Street Art การพัฒนาเมืองเก่าด้วยศิลปะ ให้เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา
Street Art การพัฒนาเมืองด้วยศิลปะ ให้เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา

การเติบโตของเมืองเกิดจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และในทางกลับกันเมืองก็ซบเซาลงได้หากไม่มีผู้คนไปอาศัย จึงเห็นได้ว่าความเป็นเมืองเริ่มต้นจากคน จนเกิดเป็นหมู่บ้าน เป็นสังคม และเป็นเมืองในที่สุด แต่ทั้งนี้ที่เกริ่นมาข้างต้นหมายความว่า ในยุคโลกาภิวัตน์นี้ยังมีวิธีการแก้ปัญหาภาวะเมืองซบเซาให้กับมามีชีวิตชีวาได้ นั่นคือ Street Art

ผู้เขียนมีความสนใจเรื่องของ Street Art เพราะว่ามันเป็นศิลปะที่มีความอิสระ เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัยและเป็นส่วนหนึ่งกับเมือง อีกทั้งยังสามารถทำให้เมืองมีอัตลักษณ์ มีเรื่องราว และศิลปะของเมืองนั้นๆได้ ผู้เขียนจะเล่าเรื่อง Street Art ในประเด็นเรื่องการส่งเสริมเมือง ชุมชน และสังคมอย่างไร เราจะได้เห็นการพัฒนาเมืองให้กับมามีชีวิตได้ด้วยศิลปะ

แนวความคิดทั่วไป

แนวความคิดทั่วไปของการสร้าง Street Art คือ การระบายสีผนังหรืออาคารที่ไม่มีการใช้งานแล้ว เป็นพื้นที่ปล่อยของของศิลปินที่อยากจะแสดงความคิดแบบอิสระ ส่วนใหญ่จะเป็นงานกราฟฟิตี้ ศิลปะตัวอักษร หรือเป็นการแสดงออกทางความคิดในเรื่องของการเมือง การล้อเลียน การโฆษณาต่างๆ จนในยุค 80 รูปแบบการสร้าง Street Art เน้นไปที่คอนเซ็ปต์มากขึ้น ภาพที่เขียนจะมีที่มาที่ไปที่ชัดเจน เป็นการแสดงตัวตนและลายเส้นของศิลปิน เปรียบเสมือนแกลลอรีศิลปะที่มีอิสระต่อผู้พบเห็น

จนในยุคปัจจุบันหลายๆประเทศทั่วโลกได้นำ Street Art มาช่วยในการพัฒนาเมืองให้สวยงาม มีความปลอดภัย ทำให้พื้นที่ที่ทรุดโทรมให้กับมามีความสวยงาม มีสีสัน และทำให้เมืองมีความปลอดภัยต่อการก่ออาชญากรรมและยาเสพติดได้ ฉะนั้น Street Art ในยุคนี้จะต้องเป็นศิลปะที่สร้างคุณค่า สื่อสารเรื่องราวของสังคม และทำให้ชุมชนหรือเมืองดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม

Street Art กับการพัฒนาเมืองเก่า

การพัฒนาเมืองเก่าในหลายๆประเทศ โดยเฉพาะในทวีปเอเชียจะเห็นการสร้าง Street Art อยู่มากมาย มีความสวยงาม ทันสมัย ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นที่ไต้หวัน เกาหลี มาเลเซีย หรือแม้แต่ประเทศไทย ซึ่งเราจะเห็น Street Art อยู่ตามย่านเมืองเก่า เมืองร้างที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ด้วยแนวคิดของหน่วยงานภาครัฐ ลองมาดูตัวอย่างการใช้ Street Art ในการพัฒนาเมืองเก่า ดังนี้

อินเดีย

Street Art India
Street Art บนผนังอาคารเก่าที่ Lodhi Colony (Image by St+art India)

ประเทศอินเดียมีการส่งเสริมศิลปะแบบ Street Art อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ถึงขั้นมีการจัดตั้งมูลนิธิ St+art India ซึ่งเป็นมูลนิธิที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มศิลปินหลากหลายสาขาที่สนใจเรื่องของเมืองและ Street Art พวกเขาเริ่มดำเนินการในชุมชน Shahpur Jat อยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย มีความหนาแน่นของตึกรามบ้านช่องและผู้คนที่มาอาศัย เหล่าศิลปินเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อขออนุญาตทาสีผนังอาคารบ้านเรือน พวกเขาจะวาดภาพเรื่องราวของผู้คนที่นั่น เช่น ภาพมหาตมะ คานธี บนผนังของสถานีตำรวจ ภาพศิลปวัฒนธรรม ภาพวิถีชีวิต ภาพลวดลายศิลปะของอินเดีย ล้วนแล้วเป็นภาพที่สื่อความเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ เล่าเรื่อง สื่อความหมาย ประวัติศาสตร์ของอินเดีย โดยพวกเขาร่วมมือกับสถานทูตเครือข่ายประเทศต่างๆ เพื่อให้ศิลปินแต่ละประเทศได้มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานที่นี่ มีสปอนเซอร์คือ Asian Paints เป็นบริษัทผลิตสีของมุมไบ เป็นผู้ให้สีจำนวนมากแก่ศิลปินในการรังสรรค์ผลงานให้เมืองมีความสวยงาม

การทำงานของกลุ่ม St+art พวกเขาจะดูรูปแบบสไตล์การวาดของศิลปินแต่ละคน แล้วเลือกพื้นที่ที่ดำเนินการ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ในย่านชุมชน ผู้คนจะรู้สึกภูมิใจ มันสามารถเป็นสัญลักษณ์นำทางไปยังสถานที่ต่างๆ  เป็นแกลลอรีเล่าเรื่องราวของชุมชน ผู้คน วัฒนธรรม กลายเป็นว่า Street Art ของเหล่าศิลปินเป็นจุดที่ส่งเสริมให้คนเดินเท้าได้มากขึ้น หลังจากนั้นพวกเขาเลือก Lodhi Colony เป็นอาคารเก่าที่อยู่ทางตอนใต้ของกรุงนิวเดลี เดิมเป็นอาคารราชการที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว อยู่ติดกับสวนสาธารณะและพื้นที่การค้า ทำให้กลุ่ม St+art เลือกอาคารแห่งนี้ทำเป็นย่านศิลปะอย่างจริงจัง ทำให้ย่าน Lodhi Colony มีชื่อเสียงขึ้นมา คนในพื้นที่ก็ภูมิใจที่ที่ตนอยู่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นจุดเช็คอินถ่ายรูป คนในพื้นที่รู้สึกหวงแหนชุมชนตนเองมากขึ้น ช่วยกันดูแลรักษาความสะอาด เศรษฐกิจเมืองเก่าที่มีอาคารทรุดโทรมกับมาคึกคักอีกครั้ง ปัจจุบัน Street Art ที่ Lodhi Colony เป็นที่ศิลปินมารังสรรค์ผลงานทุกๆปี กลายเป็นแกลอรีสาธารณะหมุนเวียนที่เปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวอยู่เสมอ

ไต้หวัน

ประเทศไต้หวัน เป็นประเทศที่มีส่วนผสมของความเป็นญี่ปุ่นและจีน ฉะนั้นสภาพแวดล้อมของเมืองในไต้หวันมีวัฒนธรรมแบบจีนแต่มีระเบียบเรียบร้อยแบบญี่ปุ่น เป็นประเทศที่นำศิลปะแบบ Street Art มาพัฒนาเมือง โดยเฉพาะเมืองเก่า รัฐบาลไต้หวันได้วางแผนพัฒนาเมืองเก่าให้เป็นเมืองที่สามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้กลับมาทำมาหากิน ประกอบอาชีพสร้างรายได้ เพื่อหนุนเศรษฐกิจของเมืองเก่าที่มีแต่ผู้สูงอายุให้กับมาเติบโตคึกคักอีกครั้ง

ไถ่หนัน เป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองเก่าของไต้หวัน แต่เดิมไถ่หนันเป็นเมืองเก่าอนุรักษ์ที่แบจะไม่มีคนอาศัยอยู่แล้ว คนรุ่นใหม่เลือกที่จะไปทำงานในเมืองใหญ่แทน รัฐบาลเห็นว่าหากไม่แก้ปัญหาเมืองจะตายลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นภาครัฐจึงต้องนำศิลปะแบบ Street Art ดึงดูดคนรุ่นใหม่

Street Art
Blueprint Culture & Creative Park ที่ทาสีอาคารเก่าเป็นสีน้ำเงิน และวาดเส้นอาคารเป็นสีขาวทั้งหมด ดูเหมือนแบบพิมพ์เขียว

Blueprint Culture & Creative Park เป็นการปรับปรุงอาคารร้างเป็นหอพักเก่าให้เป็น Street Art ที่เหมือนพิมพ์เขียวแบบก่อสร้างสถาปัตยกรรมทั้งหลัง เพื่อหวังจะฟื้นฟูอาคารแห่งนี้เป็นอุทยานเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และส่งเสริมการค้างานศิลปะและงานฝีมือ เป็นการผลักดันพื้นที่และส่งเสริมอาชีพให้กับศิลปินและคนรุ่นใหม่

ผู้เขียนเคยไปชม Blueprint Culture & Creative Park มาแล้วครั้งหนึ่ง ลักษณะงานที่นี่  เป็นการทาสีอาคารทั้งหลังเป็นสีน้ำเงินแบบเดียวกับพิมพ์เขียว จำลองรูปแบบอาคารเดิม ใช้เส้นสีขาววาดภาพการตกแต่งภายในในรูปแบบ perspective ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น กระถามต้นไม้ ทุกอย่างที่เขียนขึ้นมีสัดส่วนเท่ากับของจริงทั้งหมด นักท่องเที่ยวจึงชอบมาถ่ายรูป ด้านหลังจะมีตรอกร้านค้าขายงานฝีมือ งานศิลปะ และมีจุด Street Art เพิ่มเติมอีกตามอาคารและตรอกซอกซอย เป็นกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับย่านเมืองเก่าได้เป็นอย่างดี

สิงคโปร์

ประเทศสิงคโปร์ มีจุด Street Art ที่รังสรรค์ขึ้นมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่เล่าเรื่องศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายของสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะแบบอินเดีย จีน หรือแบบสากล อย่างที่วัด Thian Hock Keng มีการรังสรรค์ภาพบนผนังรั้ววัดที่มีความยาวกว่า 40 เมตร ที่สื่อเรื่องราวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวจีนฮกเกี้ยน มีความสวยงาม เรื่องราวที่สื่อบนผนังเหมือนผ้าที่ถักทออย่างเป็นระเบียบ

ในย่าน Katong มีภาพศิลปะบนผนังที่อยู่ในช่องว่างของตึกแถว 2 หลัง ที่เพ้นท์เป็นรูปมือขนาดใหญ่ 2 มืออยู่ระหว่างผนังตึกแถว 2 หลังที่ทาสีเหลืองทั้งหลัง มีช่องทางเดินตรงกลาง ทำให้พื้นที่ตรอกแคบๆมีความน่าสนใจ ดีเทลของรูปมือขนาดใหญ่นี้เป็นการทำลวยลายให้มีลักษณะคล้ายกระเบื้องเปอรานากัน (Peranakan) หรือที่รู้จักกันว่า  บาบ๋า-ย่าหยา เป็นกลุ่มคนจีนมลายู หลายๆชิ้นมาต่อกัน เป็นการสืบสานวัฒนธรรมผ่านสัญลักษณ์ให้แก่คนรุ่นหลัง

ฮ่องกง

ประเทศฮ่องกง มี Street Art ที่ใช้ลักษณะกายภาพของเมืองมาสร้างสรรค์ให้เมืองมีความน่าสนใจมากขึ้น อย่างที่ถนน Hollywood มีการวาดภาพตึกแถวสมัยเก่าเรียงรายขึ้นไปตามความลาดเอียงของถนน ภาพวาดไม่ได้มีอะไรมาก นอกจากพื้นหลังอาคารสีฟ้าและตึกแถวเรียงไปตามทางเรื่อยๆ แต่สร้างความสนใจให้แก่ผู้มาเยือนเป็นอย่างมาก เพราะสามารถสื่อถึงความเป็นเมือง เป็นตึกแถวที่อยู่กันอย่างหนาแน่น นั่นคืออัตลักษณ์เดิมของฮ่องกง

ในย่าน Art Lane มี Street Art ที่เล่นกับอาคารและบันได โดยมีการทาสีขั้นบันไดขั้นตึกแถวสองอาคารเป็นสีรุ้ง ส่วนตัวอาคารเพ้นท์ภาพแนวกราฟฟิกตี้สีสันสดใส ทำให้ตึกแถวเก่าที่ตั้งกันแน่นมีความสว่างสดใสขึ้นมา พื้นที่ตรงนั้นไม่ดูมืดทึบ ทำให้เห็นว่าฮ่องกงนำ Street Art มาใช้ในการแก้ปัญหากายภาพของเมืองที่มีสภาพแออัดของตึกและอาคารต่างๆ

บทสรุป

จากที่เล่ามาทั้งหมด คือการพัฒนาเมืองเก่า กายภาพเดิมของเมืองให้กับมาคึกคัก กระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน ย่าน และเมืองด้วย Street Art ให้เมืองมีสีสัน มีเรื่องเล่า และสืบสานประเพณีวัฒนธรรมของพื้นที่ได้ ทำให้ต่อไป Street Art จะเป็นมากว่าศิลปะข้างถนน แต่มันคือสารที่บอกต่อแก่คนมาเยือนว่า เมือง ย่าน หรือชุมชนได้ผ่านประวัติศาสตร์มากมาย เป็นการสื่อสารผ่านการมองเห็น สัมผัสและรับรู้ได้ด้วยใจ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here