ในภาวการณ์ของโลกตอนนี้ เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจเป็นอย่างมาก นอกจากจะเป็นเรื่องของการลดใช้พลาสติกแล้ว เรื่องขยะนั้นเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากว่า ประชากรบนโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การใช้ทรัพยากรจึงเพิ่มขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ ปริมาณขยะ ที่มีมากมายมหาศาล ดังนั้นหากเรามีการนำขยะมาทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์มากขึ้น ก็จะทำให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมีความสมดุล และทำให้โลกน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

นอกจากด้านพลังงานแล้ว เรื่องของขยะ เป็นเรื่องที่ผู้เขียนคิดว่า เป็นเรื่องที่เราต้องพูดถึงให้มากหน่อย แต่ในมุมมองของผู้เขียน จะเล่าในประเด็นการนำขยะมาพัฒนาเป็นสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้น เพราะน่าจะสร้างแรงบันดาลใจที่มีคุณค่าให้สังคมได้

ขยะในปัจจุบัน

ขยะทั่วโลกในปัจจุบันที่เป็นผลกระทบกับโลก คือ ขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ไม่ว่าจะเป็น พลาสติก โฟม และอีกจำนวนหนึ่งเป็นขยะจากอาหาร ซึ่งขยะกลุ่มนี้ทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล ถ้าเราดูข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก จะพูดประเด็นเรื่องปริมาณขยะพลาสติกที่มีอยู่ตอนนี้ว่าสร้างปัญหาให้กับทะเล พื้นดิน และก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยปริมาณขยะในปัจจุบันนี้มีมากกว่า 300 ล้านตัน เป็นปริมาณที่ต้องใช้เวลามากกว่า 20 ปีในการกำจัดให้หมดสิ้นไป

นวัตกรรม คือสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงขยะ ให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าแก่มนุษย์ สังคม สิ่งแวดล้อม และโลกได้ แต่กระบวนการในการรังสรรค์นั้นทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป จะว่าไปแล้วในประเทศไทย ก็มีภาวการณ์เรื่องของปริมาณขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ แม้จะไม่มากเท่าอเมริกาหรือประเทศจีน แต่ถ้าหากเราสามารถตะหนักและเห็นความสำคัญของปริมาณขยะได้ ก็จะเป็นการกันไว้ดีกว่าแก้นั่นเอง

เทคโนโลยีการแปรสภาพขยะ

คำตอบของการแปรสภาพขยะ คืออะไร หลายคนอาจจะนึกถึง การรีไซเคิล แต่หากเราจินตนาการให้มากกว่านั้น จากข้อมูลทั่วโลกแล้ว มีการนำขยะมาแปรสภาพเพื่อประโยชน์สาธารณะส่วนรวมได้เช่นกัน

ประเทศออสเตรเลีย

การนำพลาสติดมาแปรสภาพเป็นวัสดุทำถนนในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

ในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ได้นำขยะประเภทถุงพลาสติก และแก้วมาแปรสภาพให้เป็นถนน โดยใช้ปริมาณถุงพลาสติกมากกว่า 2 แสนใบ ขวดแก้วมากกว่า 6 หมื่นขวด เศษผงหมึกจากเครื่องพิมพ์กระดาษ เป็นถนนเส้นแรกของโลกที่นำขยะที่ย่อยสลายไม่ได้เป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์กับสาธารณะส่วนร่วม จึงเกิดโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปขยะจากถุงพลาสติกและขวดแก้ว รวมไปถึงขยะจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำให้ประเทศออสเตรเลียเป็นต้นแบบในการรักษาสิ่งแวดล้อม และมลพิษจากขยะที่ไม่มีใครจินตนาการได้ว่าต้องแปรสภาพเป็นอย่างไร

ถุงพลาสติกที่ได้จากห้างสรรพสินค้าต่างๆ และขวดน้ำ นั้นสามารถมีประโยชน์กับระบบขนส่งและระบบสัญจรคมนาคมให้กับเมืองได้ ทางออสเตรเลียคาดการณ์ว่า ภายใน 5 ปี ปริมาณขยะจะต้องลดลง นอกจากนี้เมืองเมลเบิร์นยังรณรงค์และให้ความรู้เรื่องขยะอย่างจริงจังให้กับประชาชนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน เพื่อให้เมืองมีสภาพแวดล้อมที่ดี ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่

ทวีปเอเชีย

ในทวีปเอเชีย มีปริมาณขยะพลาสติกสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก มีพลาสติกจำนวนมากไหลลงสู่ทะเล ปัจจุบันพลาสติกกับจำนวนปลาในทะเลอยู่ที่อัตราส่วน 1:5 หากยังไม่มีการรณรงค์อย่างจริงจัง ภายในอีก 50 ปีข้างหน้า อัตราส่วนของพลาสติกและปลาในทะเล จะเป็น 1 : 1  ในกลุ่มทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มตะหนักถึงผลกระทบของปริมาณขยะ และหาวิธีในการแปรสภาพขยะให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมไปถึงประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยเช่นกัน

ประเทศจีนมีปริมาณของขยะพลาสติกลดลงมากมาตั้งแต่ปี 2561และมีกฎห้ามนำเข้าพลาสติกจากต่างประเทศ ส่วนประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 3 เท่าจาก 2 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติก 480,000 ตัน และประเทศอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในขณะนี้ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศมาเลเซียและประเทศไทยเริ่มมีการวางแผนในการลดขยะพลาสติก และลดการนำเข้าพลาสติกจากต่างประเทศ ส่วนประเทศเวียดนามกำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา

Zero Wastw Masterplan – Singapore

นวัตกรรมในการแปรสภาพขยะของทวีปเอเชีย ประเทศสิงค์โปรสามารถนำขยะเปลี่ยนเป็นพลังงาน และนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีนักวิจัยที่พยายามคิดค้นการแปรสภาพขยะเป็นสิ่งใหม่ เพื่อให้ขยะในสิงค์โปรหมดไปภายในปี 2035 หรือช้าที่สุดในปี 2050 เพราะสิงค์โปรคิดว่า การแปรสภาพขยะนั้นมีผลกับเศรษฐกิจและความยั่งยืนของประเทศ คือผู้เขียนติดตามข่าวเรื่องขยะของสิงค์โปร และรู้สึกว่าพวกเขากำลังพัฒนาคุณภาพชีวิต จนเกิดสิ่งที่เป็นผังแม่บท (Master Plan) ของประเทศ ซึ่งสิงค์โปรเห็นปัญหาปริมาณขยะในประเทศมาตั้งแต่ปี 1970 แล้วค่อยๆพัฒนาความรู้ไปทีละเล็กละน้อย ณ ขณะนี้ ประเทศเล็กๆอย่างสิงคโปร์สามารถผลิตพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อมลพิษทางอากาศได้ โดยชุดคู่มือ “Zero Waste Masterplan Singapore” เป็นคู่มือที่เข้าใจง่าย เล่าเรื่องที่มาที่ไปตั้งแต่การจำแนกขยะ วิธีการทิ้งขยะ การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ อุตสาหกรรมการเปลี่ยนสภาพขยะ ไปจนถึงการคาดการณ์ปริมาณขยะในอนาคต เพื่อให้ประเทศมีอากาศและสภาพแวดล้อมที่ดี

ประเทศญี่ปุ่นก็มีการรณรงค์อย่างจริงจังในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทร โดยใช้ชื่อว่า “G20” เป็นโครงการที่จะกำจัดขยะพลาสติกให้หมดไปภายในปี 2050 ทางรัฐบาลของญี่ปุ่นมองว่า ญี่ปุ่นใช้สินค้าจากพลาสติกสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา เพื่อลดปริมาณขยะที่ย่อยสลายยาก รัฐบาลมองว่า พลาสติกในมหาสมุทรส่งผลกระทบกับสัตว์ทะเล นั่นคือสัตว์ทะเลมากมายกลืนพลาสติกไปจำนวนมาก ทำให้ปลาตาย ดังนั้นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น นายชินโซ อาเบะ จึงใช้โครงการ “G20” เป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดการขยะพลาสติกในมหาสมุทร และเกิดทางเลือกนวัตกรรมที่สามารถย่อยสลายได้ และลดการผลิตถุงพลาสติก เนื่องจากว่าพลาสติกในญี่ปุ่นส่วนใหญ่มาจากการบรรจุภัณฑ์อาหารต่างๆ ผักผลไม้  อาหารสด อาหารสำเร็จรูป ซึ่งคนญี่ปุ่น 1 คน ใช้ถุงพลาสติกจำนวน 300 ถุงต่อปี เป็นจำนวนมหาศาล พลาสติกที่ยังกำจัดไม่ได้บางส่วนก็ไหลลงสู่มหาสมุทร ส่งผลกระทบกับมหาสมุทรและเศรษฐกิจของประเทศ ตอนนี้ทางญี่ปุ่นสุ่มคิดค้นนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ

ยุโรป

Wastebiards สเกตบอร์ดที่ทำจากฝาขวดพลาสติก

ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศเล็กๆที่พัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่มีคุณภาพในหลายๆด้าน โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาระบบการคมนาคมในประเทศ เส้นทางจักรยาน และเกษตรกรรม แต่เรื่องการแปรสภาพขยะนั้น เนเธอร์แลนด์คิดสิ่งที่อยู่ใกล้ๆตัวพวกเขา แล้วนำมาประยุกต์ใช้ คนรุ่นใหม่ในประเทศเป็นผู้เห็นปัญหา และทำเกิดผู้ประกอบการสังคมมากมายที่มีไอเดียเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การนำฝาขวดพลาสติกที่ถูกทิ้ง มาแปรสภาพเป็น Wasteboards  สเกตบอร์ดที่ทำจากฝาขวดพลาสติก หรือจะเป็น “Blue City” ธุรกิจที่เป็นมากกว่าธุรกิจ แต่เป็นเหมือนชุมชนที่รวมกลุ่มคนรุ่นใหม่มากมาย มาร่วมแก้ปัญหาด้านขยะและสิ่งแวดล้อม คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆที่น่าสนใจ เพื่อให้เกิดเมืองที่ปราศจากขยะนั่นเอง

การผลิตสินค้า

ในยุคปัจจุบัน มีหลายแบรนด์ที่เริ่มผลักดันให้สินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งเป็นการไม่สร้างขยะเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น ทำให้ตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์สามารถสร้างผลกระทบที่ดีให้กับสังคมและโลกได้ ยกตัวอย่างเช่น

ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกในมหาสมุทร (Ocean Plastic Products)

01 รองเท้า

พลาสติกจากท้องมหาสมุทรจำนวนมาก ถูกนำมาแปรสภาพเป็นนวัตกรรมให้เป็นสินค้าที่มีราคาและมีคุณค่า อย่างรองเท้าจากแบรนด์ Rothy’s ที่ผลิตรองเท้าจากขวดน้ำพลาสติก เกิดเป็นสินค้าแฟชั่นที่ดูโมเดิร์นและมีความเรียบง่าย ซึ่งวิสัยทัศน์ของ Rothy’s มีความชัดเจนในการใช้ทรัพยากรให้มีความคุ้มค่ามากที่สุด และเกิดความยั่งยืน เป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภคอุปโภค นอกจากนี้แบรนด์ Adidas x Parley เป็นการร่วมมือของแบรนด์รองเท้าดังระดับโลกอย่าง Adidas กับ Parley ในการลดพลาสติกในมหาสมุทร ผลิตรองเท้าสำหรับวิ่ง ซึ่งดำเนินการมาแล้วกว่า 5 ปี ในปัจจุบัน Adidas x Parley ยังคงดำเนินงานและมีกิจกรรมแคมเปญออกมาอย่างต่อเนื่อง อย่างแคมเปญ Run For The Oceans ที่เชิญชวนนักวิ่งจากทั่วโลกมาร่วมวิ่งเพื่อมหาสมุทรและระดมทุนเพื่อสร้างกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่รักธรรมชาติ ทรัพยากร และเห็นความสำคัญของการลดพลาสติกในมหาสมุทร ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิลที่มีคุณภาพ

รองเท้าจากขวดน้ำพลาสติกแบรนด์ Rothy’s
รองเท้า Adidas x Parley มีส่วนร่วมในการลดพลาสติกในมหาสมุทรผลิตรองเท้าจากพลาสติกรีไซเคิล

02 เครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายๆแบรนด์ที่มีการผลักดันให้มีการผลิตสินค้าจากขยะพลาสติกรีไซเคิลมากขึ้น  อย่าง 4ocean ก่อตั้งเมื่อปี 2017 เป็นองค์กรที่แสวงผลกำไรจากรัฐฟลอริด้า โดยผลิตกำไลและเครื่องแต่งกายจากขยะพลาสติกในมหาสมุทร ซึ่งองค์กร 4ocean เริ่มดำเนินการกำจัดขยะพลาสติกที่อินโดนีเซียและกัวเตมาลา นำพลาสติกที่เก็บจากมหาสมุทรมารีไซเคิลมาทำเป็นกำไล และเครื่องประดับแล้วขายในช่องทางออนไลน์ รายได้จากการขายของจะนำไปพัฒนาอุปกรณ์และเครื่องมือที่ช่วยรักษาความสะอาดในมหาสมุทร ปัจจุบัน 4ocean มีทีมงานกว่า 200 คนที่ร่วมพัฒนาและทำงานเพื่อลดขยะพลาสติกในมหาสมุทร

สรอยข้อมือจากพลาสติกในมหาสมุทรของ 4Ocean

Sunski เป็นแบรนด์ผลิตแว่นตากันแดดในซานฟรานซิสโก โดยผลิตแว่นตากันแดดในราคาที่จับต้องได้จากพลาสติกในมหาสมุทร ซึ่ง Sunski มีอุดมการณ์ของแบรนด์คือ มีสไตล์ มีประสิทธิภาพ สร้างคุณค่า และสร้างความยั่งยืน ทำให้ Sunski ออกแบบสินค้าที่ใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด หรือ Zero waste รายได้ส่วนหนึ่งของ Sunski นำไปบริจาคให้กับองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรทางด้านสิ่งแวดล้อมทุกปี และมีความมุ่งมั่นที่จะลดพลาสติกในมหาสมุทร ผลิตแว่นกันแดดรีไซเคิลในราคาไม่แพงมาก ถือเป็นแบรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่ทำประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจ

แว่นตา Sunski ที่ใช้หลักการ Zero Waste ที่เป็นสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

หรืออย่างการผลิตเสื้อผ้าที่เป็นแฟชั่น มีความสวยงามจากภายนอก ก็มีการผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ทำให้เราเห็นว่าในยุคโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบันนี้การดำรงด้านปัจจัยสี่หรือปัจจัยที่ห้า ยังต้องคำนึงเรื่องการสร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ของ Girlfriend Collective ที่ผลิตกางเกงเลคกิ้งจากพลาสติกรีไซเคิล และจากอวนของชาวประมงที่ถูกโยนทิ้งในทะเล เป็นแบรนด์เครื่องแต่งกายที่ผลักดันสินค้าให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีอุดมการณ์ที่จะลดมลภาวะในมหาสมุทร และมีความเชื่อถึงความสวยงามของรูปร่างผู้หญิงที่แตกต่างกันไป การสร้างเสื้อผ้าที่เข้าถึงผู้หญิงหลากหลายเชื้อชาติและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

แบรนด์ Girlfriend Collective แบรนด์ที่ผลิตเสื้อผ้าสตรีจากพลาสติกและอวนของชาวประมง

03 กระเป๋า

Patagonia เป็นแบรนด์ที่ทำกระเป่าเป้และเสื้อผ้าสำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง โดยผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ขวดน้ำพลาสติกมามากกว่า 10 ปี และเป็นแบรนด์ที่เป็นนักเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้ส่วนหนึ่งนำไปบริจาคให้องค์กรไม่แสวงผลกำไร “1% for the Planet” ทุกปี จนปัจจุบัน Patagonia บริจาคเงินให้กับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆไปแล้วกว่า 89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากลองไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ของ Patagonia จะเห็นภาพลักษณ์ของแบรนด์นั้นสื่อถึงความสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การผจญภัย การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ เรื่องราวของการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และอุดมการณ์ของแบรนด์

แม้แต่แบรนด์ Stella McCartney ก็มีการผลิตกระเป๋าสำหรับผู้หญิงจากขวดน้ำพลาสติกรีไซเคิล พลาสติกโพลีเอสเตอร์อยู่ในคอลเลกชันฤดูร้อนในปี 2018 โดยร่วมมือกับ Parley for the Oceans ในการออกแบบกระเป๋าเพื่อนำรายได้ทั้งหมดไปบริจาคเพื่อการอนุรักษ์มหาสมุทร เป้าหมายของ Stella McCartney คือ การให้วงการแฟชั่นได้หันมาใช้วัสดุพลาสติกรีไซเคิลมากขึ้น เพื่อให้พลาสติกในมหาสมุทรหมดไป

กระเป๋าแบรนด์ Patagonia และแบรนด์ Stella McCartney ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลจากมหาสมุทร

ในมุมมองทั้งหมด ผู้เขียนคิดว่า เรื่องของขยะ เป็นเรื่องใกล้ตัวเราที่สุด แต่เรากับใส่ใจมันน้อยที่สุด บางทีเราควรจะตะหนักถึงด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ โดยเริ่มต้นจากตัวเราเอง จากในบ้าน จากที่ทำงาน จากที่สาธารณะ หรือพื้นที่ทางธรรมชาติ หรืออย่างน้อยหากเราสามารถให้ความรู้แก่เยาวชนเรื่องประเภทของขยะ วิธีการแยกขยะ รวมไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม และลงมือปฏิบัติ ก็จะเป็นสิ่งเล็กๆที่ก่อให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสังคมได้เป็นอย่างดี

1 COMMENT

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here