PODCAST 05 – 10 สิ่งที่โรงเรียนสถาปัตย์ไม่ได้สอนเรา

สวัสดีค่ะ PODCAST ในตอนนี้ผู้เขียนอยากจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับการเรียนในโรงเรียนสถาปัตย์ว่ามีสิ่งใดที่ทางโรงเรียนไม่ได้สอนเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราตะหนักรู้ได้เองหลังจากที่เราจบการศึกษาไปแล้ว และเริ่มมีประสบการณ์ในวิชาชีพ มันทำให้รู้ว่าตอนที่เรายังเป็นนักศึกษาจะมีความคิดที่เป็นเพียงแค่ภาพฝันในสิ่งที่เราอยากจะเป็นในอนาคต แต่พอเข้าสู่โลกการทำงาน มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง  ผู้เขียนจึงอยากมาเล่าถึงแง่คิด มุมมองของคนที่อยู่ในวงการนี้ว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งน้องๆนักศึกษาสามารถฟังเพื่อปรับใช้ในการเรียนและการทำงานในวันข้างหน้าได้เช่นกัน แต่สิ่งที่ผู้เขียนจะเล่าในตอนนี้มันเป็นความคิดและประสบการณ์ ณ ปัจจุบัน ซึ่งหากเวลาผ่านไปอีก 10 ปีข้างหน้าแนวคิดเหล่านี้อาจจะเปลี่ยนไปได้เช่นกัน ตามบริบท สถานการณ์ และปัจจัยต่างๆในอนาคต

เราลองมาดูกันว่า 10 ข้อต่อไปนี้มีอะไรบ้าง

1 การบริหารจัดการ

เรื่องของการบริหารจัดการเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆในการทำงานในวิชาชีพนี้ ใสสมัยที่เรายังเป็นนักศึกษา เราจะมีงานออกแบบอาคารประเภทต่างๆเทอมละ 1-2 อาคาร ซึ่งเราน่าจะเริ่มเรียนรู้เรื่องนี้กันตั้งแต่สมัยเรียนคณะสถาปัตย์ แต่ว่าตอนเราเป็นนักศึกษา เรายังมีโอกาสแก้ตัว แต่ในชีวิตการทำงาน เราแทบจะไม่มีโอกาสแก้ตัว และจะทำให้เราพลาดโอกาส สูญเสียรายได้ไป

ตามประสบการณ์ของผู้เขียน การบริหารการจัดการ หมายถึง การตรงต่อเวลา การส่งงานหรือจบโครงการได้ตามเวลาที่กำหนด ต้องยอมรับว่าวิชาชีพนี้ทำงานด้วยความกดดันเสมอ หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย การทำงานจนดึกดื่นหรือทำงานจนถึงเช้าตรู่เป็นสิ่งที่เราเจอกันเสมอตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา แต่ก็มีคนที่สามารถทำงานจัดการงานของตนโดยไม่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำได้เช่นกัน

ผู้เขียนเคยมีงานหลายๆงานเข้ามาพร้อมกัน จนไม่รู้จะเริ่มทำอะไรก่อน ระยะเวลาค่อนข้างน้อย ตอนนั้นสมองตีกันในหัว สับสนไปหมด จนบางทีเรารู้สึกว่าต้องหยุดคิดและจัดลำดับความสำคัญใหม่ จึงเริ่มมีสติในการทำงานต่อได้ ผู้เขียนเคยเห็นเพื่อนคนหนึ่งเขาบริหารการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เขียนลองสังเกตว่าเขาทำอย่างไร

จากที่ผู้เขียนสังเกต เพื่อนผู้เขียนคนนี้อาศัยการทำงานแบบว่าทำทุกวัน แม้กระทั่งเสาร์อาทิตย์ แต่ไม่ใช่ทำงานทุกวันแบบอดหลับอดนอน แต่ทำทุกวันวันละนิดวันละหน่อยสะสมไปเรื่อยๆ ดีกว่าไปทำหามรุ่งหามค่ำตอนจวนเวลาใกล้ส่งงาน อีกอย่างของเรื่องการบริหารจัดการคือ การรู้จักหยุด หมายถึง การหยุดคิด หยุดคิดพัฒนาแบบ แล้วตัดสินใจลงมือทำเลย ซึ่งอาจารย์ของผู้เขียนก็เคยบอกผู้เขียนสมัยเรียนปีหนึ่งว่า “เราต้องหยุดแบบ เพื่อลงมือทำ งานสถาปัตย์ไม่มีแบบที่ดีที่สุดแท้จริง แต่ดีที่สุดในเวลานั้นแล้ว”

การบริหารจัดการบางทีอาจหมายถึงเรื่องการตัดสินใจ ความเด็ดขาดในการลงมือทำ เพราะว่างานสถาปัตยกรรม หรืองานออกแบบประเภทอื่นๆล้วนต้องอาศัยการคิดแล้วลงมือทำทันที แล้วค่อยๆพัฒนาแบบที่ดีที่สุด ณ เวลาตอนนั้น

2 การทำงานเป็นทีม

ในวิชาชีพนี้ยากมากที่จะสามารถทำงานคนเดียวได้ ตัวผู้เขียนเองไม่ใช่คนที่ชอบทำงานกับคนจำนวนมากๆ ชอบทำงานที่ใช้ความคิดโดยอยู่ตามลำพัง แต่จากประสบการณ์การทำงาน ผู้เขียนไม่เคยเลยที่ต้องทำงานคนเดียว เพราะสุดท้ายการทำงานในอาชีพนี้ ไม่ว่าสถาปนิก นักออกแบบ หรือแม้แต่การทำงานกราฟิก เพราะสุดท้ายการทำงานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และต้องทำความคิดให้ออกมาเป็นรูปธรรมให้ได้ ย่อมต้องมีการพูดคุยสื่อสารกับคนอื่นๆที่ทำงานในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้งานสำเร็จบรรลุตามเป้าหมาย นอกจากว่าเราจะเป็นศิลปินสามารถวาดรูปหาเลี้ยงชีพได้ ไม่จำเป็นต้องสื่อสารกับคน

การทำงานเป็นทีมในวิชาชีพนี้ สิ่งที่เราต้องคำนึงคือ ไม่สร้างความขัดแย้ง การเป็นสถาปนิก ผู้จัดการโครงการ นักออกแบบ หรือตำแหน่งหน้าที่อื่นๆ ล้วนต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆฝ่ายเพื่อทำให้แต่ละโปรเจคสำเร็จลุล่วงได้ดี จากประสบการณ์ของตัวผู้เขียนเอง แม้จะชอบทำงานใช้ความคิดเพียงคนเดียว แต่ทั้งนี้พอผู้เขียนได้มีโอกาสได้เป็นสถาปนิกและผู้จัดการโครงการ เหมือนว่าผู้เขียนจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเพื่อให้การทำงานและดูแลโครงการให้สำเร็จลุล่วงโดยอาศัยความร่วมมือจากหลายๆฝ่าย

เรื่องการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานเป็นทีม หมายความว่าเราต้องรู้จักวิธีพูดที่ไม่ส่งผลกระทบด้านลบหรือเกิดความบาดหมาง แต่ต้องสื่อสารที่ก่อให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการทำงาน มันไม่ยากและไม่ง่าย เพราะต้องอาศัยการเข้าใจสถานการณ์ การเข้าใจคน ทักษะการวิเคราะห์ และประสบการณ์การทำงาน ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนเองมักจะมองว่าการทำงานกับคนเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากที่สุด มันมีเรื่องของความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้เขียนจึงใช้วิธีว่า เราจะพูดคุยในเรื่องของเป้าหมาย การทำงานเท่านั้น พยายามหลีกเลี่ยงเรื่องการเมือง ผู้เขียนไม่ใช่ว่าไม่เคยมีปัญหาเรื่องการทำงานเป็นทีม แต่เรียกว่าเคยมีปัญหาหนักทีเดียว เพราะเกิดมาจากอีโก้ของตัวเองที่มีมากเกินไป ทำให้บางทีเราไม่รับฟังใคร จนสุดท้ายผู้เขียนได้สร้างศัตรูโดยไม่รู้ตัว ในตอนนั้นผู้เขียนรู้สึกว่าถึงเราจะมีความสามารถมากเพียงใด แต่เราไม่สามารถทำให้คนที่ร่วมงานกับเรามีความสุขในการทำงาน มีแรงบันดาลใจ มีกำลังใจในการทำงาน และทำให้พวกเขาทำงานบรรลุเป้าหมายได้ ผู้เขียนยังมองว่าเราไม่สามารถทำงานเป็นทีมที่ดีได้

การทำงานเป็นทีมในวิชาชีพนี้ หากเราลดอีโก้ของตนเองลงได้ จะสามารถไปได้ตลอดรอดฝั่ง พอทำโปรเจคที่เป็นทีม ไม่ใช่ศิลปินเดี่ยว เกิดจากความร่วมมือหลายๆฝ่ายให้งานสำเร็จเป็นรูปธรรม ความสำเร็จนี้จะปรากฏเป็นชื่อทีม ชื่อบริษัท หรืออื่นๆที่แสดงถึงความเป็นทีม ฉะนั้นต่อให้เราเป็นผู้ตาม เราต้องเป็นผู้ตามที่ดี ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด มีความรับผิดชอบในงาน ถือเป็นความสร้างหน้าเชื่อถือต่อคนที่ร่วมงานกับเรา ส่วนผู้นำต้องดูแลคนในทีมให้ดี ให้ทีมงานมีความสุขกับการทำงาน และทำให้ทีมมีการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่

3 มาตรฐานการทำงาน

การมีมาตรฐานการทำงาน ถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานสายนี้ วิชาชีพนี้นอกจากการมีมาตรฐานของงานแล้ว เราต้องรักษามาตรฐานตรงนี้ไว้ด้วย มาตรฐานการทำงานสำหรับผู้เขียน คือ การทำงานให้มีคุณภาพ มีระบบ และมีแบบแผนการทำงานที่ชัดเจน หากสามารถสร้างมาตรฐานให้ไปในระดับสากลหรือระดับโลกได้ยิ่งดี

ผู้เขียนมองว่าการมีมาตรฐานการทำงาน ถือเป็นสิ่งที่บอกว่าเรามีความรู้ มีความน่าเชื่อถือ และมีระบบการทำงานที่ชัดเจน ทั้งนี้เพราะการที่ขึ้นชื่อว่าเป็นวิชาชีพ ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยความรู้เฉพาะด้านอย่างแท้จริง บุคคลอื่นๆไม่สามารถนำความรู้ตรงนี้ไปใช้ได้ เราจึงต้องมีมาตรฐานเพื่อเป็นตัวกำหนดการคุณภาพการทำงานในสาขาวิชาชีพ และมาตรฐานตรงนี้เข้มแข็งมากพอ มันจะช่วยลดปัญหาการแทรกแซงหรือผลประโยชน์ที่ไม่พึงประสงค์

บางทีตัวผู้เขียนเองต้องอ่านหาข้อมูลเกี่ยวกับวิชาชีพไว้บ้าง ผู้เขียนมักจะอ่านเรื่องกฎหมายวิชาชีพ หรือเรื่องของขอบเขตการทำงานของสถาปนิก แนวคิดต่างๆจากหนังสือของสภาสถาปนิกและของสมาคมสถาปนิก ทั้งนี้เพื่อให้เรามีความเข้าใจสถานการณ์ของวิชาชีพและความเปลี่ยนแปลง หรืออีกนัยหนึ่งคือ ถ้าเราได้ทำงานกับคนที่เก่ง มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ เราสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ รูปแบบมาตรฐานการทำงานจากบุคคลเหล่านี้ แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับตนเอง ซึ่งผู้เขียนคิดมาตั้งแต่เรียนจบแล้วว่า เราต้องทำงานให้ดี ให้มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ เราต้องรักษามาตรฐานของเราให้คงเส้นคงวาเสมอ

มาตรฐานการทำงานนี้ไม่รู้ว่าแต่ละคนมีวิธีการอย่างไร ส่วนผู้เขียนเองอาศัยจากการอ่านหนังสือ เรียนรู้จากคนที่มีความสามารถ และติดตามข่าวสารด้านวิชาชีพ เรียนรู้ด้านการบริหารบ้าง  ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนมองว่า มันคือการสร้างความมั่นคงในระยะยาวในการทำงานสายวิชาชีพ

4 ทัศนคติ

เรื่องของทัศนคติ หมายถึง วิธีคิดของเรา ว่าเรามีมุมมองต่อการทำงานอย่างไรบ้าง เรื่องทัศนคติเป็นเรื่องส่วนบุคคล อธิบายยาก แต่มีความสำคัญต่อการทำงานของเรา หรือแม้แต่การคิดตอนที่เราเรียนอยู่คณะสถาปัตย์ ผู้เขียนมองว่าทัศนคติส่งผลต่อการกระทำของเรา และส่งผลว่าเราจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆได้มากน้อยแค่ไหน

ผู้เขียนเชื่อเรื่องทัศนคติมาก เพราะเกิดขึ้นกับตัวเอง คงต้องย้อนเล่าตอนที่ผู้เขียนยังเป็นนักศึกษาปีหนึ่ง ตอนนั้นผู้เขียนรู้สึกว่า การเรียนสถาปัตย์ยาก โดยเฉพาะวิชาเขียนแบบก่อสร้าง เพราะเราไม่มีพื้นฐานด้านนี้ จนเรารู้สึกเหนื่อย ท้อ แต่เราไม่ได้ลาออกจากคณะสถาปัตย์ แค่รู้สึกว่าเราคงต้องพยายามให้มากกว่าเดิม เราคงไม่อยากซิ่วแล้วกลายเป็นเด็กโข่งแน่ๆ หลังจากเรียนไปได้หนึ่งเทอมแล้วรู้ว่าเราได้เกรด D วิชาเขียนแบบ ผู้เขียนเลยต้องศึกษาการเขียนแบบใหม่เองหมด ใช้เวลาช่วงปิดเทอมอ่านหนังสือเขียนแบบ และฝึกเขียนแบบเองที่บ้าน เมื่อเกรดเทอมสองออกมา จากเกรด D ขึ้นมาเป็น B+ ถือว่าสิ่งที่เราคิดและความพยายามได้ผลจริง

อีกเหตุการณ์หนึ่ง ตอนผู้เขียนอยู่ปี 5 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ต้องทำวิทยานิพนธ์ นักศึกษาสถาปัตย์ทุกคนคงรู้ว่าปีนี้หนักที่สุด ผู้เขียนทำวิทยานิพนธ์เจอเหตุการณ์หลายรูปแบบมาก ตอนที่อยู่ในช่วงพัฒนาแบบสถาปัตยกรรม คือช่วงที่หนักมาก เพราะเราต้องรีบจบแบบให้ได้ เพื่อจะได้ทำ Presentation ให้สมบูรณ์และส่งงานให้ได้ตามเวลาที่กำหนด

ช่วงที่ทำแบบนำเสนอครั้งสุดท้าย แต่แบบยังไม่ชัดเจน เราเลยลังเล ไม่แน่ใจ กลัวทำไม่ทัน ความกลัวเริ่มเข้ามาในจิตใจอีกครั้ง รวมกับความล้าที่ไม่ได้นอนมาหลายวัน ตอนนั้นยังคิดแล้วว่าจะดรอปดีไหม แล้วค่อยเอาใหม่ปีหน้า ตอนนั้นผู้เขียนบ่นกับน้องสาวว่า เหมือนจะไปต่อไม่ไหวแล้ว คำตอบที่น้องสาวตอบมา ไม่แน่ใจว่าเพราะรำคาญหรืออยากให้เรามีสติ สั้นๆ ตรงไปตรงมาว่า “เธอไม่ได้ท้อ เราเห็นเธอมาตั้งแต่เด็ก คิดจะทำอะไรก็ลงมือทำตลอด ไม่เคยเห็นบ่นท้ออะไรเลย เธอไม่ได้ท้อ เธอแค่ง่วง ไปนอนซะ แล้วค่อยมาทำต่อพรุ่งนี้” พอผู้เขียนได้ฟังสิ่งที่น้องสาวบอกเรา เหมือนโดนน้ำสาดแรงๆหนึ่งที เพราะสิ่งที่น้องสาวบอกเราคือ แค่เปลี่ยนความคิด และเชื่อมั่นในตนเอง สุดท้ายผู้เขียนก็ไม่ได้หยุดเรียนปีสุดท้าย แต่ทำแบบนำเสนอจนเสร็จในที่สุด

มาในช่วงชีวิตการทำงาน ก็ยังมีเรื่องที่เราเกือบถอดใจอีกครั้ง ช่วงที่เกิดเหตุการณ์โควิค-19 ตอนนั้นผู้เขียนต้องรับผิดชอบดูแลโครงการหนึ่งอยู่ แล้วเราไม่สามารถลงไปทำงานในพื้นที่ได้ ทำให้การจบงานล่าช้าไปกว่าครึ่งปี ตอนนั้นผู้เขียนเครียดมาก จนต้องมานั่งปรับแผนงานใหม่ ค่อยๆแก้ปัญหาไปทีละจุด ต้องเดินหน้าต่อและทำให้โครงการสำเร็จให้ได้ ไม่ว่าจะต้องเปลี่ยนแผนงาน ปรับงบประมาณ และทำงานให้เป็นรูปธรรมแม้แทบจะลงไปปฏิบัติในพื้นที่แทบไม่ได้ ต้องอาศัยความหนักแน่นและทัศนคติที่ดีต่ออุปสรรคต่างๆ

5 ความอดทน

เรื่องของความอดทน คือ การที่เรารู้จักรอคอยเป็น ตั้งหน้าตั้งตาทำงานจนเป้าหมายที่ตั้งไว้สำเร็จลุล่วง เพราะการทำงานเป็นสถาปนิก หรือนักออกแบบเป็นผู้ที่ต้องทำให้แบบที่เกิดจากความฝัน ความคิด จินตนาการ ความรู้ และทักษะทางวิชาชีพในเกิดเป็นรูปธรรมให้ได้ บางครั้งงานไม่ได้จบภายในสามเดือน หรือห้าเดือนอย่างแน่นอน แต่ใช้เวลาเป็นปีในการก่อร่างแบบออกมา จนถึงขั้นตอนการก่อสร้าง

ความอดทนในสายวิชาชีพนี้มีหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการถูกปฏิเสธ หรือการแก้แบบที่มากกว่าห้าครั้ง หรือปัญหาอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติงาน ผู้เขียนยังไม่เคยเจอว่ามีงานไหนที่ทำได้แบบสบายๆ ไม่มีปัญหาใดๆจนจบโครงการเลย ส่วนใหญ่ที่เราจะเจอเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เช่น ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ปัญหาเรื่องความขัดแย้งที่เกิดจากความคิดเห็นไม่ตรงกัน ปัญหาการก่อสร้างไม่ตรงตามแบบ หรือปัญหาเรื่องงบประมาณ

ตัวผู้เขียนเองแม้ว่าจะไม่ค่อยทำงานสถาปัตยกรรมเท่าไหร่ แต่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิชาชีพนี้ และเห็นว่า งานสถาปัตยกรรมทำงานด้วยความกดดัน ต้องอาศัยระยะเวลาหลายปีในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ความรู้ ทักษะ และความสามารถ ฉะนั้นจึงต้องอดทนอย่างมากในการไต่เต้าในระดับสูงขึ้น จนสามารถเป็นที่ยอมรับได้

ความอดทนของการทำงานสถาปัตยกรรม เริ่มต้นตั้งแต่ที่เราเริ่มต้นทำงานครั้งแรก ตอนที่เรายังเป็นสถาปนิกในระดับจูเนียร์ เราต้องเรียนรู้การทำงานจากรุ่นพี่หรือผู้อาวุโสกว่า การทำงานส่วนใหญ่จะทำตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายจากสถาปนิกซีเนียร์ คุณยังไม่สามารถได้แสดงความคิดเห็นใดๆได้มากนัก จนคุณเริ่มมีประสบการณ์มากขึ้นจากการทำงานมาแล้วหลายปี จึงเริ่มสามารถออกแบบตามความคิดเห็นของตนเอง ในช่วงระหว่างที่คุณกำลังเติบโต ต้องอดทนอย่างมากในการพิสูจน์ตัวเอง เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์จากการทำงานให้มากที่สุด แล้วนำไปปรับใช้ในรูปแบบของตนเอง สิ่งที่จะต้องเจอแน่ๆไม่มากก็น้อย คือ การถูกปฏิเสธ การได้รับงบประมาณหรือค่าออกแบบที่น้อย หรือความกดดันจากการทำงาน ความเครียด  การไม่ได้รับการยอมรับในบางครั้ง  จนบางทีมีหลายคนรู้สึกท้อจนอยากจะไปประกอบอาชีพอื่น ตัวผู้เขียนเองเคยรู้สึกเครียดจนบางทีคิดเรื่องงานตลอดเวลาแม้กลับมาบ้านแล้ว เพราะเกิดจากปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น แต่ว่าผู้เขียนต้องแก้ปัญหาและดำเนินการให้จบและสำเร็จให้ได้ เมื่อเหตุการณ์ตรงนั้นได้ผ่านไป แล้วเราย้อนมองกลับมาจะรู้ว่า มันเป็นเรื่องเล็กน้อยเท่านั้นเอง

6 ประสบการณ์

ประสบการณ์เป็นตัวบ่งบอกว่าเราเจ๋งแค่ไหน อาชีพนี้อาศัยประสบการณ์จริงในการบอกว่า เราเป็นผู้มีความสามารถ ผ่านงานประเภทไหนมาบ้าง ซึ่งประสบการณ์ทำให้เราเก่งขึ้นได้จริง เพราะการเป็นสถาปนิกและนักออกแบบต้องอาศัยการปฏิบัติ การลงมือทำ และการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดจากการทำงาน ล้วนเป็นสิ่งสำคัญอีกข้อที่ทำให้เราเป็นสถาปนิกและนักออกแบบที่มีคุณภาพ

ผู้เขียนเชื่อว่าแต่ละคนมีการเรียนรู้จากประสบการณ์ไม่เหมือนกัน เป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้ ต้องอาศัยสัญชาตญาณและทัศนคติของเราเอง สุดท้ายประสบการณ์จะหล่อหลอมตัวตนของเราว่าเราจะไปทิศทางใด ซึ่งต้นทางและปลายทางไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน มีหลายคนที่เริ่มต้นมีเป้าหมายว่าต้องเป็นสถาปนิกหลังเรียนจบ แต่สุดท้ายรู้ว่ามีความฝันหรือความถนัดสิ่งอื่น แต่ยังนำรูปแบบและกระบวนการของสถาปัตย์ไปปรับใช้ ผู้เขียนก็มีเพื่อนที่ปัจจุบันไม่ได้เป็นสถาปนิกแล้ว แต่ทำธุรกิจส่วนตัวที่ใช้ความรู้สถาปัตย์ในการออกแบบและมีความสุขกับงานที่ทำ

การมีประสบการณ์ในงานสถาปัตยกรรม ทำให้เราเติบโตได้อย่างมั่นคง สามารถพัฒนาทักษะต่างๆนอกจากเรื่องการออกแบบ เรื่องการบริหาร และทักษะอื่นๆที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมให้เราต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้าเรามีความรักและมีความสุขในการทำงาน เราจะรู้สึกอยากจะพัฒนาตัวเองดีขึ้นไปเรื่อยๆ และทำงานให้มีคุณภาพ สร้างคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสังคม

7 ทักษะการสื่อสาร

ทักษะการสื่อสาร ถือว่าสำคัญในการทำงาน และการสื่อสารสามารถทำให้เราเติบโตได้ ผู้เขียนมารู้ว่าการสื่อสารสำคัญจริงๆในงานสถาปัตย์ตอนเรียนอยู่ช่วงปี 3 หรือปี 4 การสื่อสารในที่นี้คือ รู้วิธีพูด เข้าใจในสิ่งที่พูด สามารถพูดสิ่งที่เราคิดให้คนอื่นเข้าใจได้ง่ายๆ

ผู้เขียนเคยอ่านบทความของแฟรงก์ ลอยด์ ไรต์บอกว่า “ถ้าคุณเล่างานสถาปัตยกรรมของคุณให้ยายฟัง แล้วยายไม่เข้าใจ แสดงว่าคุณไม่เข้าใจงานของคุณ” หมายความว่าเวลาที่เราจะนำเสนออะไร หรือจะเล่าอะไรให้ใครฟัง เราต้องเข้าใจเรื่องราวเหล่านั้นอย่างถ่องแท้ แม้ว่าเรื่องที่เล่าจะยากมากๆ เราต้องสามารถสื่อสารให้ดูเรียบง่ายที่สุด นั่นคือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

ผู้เขียนมองว่าการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน และการทำแบบพรีเซนเทชั่นต่างๆ เป็นทักษะที่มีความสำคัญมาก สามารถฝึกฝนกันได้ ซึ่งการสื่อสารที่ดีต้องมาพร้อมกับความมั่นใจในตนเอง ผู้เขียนเคยไปฟังบรรยายของสถาปนิกที่มีชื่อเสียงทั้งไทยและต่างประเทศสมัยยังเป็นนักศึกษา พอเรียนจบแล้วทำงานไม่ค่อยได้ไปฟังการบรรยายเท่าไหร่ เท่าที่ผู้เขียนสังเกตสถาปนิกต่างชาติ เวลาพวกเขาเล่างานให้พวกเราได้ฟัง พวกเขาจะดูมีความมั่นใจ มีความเชื่อมั่นในผลงาน และเล่าเรื่องออกมาได้อย่างเรียบง่ายที่สุด ทำให้คนที่มาฟังเข้าใจได้หมด ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่าการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพต้องมีการฝึกฝนอย่างไร คิดว่าคงไม่มีหลักตายตัว ซึ่งการออกไปดู ไปฟัง ไปเห็นบ่อยๆช่วยได้ในระยะแรก เราได้เห็นรูปแบบสากลจนชินตา หลังจากนั้นจึงค่อยปรับประยุกต์ในรูปแบบของตนเอง มีวัจนภาษาของแต่ละคน

ส่วนการสื่อสารในรูปแบบการเขียน และการทำพรีเซนเทชั่น ในส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าต้องอ่านหนังสือบ่อยๆ ออกไปเห็นงานดีๆ และต้องฝึกฝนลงมือปฏิบัติ ซึ่งตัวผู้เขียนเองจะอ่านหนังสืองานออกแบบกราฟิก หนังสือศิลปะ หนังสือเกี่ยวกับงานออกแบบ และหนังสือปรัชญา ถ้าเราอ่านและศึกษามันมากพอ เหมือนเรามีคลังไอเดียอยู่ในหัวที่สามารถเอามาปรับใช้ได้ทุกเมื่อ แต่ไม่ใช่เป็นการลอกเลียนแบบ แต่เป็นการเพิ่มประสบการณ์การรับรู้ให้ตัวเราเอง

8 เป็นมืออาชีพ

ความเป็นมืออาชีพ คือ เราประกอบอาชีพด้วยทักษะความรู้ ความชำนาญตามความรู้ที่เรียนมา นอกจานี้ความเป็นมืออาชีพรวมไปถึงความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ และการมีจรรยาบรรณต่อวิชาชีพ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการสร้างมาตรฐานการทำงานที่มีคุณภาพและสร้างความน่าเชื่อถือในด้านวิชาชีพ

ในสายตาของผู้เขียนความเป็นมืออาชีพนั่นหมายถึง เราต้องมีความรับผิดชอบที่สูง มีมาตรฐานสูง และต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต นำความรู้ความสามารถและสติปัญญาของตนในการประกอบอาชีพให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นหรือสังคม เป็นแบบอย่างที่ดี ถามว่าความเป็นมืออาชีพว่าทำยากหรือไม่ มันไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย แม้แต่ตัวผู้เขียนเองคิดกับตัวเองเสมอว่า “เราต้องเป็นมืออาชีพ” บางครั้งไม่แน่ใจว่าเราเป็นมืออาชีพดีพอแล้วหรือยัง เลยทำให้ผู้เขียนเป็นคนที่ค่อนข้างระมัดระวังอยู่ตลอด ทั้งเรื่องข้อผิดพลาดหรือการวางตัวต่างๆ อาจเพราะลึกๆแล้วผู้เขียนก็ไม่ได้มั่นใจในตัวเองขนาดนั้นและคิดมากกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้นความเป็นมืออาชีพในมุมมองผู้เขียนมันคือสิ่งที่ผู้เขียนมองเห็นจากบุคคลอื่นๆในอาชีพเดียวกันที่ผู้เขียนรู้สึกชื่นชมในความเป็นมืออาชีพของพวกเขา

ผู้เขียนเห็นว่าคนที่มีความเป็นมืออาชีพมักจะเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูงมากๆ มีระเบียบวินัย  และพยายามทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด จะไม่ปล่อยผ่านง่ายๆ ส่วนใหญ่พวกเขาจะไม่ทิ้งงานหรือปัดความรับผิดชอบถ้าอยู่ๆงานที่ทำมีอุปสรรคหนักมากหรือเกิดความขัดแย้ง แต่จะต่อสู้ไปจนจบ นอกจากนี้ความเป็นมืออาชีพยังหมายถึงภาวะความเป็นผู้นำ ความเสียสละ การวางตัวในแต่ละบทบาทหน้าที่ และการนำความรู้ทางวิชาชีพทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พัฒนางานให้มีคุณภาพเพื่อยกระดับวิชาชีพ

ถ้าฟังดูแล้วลักษณะที่กล่าวถึง ดูเป็นคนที่เพอร์เฟคคนหนึ่ง ทั้งนี้ผู้เขียนพูดในแง่ของการทำงาน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนิสัยส่วนตัว แต่ความเป็นมืออาชีพมันจะช่วยให้เราสามารถประกอบอาชีพต่อไปได้อย่างมั่นคง ผู้ที่ร่วมงานกับเราหรือลูกค้าจะเชื่อมั่นและไว้วางใจ ซึ่งบอกเลยว่ามันไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย

9 ความรอบรู้

ความรอบรู้ในยุคปัจจุบันถือว่ามีความสำคัญมาก เราไม่ควรที่จะรู้เพียงแต่ความรู้ภายในวิชาชีพเพียงอย่างเดียว แต่ความรู้รอบตัวอื่นๆ หรือทักษะอื่นๆที่เราสนใจ มันจะทำให้เราสามารถทำงานได้หลากหลายมากขึ้น ผู้เขียนคิดว่าการที่เรามีความรู้รอบตัวในด้านอื่นๆย่อมมีความคิดสร้างสรรค์ได้มากเช่นกัน เหมือนกับว่าความรู้ทำให้มีทางเลือกหลากหลายในการทำงาน ย่อมทำงานที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆก่อเกิดประโยชน์กับส่วนร่วม

ยกตัวอย่าง หากเราเป็นสถาปนิกหรือนักออกแบบ เราจะต้องรู้เรื่องความงามของศิลปะ และหลักการคณิตศาสตร์ในการคำนวณโครงสร้าง และสัดส่วนความงามของงานสถาปัตยกรรมหรืองานเฟอร์นิเจอร์ หากมีความรู้วิทยาศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องเคมี จะทำให้เราเข้าใจเรื่องการใช้วัสดุประเภทต่างๆ ที่กล่าวมานี้คงเป็นพื้นฐานทั่วๆไปในการเรียนสถาปัตย์ แต่ในยุคปัจจุบันผู้เขียนกลับมองว่า เราต้องเข้าใจความเป็นไปของโลก เพราะทักษะความรู้ความสามารถตรงนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ในการออกแบบและสร้างอาคารเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถออกแบบและพัฒนาสิ่งอื่นๆที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมได้มากมาย ขึ้นชื่อว่าเป็นสถาปนิก เป็นได้ทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย แต่ ณ ตอนนี้คงต้องเป็นผู้ที่สามารถทำนุบำรุงรักษาให้ดีขึ้น

ผู้เขียนคิดว่าคนเราไม่ควรหยุดที่จะเรียนรู้ เราคงยังศึกษาความเป็นไปต่างๆบนโลกใบนี้อย่างเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ผู้เขียนไม่อยากให้เราปิดกั้นการเรียนรู้ด้วยเหตุผลว่าไม่มีเวลา หรือฉันประกอบอาชีพนี้ ไม่จำเป็นต้องรู้ด้านอื่นแล้ว ยกตัวอย่างบทความ “Plastic Innovation รีไซเคิลพลาสติกให้เป็นวัสดุก่อสร้าง” สถาปนิกที่เข้าใจว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลง ขยะพลาสติกเยอะมากเกินกว่าจะกำจัดได้หมด จึงนำพลาสติกมาแก้ปัญหาโดยแปลงเป็นวัสดุที่เอื้อต่อปัจจัยสี่ของมนุษย์ ที่สำคัญยังช่วยให้ระบบนิเวศกับเข้าสู่สภาวะสมดุล เป็นการนำความรู้มาช่วยทำนุบำรุงและรักษาสภาพแวดล้อมนั่นเอง

10 เป้าหมายที่แรงกล้า และทำงานให้หนัก

การทำงานให้หนักอย่างมีเป้าหมาย ย่อมมีคุณค่ากว่าการทำงานให้หนักอย่างไร้ป้าหมาย ซึ่งการทำงานหนักในความหมายของผู้เขียนไม่ใช่ทำงานหามรุ่งหามค่ำจนเจ็บไข้ได้ป่วย อย่างนี้คือการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ แต่การทำงานหนักอย่างมีเป้าหมาย คือ รู้ว่าเราทำงานนี้เพื่ออะไร จากต้นทางไปสู่เป้าหมายปลายทางอย่างไร นั่นคือการทำงานที่ก่อเกิดการพัฒนาที่ดี เป็นการทำงานที่รู้จักตนเอง ซึ่งผู้เขียนยังจำคำพูดของอ.เมธา บุนนาคไว้ได้ที่บอกว่า “คนที่มีความสุขที่สุดในโลก คือคนที่ได้ทำในสิ่งที่ตนอยากทำ” ตอนนั้นจนถึงตอนนี้ผู้เขียนชอบประโยคนี้ อาจเป็นเพราะว่าเราอยากเป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นคนที่มีความสุขกับการทำงานไปตลอดชีวิต

การมีเป้าหมายและความฝันของตน จะทำให้เรามีความทะเยอทะยาน ไม่กลัวความเหนื่อยยากและอุปสรรคที่เจอในระหว่างทาง พ่อผู้เขียนเคยบอกผู้เขียนว่า ทุกคนเริ่มต้นทำงานเหมือนกัน แต่ปลายทางไม่มีใครเหมือนกัน บางคนมีความคิดอยากจะทำงานในองค์กรต่อไปเรื่อยๆจนไต่เต้าไปอยู่ในตำแหน่งระดับสูง หรือบางคนรีบเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อจะได้ตั้งบริษัทของตนเอง พ่อบอกว่าสองคนนี้มีใครถูกหรือใครผิด คำตอบคือ ไม่มีใครผิดและถูก เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่กับวิธีคิดว่าเราคิดอย่างไร และจะทำมันอย่างไร

อาชีพสถาปนิกและนักออกแบบไม่มีคำว่าเกษียณ เหมือนมันทำได้ตลอดชีวิต ถ้าไม่หมดไฟซะก่อน หรือหันไปทำอาชีพอื่น เท่าที่ผู้เขียนเห็นสถาปนิกอาวุโสหลายคนแม้อายุจะล่วงมา 70 หรือ 80 ปีก็ยังเห็นว่าพวกเขาทำงานอยู่ และยังทำงานได้ดี เลยคิดว่าอาชีพนี้ไม่มีวันเกษียณ ยังคงทำงานหนักแบบมีเป้าหมายอย่างต่อเนื่องต่อไป

เดินหน้าต่อไป…..

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนคงบอกตัวเองว่าทำงานต่อไป ตราบใดที่เรายังสนุกกับมัน และหวังว่าท่านผู้อ่านและท่านผู้ฟังคงเป็นเช่นนั้น มีแรงบันดาลใจและเป้าหมายอยู่ทุกวัน มีความสุขกับการทำงาน ขอขอบคุณที่ติดตาม wonderfularch.com  ขอบคุณค่ะ

คลิกอ่านบทความแปล : 10 สิ่งที่พวกเขาไม่ได้สอนคุณในโรงเรียนสถาปัตยกรรม

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here