราสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีคุณภาพ

ในแง่วิถีชีวิต      

หากพูดถึงเรื่อง ไลฟสไตล์ หรือวิถีชีวิต ผู้เขียนมองว่า Minimalist ถือว่ามีประโยชน์มากทีเดียว เพราะมันทำให้เราใช้ชีวิตได้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีรสนิยม หรือบางทีมันเป็นเรื่องความฟุ่มเฟือยได้เช่นกัน มันมีความคาบเกี่ยวระหว่างสมถะกับความฟุ่ยเฟือย มันเป็นอย่างไร ลองมาดูเพื่อเปรียบเทียบมินิมอลในชีวิตประจำวัน

หากพูดว่า มินิมอล ทำให้ชีวิตเรียบง่าย เป็นระเบียบเรียบร้อย สมถะมากขึ้น มันไม่ผิด เพราะว่า มินิมอล ทำให้เรารู้สึกว่า ไม่อยากทำให้บ้าน ที่ทำงาน ห้องส่วนตัวดูรก และซื้อของใช้ที่จำเป็นจริงๆ ลดทอนของตกแต่งจุกจิกต่างๆออกไป ทำให้เราไม่คิดเรื่องการสะสมของ เพื่อไม่ให้บ้านมีองค์ประกอบเยอะเกินไป แต่ว่าเรายังสามารถเล่นกับสีสันสดใส สีสดๆได้ หากรู้จักการเล่นสีได้อย่างเหมาะสม การใช้คู่สีที่เข้ากัน

หรือแม้แต่เรื่องการแต่งกาย แฟชั่น การนำเอามินิมอลกับการแต่งตัว มักจะไม่เน้นลวดลาย หรือรายละเอียดของเครื่องประดับมากเกินไป ส่วนใหญ่ที่เห็นตามสื่อคือ การแต่งกายด้วยสีขาวดำ หรือสีเบจ ไม่มีลวดลาย เสื้อผ้าสามารถใส่ผสมหรือดัดแปลงได้ ได้ทุกโอกาส การออกแบบเสื้อผ้าในปัจจุบันหลายๆแบรนด์ มักจะเริ่มเป็นแนวนี้ ไม่เน้นลวดลาย หรือติดตราสัญลักษณ์โลโก้แบรนด์ใหญ่ๆ แต่เน้นให้เครื่องแต่งกายสามารถใส่ผสม ปรับเปลี่ยนไดเหลายรูปแบบ

ตัวผู้เขียนเอง ยอมรับว่าเป็นคนที่นำมินิมอล มาใช้กับที่พักอาศัย เพราะเราเป็นคนที่ชอบให้บ้านดูเป็นระเบียบเรียบร้อย ดูสะอาด ดูง่าย ไม่เยอะ ซึ่งผู้เขียนยังมีความย้อนแย้งในตัวเอง เพราะผู้เขียนไม่ได้เป็นคนที่แต่งตัวเรียบๆแบบมินิมอลเท่าไหร่ ผู้เขียนชอบใส่เสื้องานปัก มีดีเทล ชอบใส่เครื่องประดับ ต่างหู กำไลข้อมือ เสื้อสีสดๆ ไม่ก็ใส่สีดำไปเลย ผู้เขียนก็ชอบดูงานแฟชั่นที่ออกแบบเรียบๆ แต่ตัวเราเองไม่ใส่ค่ะ

บางทีมินิมอลก็คือความฟุ่มเฟือย ผู้เขียนมองว่ามันทำให้เราต้องลงทุนกับมัน ยกตัวอย่าง การซื้อข้าวของเครื่องใช้ เพื่อให้ดูมินิมอล ใช้เงินเยอะพอสมควร เช่น โต๊ะไม้ที่ถูกไสมาอย่างดี ดูเรียบ ดูสะอาด ไปตั้งตรงไหนของห้องก็ดูสวย ราคามักจะสูง มันทำให้ห้องดูมินิมอล แต่คุณก็ต้องลงทุนกับความมินิมอลด้วยเช่นกัน

จากที่ผู้เขียนสังเกต มินิมอลในชีวิตคนเราอาจจะเริ่มมาจากรสนิยมส่วนตัวก่อน หรือนิสัยบางอย่างของคนๆนั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นในกลุ่มนักออกแบบ ศิลปิน หรือผู้ที่ความชื่นชอบหรือมีความเชื่อเกี่ยวกับเซน ซึ่งผู้เขียนยังมองว่าหากนำไปใช้ในการใช้ชีวิตให้เป็นไปอย่างเรียบง่าย ความพอดี ย่อยเป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับชีวิตคนเรา

หลักทฤษฎี

ในหลักของทฤษฏี มีการพุดถึง Minimalist อยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ งานออกแบบ แฟชั่น งานสถาปัตยกรรม และงานตกแต่งภายใน ตามทฤษฏีแล้วหลักกานนี้มีจุดเริ่มต้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะในช่วงยุค 1960 – 1970 ซึ่งเป็นยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆมากมาย โดยเฉพาะในวงการศิลปกรรมทุกแขนง

หรือในประเทศญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับความเรียบง่าย โดยเฉพาะวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นใช้เซนเป็นหลักในการดำเนินชีวิต การออกแบบ และรื่อสุนทรียะ มันทำให้เกิดแนวคิด ปรัชญาในงานออกแบบมากมาย เช่น วาบิ-ซาบิ ศิลปะการจัดดอกไม้ พิธีการชงชา การจัดสวนของญี่ปุ่น หลักการส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องของความเรียบง่าย การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

งานสถาปัตยกรรม

หากมองไปในงานสถาปัตยกรรม ทาดาโอะ อันโดะ เป็นสถาปนิกที่มีความเป็นเซน หากเราดูงานของอันโดะ ส่วนใหญ่มักจะใช้คอนกรีตและงานไม้ โครงสร้างและรูปทรงอาคารเป็นเรขาคณิตที่ดูเรียบง่าย ตัวอาคารมักมีการเล่นกับแสงและเงา สร้างความสัมพันธ์ของที่ว่างกับธรรมชาติ เกิดความสงบเมื่อเข้าไปสู่ที่ว่างภายในอาคาร

หรือกลุ่มสถาปนิก SANAA ที่มี Kazuyo Sejima และ Ryue Nishizawa สองสถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่มีผลงานสถาปัตยกรรมคลีนๆ สีขาว โปร่งแสง ถูกจัดในกลุ่มสถาปนิกมินิมอล หรือสถาปนิกชาวอังกฤษ John Pawson ที่ถือว่าเป็นสถาปนิกสายมินิมอลชัดเจน งานของเขาให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณ ความเป็นระเบียบ เรียบง่าย ปราศจากการตกแต่งดีเทลที่ไม่จำเป็น ใช้วัสดุจากธรรมชาติ สร้างประสบการณ์ความลึกล้ำของที่ว่างภายในอาคาร

สถาปนิกชาวสเปน Alberto Campo Baeza เล่าว่า งานสถาปัตยกรรมของเขาให้ความสำคัญกับพื้นที่ เรื่องของแสง แนวคิด การใช้สอย และบริบท รูปทรงอาคารมักเป็นรูปทรงเรขาคณิตที่เรียบง่ายที่สุด ส่วนใหญ่เป็นทรงลูกบาศก์ที่มีความสมมาตร ลดองค์ประกอบการตกแต่งที่ไม่จำเป็นออกไป

หากจะดูรูปแบบงานสถาปัตยกรรมแบบแนวคิดมินิมอล คือ การออกแบบรูปทรงอาคาร พื้นที่ใช้สอยเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่เน้นการตกแต่งที่เกินความจำเป็น ความพอดี ซึ่งแก่นแท้ของสถาปัตยกรรมมินิมอลเป็นเรื่องของรายละเอียดวัสดุ ที่ว่าง สถานที่ตั้ง และเงื่อนไขของคน นอกจากนี้ยังคำนึงถึงเรื่องของจิตวิญญาณ ใส่ใจกับคน ธรรมชาติ บริบท และการใช้วัสดุ เช่น การให้แสงธรรมชาติสาดส่องเข้ามาภายในอาคาร ท้องฟ้า ต้นไม้ และความสัมพันธ์ของสถาปัตยกรรมกับพื้นที่ตั้ง

ในงานสถาปัตยกรรมแบบมินิมอล รูปทรงเรขาคณิตพื้นฐานคือสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด ความสวยงามของวัสดุจริง ไม่มีการแต่งเติมหรือย้อมสี แต่เน้นความเป็นธรรมชาติ ซึ่งมีความเชื่อเรื่องการเคารพ และอ่อนน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติ ความสามัญดูธรรมดา คือความงามในแบบมินิมอล

งานศิลปะ

ในงานศิลปะ “มินิมอล” เริ่มปรากฏในช่วงยุค 1960 ตามชื่อวงการศิลปะจะถูกเรียกว่า minimal art หรือ literalist art เฟื่องฟูมากในกลุ่มศิลปินตะวันตก โดยเฉพาะในยุโรป สถาบันศึกษา Bauhaus ของเยอรมัน  มีอิทธิพลในงานออกแบบและงานศิลปะ ที่สร้างศิลปินละนักออกแบบที่มีชื่อเสียงมากมาย

งานศิลปะแบบมินิมอล ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ คือ Barnett Newman เขาเป็นศิลปินที่มีผลงานเน้นการใช้สี ภาพวาดที่เป็นนามธรรม การใช้สีสันสดๆตัดกันอย่างชัดเจน ปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกจากสีที่ใช้เพียงไม่กี่สี หรือ Yves Klein ศิลปินชาวฝรั่งเศส งานของเขามักใช้สีน้ำเงิน สีฟ้า เพียงสองสีในการสร้างสรรค์งานศิลปะ

งานของ Josef Albers มีความเป็นนามธรรม เขามักจะใช้สีสด และรูปทรงสี่เหลี่ยมเรขาคณิต สีเหลี่ยมหลายๆสีซ้อนกัน หรือเส้นสีดำวาดเป็นสี่เหลี่ยมซ้อนกันหลายชั้น จัดว่าเป็นงานประเภทนามธรรมและมินิมอล หากเราดูงานศิลปินสายนี้ จะเห็นว่าการใช้สี ไม่จำเป็นต้องเป็นสีโมโนโทนเสมอไป แต่เป็นการเลือกใช้สีให้เหมาะสม สัดส่วนของรูปทรงที่พอดี ไม่ขาดไม่เกิน ความพอดีและความเหมาะสมนั่นคือ มินิมอล

บทสรุป

Minimalist เป็นนิยามที่ถูกนำมาใช้กันมากในปัจจุบัน สายงานหลายๆแขนง มักจะบอกว่า นี่คือสไตล์มินิมอล นี่คือรูปแบบมินิมอล แต่มินิมอลมันคือหลักคิด หลักปรัชญาศาสตร์หนึ่งที่มีที่มาที่ไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความงาม เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี เกิดนวัตกรรมที่ใช้สอยที่ง่ายขึ้น

ฉะนั้น Minimalist หากเราสามารถนำไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ สิ่งแวดล้อม สังคม นวัตกรรมที่ดี การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ที่สวยงามและเกิดสุนทรียะ หากเป็นดังนี้คำว่ามินิมอล ไม่ใช่สิ่งที่เอาเท่ หรือขี้เกียจคิดแต่อย่างใด แต่เป็นการคิดอย่างลึกซึ้ง ถูกวิเคราะห์มาอย่างดี ซึ่งผู้เขียนอยากจะให้คำว่า มินิมอล ไม่ใช่สิ่งที่พูดเพื่อว่าเราเป็นคนมีสไตล์ แต่ให้พูดเพื่อเรานำมันมาใช้เพื่อให้เกิดสิ่งที่มีคุณค่าแก่วิถีชีวิตคนเราและสังคม

ข้อมูลประกอบจาก : Wikipedia

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here