City Cycling ดูการเติบโตของเมืองจักรยาน ในปัจจุบัน
City Cycling ดูการเติบโตของเมืองจักรยาน ในปัจจุบัน

City Cycling หรือ เมืองจักรยาน เป็นคำพูดที่เป็นเมืองในอุดมคติของคนยุคใหม่ เป็นเมืองในฝันที่สามารถช่วยลดมลภาวะและปัญหาการจราจรที่หนาแน่นของเมือง นอกจากนี้ทำให้สุขภาพของผู้ที่ใช้จักรยานดีขึ้น แต่การทำให้ประเทศหรือเมืองเป็นเมืองที่คนนิยมขี่จักรยาน ต้องได้รับการมีส่วนร่วมจากหลายๆฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ภาคเอกชน ภาคชุมชน หรือสถาบันการศึกษา รวมไปถึงตัวเราเองด้วย

ผู้เขียนสนใจเรื่องการสร้างเมืองจักรยานให้สำเร็จเป็นรูปธรรม จากการศึกษาตามบทความต่างประเทศ กระบวนการที่จะทำให้ประเทศมีประชาชนที่ให้ความสำคัญ

บทความนี้จะเล่าเกี่ยวกับ เมืองจักรยาน ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แล้วประเทศไทยสามารถเกิดเมืองจักรยานได้จริงหรือไม่

สถิติการเติบโตของ City Cycling

การเติบโตของเมืองจักรยาน เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุค 80 – 90 เริ่มต้นในทวีปยุโรป ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก หรือแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้หากอ่านบทความตามงานวิจัยต่างๆ การพัฒนาเมืองจักรยานให้เกิดขึ้นจริง เกิดจากความต้องการที่จะลดปัญหาการจราจร การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ หรือเพื่อสร้างเมืองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยการใช้จักรยาน

ทวีปยุโรป

ในทวีปยุโรป เป็นทวีปที่เห็นเมืองจักรยานเป็นรูปธรรมมากที่สุด และเป็นเมืองจักรยานที่เป็นมิตรต่อคนและสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัย และช่วงส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศดีขึ้น

ประเทศเดนมาร์ก

ประเทศเดนมาร์ก มีการพัฒนาเมืองจักรยานที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง จนสามารถทำให้เมืองมีระบบขนส่งทางจักรยาน ทำให้ประชากรในประเทศไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันรถยนต์ส่วนตัว ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก และทำให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี

เมืองโคเปนเฮเกน เป็นเมืองที่มีประชากรใช้จักรยานในการสัญจรไปมามากกว่ารถยนต์ เทียบสัดส่วนการใช้รถยนต์และจักรยานเป็นหนึ่งต่อห้า ประชากรใช้จักรยานไปทำงาน ไปเรียน ออกกำลังกาย และกิจกรรมอื่นๆ และมีอัตราการเติบโตของการใช้จักรยานสูงมากขึ้นทุกปี

สิ่งที่ทำให้การขี่จักรยานเป็นที่นิยมในโคเปนเฮเกน คือ การสร้างเครือข่ายเส้นทางสัญจรทางจักรยาน มีทางด่วนสำหรับจักรยานทั่วทั้งเมือง ทั้งนี้โคเปนเฮเกนเริ่มมีการบันทึกการขี่จักรยานทั่วเมืองมาตั้งแต่ปี 2513 และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้คนทั้งเมืองเห็นว่าการขี่จักรยานปลอดภัยสำหรับคนทุกเพศทุกวัยอย่างแท้จริง ปัจจุบันอัตราความปลอดภัยของการขี่จักรยานในโคเปนเฮเกนอยู่ที่ 80% และจะขึ้นไปที่ 90% ในปี 2568

รัฐบาลและกลุ่มเทศบาลเมืองต่างๆในเดนมาร์ก ต่างมองว่าการขี่จักรยานของคนในประเทศมันกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างดี ทางรัฐบาลเห็นว่าคนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง คนทำงานลาป่วยกันน้อยลง พร้อมกระตือรือร้นมาทำงานมากขึ้น ที่สำคัญการค้าขายดีขึ้น เนื่องจากคนมักจะขี่จักรยานไปจับจ่ายใช้สอยในร้านค้าปลีก ตลาด และร้านค้าต่างๆในชุมชน

ถือว่าประเทศเดนมาร์กลงทุนกับการสร้างเมืองจักรยานจากการมองการณ์ไกลว่าจะส่งผลดีกับเมืองอย่างไรบ้าง ใช้งบประมาณของรัฐบาลสร้างทางจักรยานมาตั้งแต่ปี 2548 มีเส้นทางจักรยานในปัจจุบันกว่า 600 กิโลเมตร สิ่งอำนวยความสะดวกและจุดจอดจักรยานทั่วเมือง รองรับจักรยานได้กว่า 3,500 คัน

ทั้งนี้รัฐบาลเร่งสร้างเมืองจักรยานที่โคเปนเฮเกน เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจแก่เมืองอื่นๆ ให้เห็นประโยชน์ในหลายๆด้านของการใช้จักรยาน โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคม

หากดูจากข้อมูลของประเทศเดนมาร์ก การเติบโตของการเป็นเมืองจักรยานเป็นรูปธรรมทั้งเมืองอยู่ที่ 20 ปี

ประเทศเนเธอร์แลนด์

ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศเล็กๆที่มีการเติบโตอย่างมากของการเป็นเมืองจักรยาน เรียกว่า จักรยานถือเป็นยานพาหนะที่เป็นส่วนหนึ่งของชาวดัตช์ไปแล้ว ทั้งในเมืองและพื้นที่ชนบทต่างมีเส้นทางจักรยาน และจุดจอดจักรยาน หากศึกษาดีๆแล้วจะเห็นว่าเนเธอร์แลนด์เริ่มต้นพัฒนาเมืองจักรยานอย่างจริงจัง ด้วยเรื่องของการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

ในยุค 70 มีอุบัติเหตุรถชนบนท้องถนน มีเด็กต้องเสียชีวิตจากรถยนต์ไม่หยุดหย่อน และรถยนต์ยังเป็นพาหนะที่ต้องเสียค่าจ่ายน้ำมันจำนวนมาก ปัญหาที่ตามมาคือ มลพิษทางอากาศ และปัญหาอื่นๆอีกมากมาย ดังนั้นการเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชากร เนเธอร์แลนด์จึงได้พัฒนาเมืองและการสัญจรคมนาคมของประเทศใหม่

อัมสเตอร์ดัม เป็นเมืองต้นแบบของการเป็นเมืองจักรยาน เริ่มต้นพัฒนาเมืองอย่างค่อยเป็นไปสม่ำเสมอ จนเป็นเมืองจักรยานที่มีความปลอดภัย รื่นรมย์ ผู้คนต่างเห็นพ้องว่าจักรยานเป็นพาหนะหลักที่ใช้การสัญจรไปไหนมาไหน และพัฒนาไปจนถึงเส้นทางการท่องเที่ยวอีกด้วย

การพัฒนาเมืองจักรยานของชาวดัตช์ เริ่มต้นแบบง่ายๆ คือ แยกทางจักรยาน กับทางรถยนต์ โดยใช้เส้นสีขาว หรือสัญลักษณ์ที่เป็นสีขาว เป็นหลักเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยสาเหตุว่า “ทำไมคนถึงไม่ปั่นจักรยาน” คำตอบคือ ไม่ปลอดภัยจากรถยนต์ คนจะรู้สึกปลอดภัยหากได้ขี่จักรยานแบบเดี่ยวๆ ไม่ต้องคอยพะวงหน้า พะวงหลังหลังว่า มีรถมาเฉี่ยว หรือมีสิ่งกีดขวาง

การสร้างสัญลักษณ์เส้นขาว มีหลักการคิดอย่างมีเหตุผล นั่นคือ เส้นขาวถูกคิดจากเส้นทางสัญจรที่วางผังไว้แล้ว เพื่อสร้างเครือข่ายเส้นทางจักรยานเชื่อมสถานที่สำคัญต่างๆในเมือง และบนท้องถนนในเนเธอร์แลนด์ ให้ความสำคัญกับผู้ขี่จักรยานมากกว่าผู้ขับขี่รถยนต์

ทั้งนี้ การมีทางจักรยานแล้ว ต้องมีคนขี่จักรยานบนท้องถนนอย่างต่อเนื่อง ต้องสร้างวัฒนธรรมการขี่จักรยานให้เกิดขึ้นกับประชาชน มีทางแยกสำหรับเลี้ยวของจักรยานโดยเฉพาะ หรือที่เรียกว่า Bike Box เป็นกฏเสมอว่าเมื่อถึงแยกเลี้ยว รถยนต์ต้องจอดอยู่ด้านหลังจักรยานเสมอ นอกจากนี้ชาวดัตช์ยังมีกฎให้ทางจักรยานสามารถเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดได้

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการผลิตคู่มือการขี่จักรยานในเมือง ให้กับคนในประเทศและนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว เพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจเส้นทางและแยกถนนต่างๆ และเครือข่ายเส้นทางจักรยานที่เชื่อมโยงกัน สัญลักษณ์ต่างๆ และจุดจอดจักรยาน

กลยุทธ์ของเมืองอัมสเตอร์ดัม พยายามไม่สร้างถนนที่มีความกว้างมากเกินไป เพื่อทำให้คนรู้สึกว่าอยากใช้รถยนต์น้อยลง โดยที่ไม่ต้องแบนการใช้รถยนต์ตรงๆ หากดูตามประวัติศาสตร์แล้ว เนเธอร์แลนด์ใช้เวลากว่า 30 ปีในการพัฒนาเมืองจักรยานที่สามารถฝังเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน

ประเทศอังกฤษ และประเทศฝรั่งเศส

ทั้งสองประเทศมีการพัฒนาเมืองจักรยานที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นหลักทฤษฎีและการสร้างกิจกรรมกระตุ้นคนให้หันมาใช้จักรยาน ลองมาดูการสร้างเมืองจักรยานของประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสว่าเป็นอย่างไร

ประเทศอังกฤษ มีการพัฒนาเมืองจักรยานจากการจัดกิจกรรม การส่งเสริมและกระตุ้นให้คนหันมาปั่นจักรยาน โดยเฉพาะที่กรุงลอนดอน มีการเติบโตของผู้คนที่ใช้จักยานกว่าสองแสนคน มากว่าเมืองอื่นๆ ทั้งนี้เพราะที่กรุงลอนดอนมีการสร้างจักรยานให้เช่าให้ประชาชน และในย่านเมืองเก่าของลอนดอนถนนมีความคับแคบไม่เอื้อต่อการใช้รถยนต์ แต่เมืองที่เกิดขึ้นใหม่ได้ปรับเปลี่ยนถนนให้กว้างเพื่อรองรับรถยนต์มากขึ้น

ดังนั้น อังกฤษจึงต้องสร้างกิจกรรมให้คนหันมาปั่นจักรยานมากขึ้น โดยเฉพาะการปั่นจักรยานเพื่อการกีฬา จนเกิดชมรมจักรยานขึ้นมากมายในอังกฤษ จนอังกฤษต้องหันกลับมามองเรื่องการพัฒนาเมืองจักรยานอีกครั้ง อย่างเมืองเก่า “เอดินบะระ” (Edinburgh) เป็นเมืองหลวงของสกอตแลนด์ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่ขี่จักรยานปลอดภัยที่สุด ด้วยกายภาพของเมืองเก่าและมีพื้นที่สีเขียว จึงมีการพัฒนาทางจักรยานเพื่อการกีฬาและการท่องเที่ยวได้ดี

กรุงลอนดอน เมืองหลวงของประเทศอังกฤษ มีระบบขนส่งสาธารณะที่แพงที่สุด การที่ประชาชนขี่จักรยาน เป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย แต่คนที่ปั่นจักรยานยังเป็นแค่คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากว่ารถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ได้อำนวยให้ปั่นจักรยานมากนัก และปัญหาการขโมยจักรยานยังเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข

ประเทศฝรั่งเศส เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาเมืองจักรยานเพื่อต่อสู้กับปัญหามลพิษทางอากาศและการจราจรที่ติดขัด และทำให้เมืองสามารถขี่จักรยานได้อย่างปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายสร้างทางจักรยานเลียบแม่น้ำแซน เป็นแม่น้ำที่มีความยาวกว่า 700 กิโลเมตร

ฝรั่งเศสตั้งใจให้กรุงปารีสมีเส้นทางจักรยานเกือบทุกถนนภายในปี 2024 ให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ความจริง ปารีสพยายามที่จะสร้างทางจักรยานอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2017 แต่ติดปัญหาข้อจำกัดหลายๆอย่าง โดยเฉพาะประชาชนยังใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ และกลุ่มคนที่ปั่นจักรยานเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยเท่านั้น

ยังมีกลุ่มนักปั่นจักรยานในฝรั่งเศสที่มักจะออกมาปั่นจักรยานในช่วงวันหยุด เพื่อการออกกำลังกายและการท่องเที่ยว แต่จำนวนที่ปั่นจักรยานในชีวิตประจำวันยังมีน้อย คนฝรั่งเศสส่วนใหญ่มองว่า การปั่นจักรยานที่ดีจะต้องมีสิ่งที่อำนวยความสะดวกต่อการปั่นจักรยาน มีร้านที่ซ่อมจักรยานอยู่ตามถนน หรือมีทางจักรยานที่ไม่ใช้ร่วมกับรถยนต์ อันตรายมากกับคนที่ขี่จักรยาน

ทวีปเอเชีย

ในทวีปเอเชีย มีการพัฒนาเมืองจักรยานที่แตกต่างจากยุโรป มีไม่กี่ประเทศ และส่วนใหญ่เริ่มต้นการพัฒนาเมืองจักรยานอย่างละเล็กละน้อย หรือการจัดกิจกรรมอีเว้นท์ ลองมาดูว่าในเอเชียมีการพัฒนาเมืองจักรยานกันอย่างไรบ้าง

ประเทศอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียมีกิจกรรมที่ช่วยรณรงค์ให้คนหันมาปั่นจักรยานทุกเพศทุกวัย นั่นคือ bike to school และ bike to work เป็นกิจกรรมของผู้ที่สนใจมาร่วมปั่นจักรยาน ทั้งนี้สภาพการจราจรบนท้องถนนของเมืองใหญ่ในอินโดนีเซียไม่ต่างจากกรุงเทพมหานคร การจราจรหนาแน่นไปด้วยรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถโดยสารสาธารณะ

การมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งตั้งกลุ่มจักรยานขึ้นมา เพื่อให้กรุงจาร์กาตาเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับจักรยาน ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกในกลุ่มจักรยานกว่า 5000 คน พวกเขามีความฝันว่ากรุงจาร์กาตาเป็นเมืองจักรยานเทียบเท่ากับโคเปนเฮเกน

ปัญหาที่เกิดขึ้นปัจจุบัน ไม่มีเส้นทางจักรยานชัดเจน ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับจักรยาน รถยนต์ไม่ได้แชร์ถนนให้จักรยาน การจราจรติดขัดและอากาศร้อน ทำให้กลุ่มคนที่มีความฝันต้องต่อสู้กับการพัฒนาเมืองจักรยานหลายปี ดังนั้นมีกลุ่มภาครัฐที่พยายามผลักดันการสร้างเมืองจักรยาน หากไม่ลงมือทำตอนนี้ เมืองใหญ่ๆในอินโดนีเซีย มีการเติบโตของรถยนต์และจำนวนประชากรมาขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดความแออัดได้ในอนาคต

โครงการ cyclist urban system เป็นโครงการนวัตกรรมของคนรุ่นใหม่ ที่ทำให้ประชาชนสามารถปั่นจักรยานและมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ตอนนี้อยู่ในช่วงพัฒนา โดยร่วมมือกับรัฐบาลในการทำโครงการให้เป็นรูปธรรม

Cyclist Urban System หรือ CUS มีแนวคิดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับจักรยาน จุดจอดจักรยาน จุดอาบน้ำ จุดซ่อมจักรยาน และจุดขายอุปกรณ์จักรยาน ทุกอย่างจะถูกออกแบบเป็นโมดูล เป็นบล็อก สามารถจัดวางกระจายได้ทั่วเมือง ติดตั้งง่าย ใช้วัสดุรีไซเคิล ทำให้นอกจากจะเป็นมิตรกับคนที่ใช้จักรยาน ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ประเทศสิงคโปร์

ประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีการพัฒนาเมืองจักรยานควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ทำให้มีเส้นทางจักรยานในสิงคโปร์ เป็นการสร้างเรื่องการท่องเที่ยวของประเทศไปในตัวด้วย การพัฒนาเส้นทางจักรยานใช้วิธีการให้ประชาชนเช่าจักรยาน เป็นวิธีที่ได้ผลกับสิงคโปร์

สิงคโปร์มีการใช้จักรยานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 การใช้จักรยานของคนสิงคโปร์เพิ่มขึ้น ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ ความคิดที่อยากออกกำลังกายด้วยตัวเอง การขี่จักรยานเป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และด้วยเมืองสิงคโปร์มีขนาดไม่ใหญ่มาก ผู้คนจึงสามารถปั่นจักรยานได้รอบเมือง ใช้เวลาเพียงวันเดียว มีความรื่นรมย์ด้วยต้นไม้และพื้นที่สีเขียวกระจายไปทั่วเมือง

การดำเนินสร้างเมืองจักรยานของสิงคโปร์ เริ่มต้นดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 1991 พยามยามสร้างทางเดินและทางจักรยาน ควบคู่กับการมีพื้นที่สีเขียวในเมือง ที่สำคัญยังมีร้านให้เช่าจักรยานกระจายทั่วเมือง แนวคิดแบบนี้ทำให้ช่วยส่งเสริมให้คนในพื้นที่ได้เกิดการพัฒนาสินค้าในท้องถิ่น

สิงคโปร์ได้ออกแบบเส้นทางจักรยานหลากหลายเส้นทาง แต่ละเส้นทางมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นวิวทิวทัศน์ สถานที่สำคัญ ตึกระฟ้า หมู่บ้าน พื้นที่เมืองเก่า หรือพื้นที่เกษตรกรรม เราสามารถเลือกสำรวจเส้นทางจักรยานในแบบต่างๆได้ เป็นการพัฒนาเมืองจักรยานที่ส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวของประเทศไปในตัว

ประเทศไต้หวัน

ประเทศไต้หวัน เป็นประเทศที่มีประชากรใช้จักรยานอยู่เป็นจำนวนมาก เกิดเส้นทางจักรยานในไต้หวันกว่า 1000 กิโลเมตร รอบเกาะไต้หวัน เส้นทางจักรยานบนเกาะไต้หวันมีโครงสร้างที่เอื้อต่อการใช้จักรยาน นั่นคือ การมีป้ายบอกทางสำหรับจักรยาน มีสัญลักษณ์ทางจักรยาน และมีจุดจอดจักรยาน

ไต้หวันเริ่มจริงจังในการพัฒนาเมืองจักรยานมาตั้งแต่ปี 2000 ความนิยมในการขี่จักรยานมีมากขึ้นทุกปี ทำให้ภาครัฐมองว่า การขี่จักรยานสร้างอัตลักษณ์ให้เมืองได้ และทำให้เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองได้

เส้นทางจักรยานหมายเลข 1 หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า “Taiwan Cycling Route No.1” เป็นการพัฒนาเส้นทางจักรยานเป็นรูปธรรม เสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2015 ในการพัฒนาเมืองจักรยานครั้งนี้ เป็นการร่วมมือจากหน่วยงานหลายๆฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม ตำรวจจราจร หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่แต่ละเขต

การพัฒนาเมืองจักรยานอย่างจริงจังของไต้หวัน ทำให้เกิดผลตอบรับที่ดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนปั่นจักรยาน มีจุดเติมน้ำดื่ม จุดซ่อมจักรยาน และสัญลักษณ์ทางจักรยานบนถนน ทั้งหมดนี้ทำให้ผลสถิติและบทความต่างประเทศ ส่วนใหญ่บอกว่า ไต้หวันถือเป็นเมืองจักรยานดีที่สุดในเอเชีย เนื่องจากไต้หวันไม่เพียงสร้างเมืองจักรยานและสิ่งอำนวยความสะดวกเท่านั้น แต่ไต้หวันยังมีการจัดกิจกรรมและกีฬาเกี่ยวกับจักรยานอย่างต่อเนื่อง มันสามารถสร้างการรับรู้และเป็นที่จดจำแก่ผู้คนได้

ทวีปออสเตรเลีย

ทวีปออสเตรเลีย เป็นทวีปที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่หลากหลาย การพัฒนาเมืองจักรยานจะเป็นเรื่องของประชาชนก่อนเรื่องเมือง การสร้างเมืองจักรยานของทวีปออสเตรเลียเป็นการพัฒนาควบคู่ไปกับการสร้างพื้นที่ทางเท้า หรือพื้นที่คนเดิน ลองมาดูการพัฒนาเมืองจักรยานของออสเตรเลียว่าใช้วิธีใด

ประเทศออสเตรเลีย

ออสเตรเลียมีการพัฒนาเมืองจักรยานควบคู่ไปกับการสร้างพื้นที่คนเดิน เมืองจักรยานที่ดีของออสเตรเลียอยู่ที่เมือง “แคนเบอร์รา” (Canberra) เป็นเมืองเศรษฐกิจและเป็นเมือ’ปั่นจักรยานที่ดีที่สุดของประเทศ นั่นคือ มีโครงสร้างพื้นฐานเรื่องเส้นทางจักรยาน แต่ประชากรที่ปั่นจักรยานไปทำงานและไปโรงเรียนเป็นประจำมีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์

ภาครัฐและหน่วยงานท้องถิ่นของ แคนเบอร์รา จึงได้พัฒนาเส้นทางจักรยานที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ปั่นจักรยาน มีความปลอดภัย และมีเส้นทางที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ในอนาคตต้องดูว่าแผนการดำเนินงานต่างๆจะสามารถทำให้คนหันมาปั่นจักรยานมากขึ้นได้หรือไม่

ประเทศนิวซีแลนด์

ประเทศนิวซีแลนด์ มีการพัฒนาเมืองจักรยานจากประชาชน ส่วนใหญ่จะเป็นการปั่นจักรยานในด้านกีฬาและการออกกำลังกาย ทางนิวซีแลนด์เริ่มหันมาพัฒนาเมืองและส่งเสริมให้คนปั่นจักรยานมาตั้งแต่ยุค 90 หลังจากที่ประเทศมีการใช้รถยนต์เพิ่มขึ้นทุกปี หันมาพัฒนาเมืองให้ประชาชนได้ขี่จักรยานอย่างปลอดภัย มีการให้ประชาชนใช้หมวกกันน็อคสำหรับปั่นจักรยาน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักปั่นจักรยาน

นิวซีแลนด์ในช่วงแรกนิยมขี่จักรยานเพื่อการกีฬาส่วนใหญ่ ยอดขายของจักรยานเสือภูเขาในนิวซีแลนด์ค่อนข้างขายดี แต่การปั่นจักรยานในชีวิตประจำวันยังมีค่อนข้างน้อย ทำให้ในช่วงปี 1994 เป็นต้นมา นิวซีแลนด์จึงรณรงค์ให้ประชาชนหันมาขี่จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น

ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่คือ ทัศนคติของคนที่ขับขี่รถยนต์บนถนน ที่ยังไม่ได้มองเห็นความสำคัญของผู้ที่ขี่จักรยาน แต่กฎหมายในนิวซีแลนด์ให้อภิสิทธิ์กับอาชีพที่ต้องใช้จักรยานในการทำงาน เช่น ไปรษณีย์ คนส่งของ สามารถใช้จักรยานบนทางเท้าได้

อเมริกา

ในอเมริกามีความพยายามในการพัฒนาเมืองจักรยานให้เทียบเท่ากับยุโรป แต่ไม่มีเมืองใดที่พัฒนาเมืองจักรยานได้สมบูรณ์ แต่อเมริกาได้ทำการสร้างทางจักรยานตามแผนนโยบาย

ที่ชิคาโกมีการสร้างทางจักรยานที่แยกกับทางรถยนต์ มีระยะทางกว่า 150 ไมล์ เป้าหมายของชิคาโกคือ การเป็นเมืองจักรยานที่ดีที่สุดในอเมริกา โดยสร้างเลนจักรยานให้ปลอดภัยแก่ผู้ใช้จักรยานให้มากที่สุด การสร้างเมืองจักรยานของชิคาโก ทำให้ผู้ใช้จักรยานมีความสุขที่จะได้ปั่นจักรยาน

นับตั้งแต่ปี 2010 ชิคาโกครองตำแหน่งเมืองจักรยานที่ดีของอเมริกา จนกระทั่งปัจจุบัน มีผู้คนที่ใช้จักรยานเพิ่มขึ้น ทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวมีกว่าแสนคน โดยเฉพาะที่ “Chicago Lakefront Trail” เป็นสถานที่ที่ประชาชนมาออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง การปั่นจักรยาน หรือเล่นสเก็ตบอร์ด ที่นี่มีทางจักรยานที่ปลอดภัย ปลอดรถยนต์ ทำให้ผู้คนมาปั่นจักรยาน โดยเฉพาะช่วงวันหยุดที่มีผู้คนมาออกกำลังกายที่นี่กว่าเจ็ดหมื่นคน

ที่มินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา เป็นเมืองที่มีการทำเส้นทางจักรยานที่ปลอดรถยนต์ แบ่งเส้นจักรยานและรถยนต์ไว้ชัดเจน และประชาชนสามารถขี่จักรยานในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย ทำให้ผู้คนสามารถประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย สภาพแวดล้อมในเมืองดีขึ้น ลดปัญหาจราจรติดขัด

ทำให้มินนีแอโพลิส เป็นเมืองที่ติดหนึ่งในสามเมืองที่เป็นมิตรกับจักรยานรองจากเมืองชิคาโก เมืองแห่งนี้มีความคาดหวังจะสามารถสร้างวัฒนธรรมการปั่นจักรยานให้กับประชาชนได้ทั้งหมด และทำให้เส้นทางจักรยานเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงพื้นที่สาธารณะต่างๆได้ครอบคลุมทั้งเมือง

บทสรุป

การเติบโตของเมืองจักรยานจากที่ดูในหลายๆประเทศ มักมีพื้นหลังที่ไม่ต่างกัน นั่นคือ ปัญหาที่เกิดขึ้นบนท้องถนนที่ส่งผลกระทบในด้านลบ การใช้ชีวิตของคน จนนำไปสู่การแก้ปัญหาการจราจรของเมือง จนนำไปสู่การสร้างเมืองจักรยานเพื่อทุกคน

ข้อมูลอ้างอิงจาก : weforum.org / citymonitor.ai / theguardian.com

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here