Eileen Gray สถาปนิกหญิงที่เฟื่องฟูในยุคโมเดิร์น
Eileen Gray สถาปนิกหญิงที่เฟื่องฟูในยุคโมเดิร์น

ในยุคโมเดิร์น เป็นยุคที่สถาปนิกเฟื่องฟูมาก เพราะเป็นยุคของโลกอุตสาหกรรม เครื่องจักร และการเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นยุคที่สร้างจุดเปลี่ยนที่นำไปสู่ยุคปัจจุบัน ผู้หญิงจากที่ต้องเป็นแม่บ้าน ทำงานอยู่ที่บ้าน ออกมาทำงานนอกบ้านมากขึ้น และผู้หญิงมีความเป็นผู้นำมากขึ้น

Eileen Gray เป็นสถาปนิกหญิงที่ทำงานในช่วงยุคโมเดิร์น เธอได้ทำงานและเรียนรู้กับสถาปนิกและศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น Le Corbusie , Jean Badovici ฯลฯ ทำให้เธอเป็นทั้งสถาปนิกและศิลปิน ผลงานที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ บ้านพักตากอากาศ E-1027 ในเมือง Roquebrune-Cap-Martin ประเทศฝรั่งเศส

ยุคโมเดิร์น ผู้หญิงที่ขึ้นมาโดดเด่นในวงการศิลปะ หรือวงการสถาปัตยกรรมมีน้อยมาก เนื่องจากสมัยนั้นเรื่องของช้างเท้าหน้า ช้างเท้าหลังยังเป็นสิ่งที่ยึดถือกันอยู่ ผู้หญิงต้องแต่งงาน เป็นภรรยาที่ดี ดูแลครอบครัว แต่ไอรีน เกรย์ เป้นผู้หญิงที่มีหัวคิดทันสมัย อุทิศตนให้กับการทำงาน แม้จะเคยมีความรักแต่เธอเลือกไม่แต่งงานและไม่ผูกมัดกับใคร ถ้าพูดแบบง่ายๆ คือ ไอรีนเป็นผู้หญิงเท่ มีสไตล์ของตัวเอง เป็นผู้หญิงทำงาน และมีความสามารถเท่ากับผู้ชาย

ประวัติ Eillen Gray

ไอรีน เกรย์ เป็นชาวไอร์แลนด์ เกิดในช่วงปี 1878 เป็นยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นยุคที่ชายและหญิงยังไม่เท่าเทียมกัน ผู้ชายคือผู้นำ แต่ไอรีนเป็นผู้หญิงที่ได้รับการศึกษาที่ดี ครอบครัวของเธอเป็นศิลปิน ทำให้ไอรีนมีความรู้และทักษะทางด้านศิลปะ เธอเข้าศึกษาต่อโรงเรียนศิลปะ “Slade School of Fine Art” ในกรุงลอนดอน เป็นโรงเรียนสหแรกๆที่มีนักเรียนทั้งชายและหญิง การที่ไอรีนอยู่ที่ Slade ทำให้เธอมีประสบการณ์ที่ดีในด้านศิลปะและงานออกแบบ โดยเฉพาะงานเฟอร์นิเจอร์

การทำงาน

หลังเรียนจบ ไอรีนได้ไปทำงานเกี่ยวกับงานศิลป์และเฟอร์นิเจอร์อยู่พักหนึ่ง ทำให้เธอได้เรียนรู้เรื่องงานเฟอร์นิเจอร์จากนักออกแบบและงานจิตรกรรมจากอาจารย์ เช่น Philip Wilson Steer และ Henry Tonks

งานเฟอร์นิเจอร์

เธอย้ายไปอยู่ในกรุงปารีส เพื่อเรียนต่อทางด้านศิลปะที่ Académie Colarossi จนกระทั่งแม่ของเธอป่วย จึงย้ายกลับไปกรุงลอนดอน แล้วกลับมาปารีสอีกครั้ง เธอตั้งใจลงหลักปักฐานอยู่ที่ปารีส และเริ่มไปเรียนรู้งานกับ Seizo Sugawara ศิลปินชาวญี่ปุ่น เพื่อเรียนรู้เรื่องการเคลือบเงาและงานซ่อมแซมเครื่องเขินต่างๆเพื่อส่งไปจัดแสดงที่ the Exposition Universelle เป็นงานนิทรรศการระดับโลก จัดขึ้นเพื่อแสดงถึงการที่ชาติฝรั่งเศสปฏิวัติประเทศให้เป็นชาติที่พัฒนาและเป็นชาติมหาอำนาจ ซึ่งไอรีนได้เรียนรู้การทำงานและทุ่มเทอย่างมาก จนเธอและซูงาวาระสามารถตั้งกิจการเป็นโรงงานแลกเกอร์ได้

Seizo Sugawara ศิลปินชาวญี่ปุ่น_wonderfularch.com
Seizo Sugawara ศิลปินชาวญี่ปุ่น
โชว์รูม Jean Désert ของไอรีน เกรย์ในปี 1922_Wonderfularch.com
โชว์รูม Jean Désert ของไอรีน เกรย์ในปี 1922 (ภาพจาก : https://journals.openedition.org/craup/8850)

นอกจากนี้ไอรีนยังเปิดแกลลอรีของตัวเอง ชื่อ Jean Désert ในปี 1922 เป็นแกลลอรีและโชว์รูมขายงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ทำให้ลูกค้าของเธอส่วนใหญ่เป็นคนมีฐานะ เป็นคนมีเงิน ถือว่าไอรีน เกรย์ เป็นคนแรก ๆที่บุกเบิกโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ ทำขายเอง และมีผลงานของเพื่อนๆเธอบ้าง โดยเฉพาะเครื่องเขินและงานแกะสลักของซูงาวาระ ไอรีนได้ร่วมหุ้นกับเพื่อนๆในการทำโชว์รูมและมีโรงเวิร์คชอป สำหรับผลิตงานเฟอร์นิเจอร์ของตัวเอง

ไอรีนร่วมหุ้นกับ Evelyn Wyld เพื่อนของเธอ ไอรีนลงทุนไปห้าหมื่นฟรังก์ มีหน้าที่ดูแลเรื่องดีไซน์ วัสดุ การผลิต และหาลูกค้า ส่วน Wyld ลงทุนไปหนึ่งหมื่นฟรังค์ ดูแลเรื่องเทคนิคและระยะเวลาการทำงาน และเธอออกแบบพรมขายที่โชว์รูมด้วย

จากข้อมูลที่ผู้เขียนอ่านมาของ journals.openedition.org เขียนว่า คนที่จริงจังกับงานเฟอร์นิเจอร์จะเป็น Evelyn Wyld มากกว่าไอรีน เกรย์ โดยขยันส่งผลงานไปโชว์ตามงานนิทรรศการต่างๆในปารีส ในขณะที่ไอรีนแทบจะไม่ได้ใส่ใจ ไปโชว์แค่ครั้งสองครั้ง ทำให้ในระยะหลัง เส้นทางการเติบโตในสายงานจึงถูกแยกออกจากกัน

Wyld เติบโตในด้านสิ่งทอ ตามความถนัดของเธอ ส่วนไอรีนเริ่มหันเหไปสนใจงานสถาปัตยกรรม และเริ่มแยกย้ายไปเปิดโชว์รูมของแต่ละคน ทำให้โชว์รูม Jean Désert ปิดตัวลงในปี 1930

ไอรีน เกรย์ ถือว่าเป็นผู้หญิงเพียงไม่กี่คนในยุคนั้น ที่สามารถขึ้นมาอยู่แนวหน้าในวงการเฟอร์นิเจอร์ ทำให้เธอได้พบกับปรมาจารย์ด้านสถาปัตยกรรมในยุคนั้น เช่น Le Corbusier , J.J.P Oud  และ Jean Badovici

การทำงานสถาปัตยกรรม

ไอรีน เข้าสู่วงการสถาปัตยกรรม จากการทีเลอ คอร์บูซิเยร์ ได้ใช้เฟอร์นิเจอร์ของไอรีน ในงานตกแต่งภายในของเขา ทำให้เธอได้เข้ามาในโลกสถาปัตยกรรม การเรียนรู้งานสถาปัตย์กลายเป็นสิ่งที่เธอหลงใหล งานเฟอร์นิเจอร์ที่มีชื่อของเธอ คืองานที่ออกแบบให้มาดาม Mathieu-Lévy เป็นงานที่ดูทันสมัย โมเดิร์นจนถึงปัจจุบัน

ในการทำงานสถาปัตยกรรม ไอรีนได้รับการสนับสนุนจาก เลอ คอร์บูซิเยร์ และ J.J.P Oud  ได้ออกแบบ้านจำนวน 2 หลัง ส่วนใหญ่เป็นผู้ช่วยเลอ คอร์บูซิเยร์ในงานตกแต่งภายใน จนเธอสามารถมีความรู้ความสามารถในการทำงานสถาปัตยกรรมด้วยตัวเอง

จนกระทั่งไอรีน ได้พบกับ ฌอง บาโดวิชี เป็นสถาปนิกและนักเขียนชาวโรมาเนีย เขาเป็นผู้สนับสนุนเธอในการทำงานสถาปัตยกรรม ทั้งสองคนได้คบหากันเป็นคู่รัก ไอรีนได้ทำการศึกษาเรื่องสถาปัตยกรรมด้วยตัวเอง เรียนรู้เรื่องทฤษฏี เรื่องของเทคนิค การก่อสร้าง และเดินทางร่วมกับบาโดวิชีไปดูงานสถาปัตยกรรมที่สำคัญต่างๆ

ไอรีนเริ่มออกแบบบ้านพักตากอากาศร่วมกับบาโดวิชีใกล้ๆโมนาโก เพื่อใช้ชีวิตร่วมกัน เนื่องจากว่าฝรั่งเศสในสมัยนั้น ไม่ให้ชาวต่างชาติถือครองทรัพย์สิน และที่ดินในประเทศ

บ้านพักตากอากาศ E – 1027

บ้านพักตากอากาศ E - 1027_wonderfularch.com
บ้านพักตากอากาศ E – 1027 (ภาพจาก : http://www.e1027.org/)

E – 1027 เป็นบ้านพักตากอากาศในรูปแบบโมเดิร์น ถือเป็นผลงานชิ้นเอกของไอรีน ชื่อ E – 1027 ย่อมาจาก

  • E คือ Eileen
  • 10 แทนตัวอักษร J คือ Jean’              
  • 2 แทนตัวอักษร B คือ Badovici
  • 7 แทนตัวอักษร G คือ Grey

ฉะนั้น E-1027 เป็นการสื่อความเป็นผลงานชิ้นเอกที่เกิดจากกลุ่มสถาปนิก 3 คนร่วมกันสร้างขึ้นมา

หากดูรูปทรงของอาคารบ้านพักตากอากาศหลังนี้ จะเป็นทรงสี่เหลี่ยม มีสีขาวล้วน ไอรีนได้รับอิทธิพลมาจาก เลอ คอร์บูซิเยอร์ ในกฎ 5 ประการ ตัวบ้านตั้งอยู่บนพื้นของภูเขาที่ Roquebrune-Cap-Martin ประเทศฝรั่งเศส ไอรีนได้ออกแบบตัวสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งภายในด้วยตัวเอง แต่สุดท้ายไอรีนต้องแยกทางกับบาโดวิชี หลังจากที่ก่อสร้างบ้านเสร็จ ทำให้ไอรีนอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้เพียงลำพัง ส่วนบาวิชีมาเยี่ยมบ้างเป็นครั้งคราว

มาดูในเรื่องงานสถาปัตยกรรมของ E- 1027 จะเห็นว่ารูปทรงภายนอกของอาคาร เป็นทรงลูกบากศ์สีขาว มีลักษณะแคบและยาว มีการใช้เสาลอยยกอาคารขึ้นสูง การเจาะช่องหน้าต่างเป็นทางยาว หากวิเคราะห์ดีๆแล้ว บ้านพักตากอากาศหลังนี้ มีจุดเหมือนกับวิลล่าซาวอย ของเลอ คอร์บูซิเยร์

ลักษณะการออกแบบรูปทรงอาคาร และช่องหน้าต่าง ที่คล้ายคลึงกับวิลล่าซาวอย ของเลอ คอร์บูซิเยร์_wonderfularch.com
ลักษณะการออกแบบรูปทรงอาคาร และช่องหน้าต่าง ที่คล้ายคลึงกับวิลล่าซาวอย ของเลอ คอร์บูซิเยร์ (ภาพจาก www.e1027.org)

ลักษณะผังของอาคารเป็นรูปตัวแอล หลังคาแบน หน้าต่างสูงจากพื้นจรดฝ้าเพดาน มีบันไดวนขึ้นไปยังชั้น2 และการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ การตกแต่งภายในเป็นแบบอิสระ ซึ่งเลอ คอร์บูซิเยร์ชื่นชอบบ้านหลังนี้มาก หลังจากที่บ้านหลังนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ เลอ คอร์บูซิเยร์มักจะแวะมาพักที่บ้านหลังนี้อยู่บ่อยครั้ง จึงมักถูกเข้าใจผิดอยู่บ่อยๆว่า แท้จริงแล้วบ้านหลังนี้เลอ คอร์บูซิเยร์เป็นคนออกแบบ ไม่ใช่ไอรีน

การตกแต่งภายในของ E – 1027 มีการใช้เฟอร์นิเจอร์น้ำหนักเบา ซึ่งไอรีนออกแบบเฟอร์นิเจอร์เองทุกชิ้น ไม่มีผนังกั้นห้อง การตกแต่งมีความเรียบง่าย สมัยใหม่ การออกแบบพื้นที่ใช้สอย การออกแบบพื้นที่ใช้สอย เธอออกแบบตามกิจวัตรของผู้อาศัย เช่น โซฟาห้องนั่งเล่นที่สามารถปรับเป็นเตียงได้ หรือโต๊ะข้างเตียงที่สามารถวางอาหารเช้าได้ ทำจากท่อเหล็กและวงกลมประกอบกัน ทำให้มีน้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายง่าย และดูทันสมัย

E-1027 Interior_wonderfularch.com
ลักษณะการตกแต่งภายในและการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ โดยไอรีน เกรย์

พื้นที่ใช้สอยภายในบ้านประกอบด้วย ห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ ห้องทำงาน ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องแม่บ้าน และห้องนอนสำหรับแขก ที่สำคัญเธอออกแบบสวนกลางแจ้งบนหลังคาเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับอาบแดด การออกแบบทั้งหมดล้วนต่อยอดมาจากเลอ คอร์บูซิเยร์ แต่เธอไม่เห็นด้วยกับคอรูซิเยร์ที่บอกว่า บ้านคือเครื่องจักรสำหรับผู้อยู่อาศัย แต่เธอกับมีแนวคิดว่า บ้านเปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิต มีส่วนสร้างประสบการณ์ให้กับผู้อาศัย ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสความงามของบ้าน ประสบการณ์จากการใช้พื้นที่ภายในบ้านและนอกบ้าน

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้าน E-1027 มีสภาพทรุดโทรมลงเรื่อยๆ เลอ คอร์บูซิเยร์ได้เสียชีวิตลงที่บ้านหลังนี้ ระหว่างที่มาพักผ่อนฤดูร้อนเหมือนเช่นเคย หลังจากนั้นเป็นต้นมา บ้านหลังนี้จึงอยู่ในความดูแลของ Conservatoire du littoral ปัจจุบัน Association Cap Moderne ซึ่งก่อตั้งในปี 2014 เป็นผู้ดูแลบ้านหลังนี้

ปัจจุบัน Association Cap Moderne ได้บูรณะ E – 1027 ใหม่ โดยเฉพาะงานเฟอร์นิเจอร์และงานตกแต่งภายใน งบประมาณได้จากรัฐบาลฝรั่งเศสและจากการเปิดระดมทุน และเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมมาตั้งแต่ปี 2016

อิทธิพลของ Eileen Gray

ภาพยนตร์ The Price of Desire ปี 2015_Wonderfularch.com
ภาพยนตร์ The Price of Desire ปี 2015

ไอรีน เกรย์ เป็นสถาปนิกหญิงที่ยังคงถูกพูดถึงจนถึงปัจจุบัน มีการทำภาพยนตร์เรื่อง The Price of Desire ในปี 2015 กำกับโดย Mary McGuckian หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องกี่ยวกับบ้านพักตากอากาศ E-1027 ออกแบบโดยไอรีน เกรย์ เป็นงานสถาปัตยกรรมที่ขับเคลื่อนสถาปัตยกรรมโมเดิร์นให้ไปข้างหน้า นอกจากนี้หนังยังเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของเกรย์กับเลอ คอร์บูซิเยอร์ และฌอง บาโดวิชี

The Price of Desire จะได้เห็นชีวิต แรงบันดาลใจ การทำงาน ความรัก และพรสวรรค์ของไอรีน เกรย์ จนทำให้งานสถาปัตยกรรม และงานเฟอร์นิเจอร์ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

บทสรุป

Eileen Gray เป็นผู้หญิงยุคใหม่ หัวคิดก้าวหน้าในช่วงยุคสงครามโลก เธอทำให้งานออกแบบและงานสถาปัตยกรรมในยุคโมเดิร์นก้าวไปข้างหน้า เราจึงได้แง่คิดจากเธอในการอุทิศตนในการทำงาน การมีเป้าหมายที่ชัดเจน และความเท่าเทียมกันของเพศชายและเพศหญิง จากความสามารถ สติปัญญา และผลงาน

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here