Vintage Style ความเป็นวินเทจที่ไม่เคยหายไปตามกาลเวลา

สไตล์วินเทจ (Vintage Style) เป็นรูปแบบที่เราสามารถเห็นได้เรื่อยๆไม่ว่าจะยุคไหน คำว่าวินเทจยังไม่หายไปจากวิถีชีวิตของเรา ผู้เขียนมักจะเห็นและได้ยินคำว่าวินเทจมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแฟชั่น การแต่งตัว ไลฟสไตล์ ของตกแต่งบ้าน หรือแม้กระทั่งงานศิลปะ ก่อนหน้านี้ผู้เขียนไม่ได้สนใจรูปแบบวินเทจอะไรมากมาย แต่มันเหมือนสิ่งรอบตัวเรามันทำให้ผู้เขียนต้องสนใจสไตล์วินเทจขึ้นมา ช่วง 2 – 3 ปีมานี้ผู้เขียนนั่งดูวิดีโอไลฟ์สไตล์ต่างๆโดยเฉพาะในเกาหลี ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งยุโรป ต่างนำเสนอรูปแบบวิถีชีวิตในยุคใหม่ที่ยังคงความวินเทจเอาไว้ เมื่อผู้เขียนเสพสื่อมากขึ้นเรื่อยๆ เลยรู้สึกว่าทำไมรูปแบบวินเทจถึงไม่ตาย และอยู่มาทุกยุคทุกสมัย เราลองมาทำความเข้าใจกัน

สไตล์วินเทจเริ่มมาอย่างไร

งานออกแบบในรูปแบบวินเทจเป็นงานที่มีมาเกือบ 100 ปี (คาดว่าเกือบถึงร้อยปีแต่ยังไม่ถึง) และการตกแต่งแบบย้อนยุคกับคำว่าวินเทจไม่เหมือนกัน คำว่า “วินเทจ” ก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่ามันถูกใช้อย่างไร บางคนนำมาใช้ให้คำจำกัดความกับของเกาหรือของที่มีคุณค่า

ความหมายของคำว่า “วินเทจ” “เรโทร” และ “แอนทีค” ต่างกันอย่างไร

คำว่าวินเทจ (Vintage ) เรโทร (Retro) และแอนทีค (Antique) เป็นคำที่ใช้แทนกันได้ตลอดเวลา แต่ความหมายทั้ง  คำไม่เหมือนกันเลย คำว่าเรโทร หมายถึงสัญลักษณ์ของยุคก่อนๆ ส่วนวินเทจ หมายถึง สิ่งของหรืองานออกแบบที่ใช้วัสดุที่มีคุณภาพหรือเป็นงานฝีมือที่มีรายละเอียดและลักษณะเฉพาะตามผลงานของศิลปินและช่วงเวลาในแต่ละยุค มีอายุประมาณ 40 – 100 ปี และคำสุดท้าย แอนทีค หมายถึง สิ่งของในยุคก่อนที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี

ความนิยมของสไตล์วินเทจคาดว่าเริ่มต้นมาจากสหรัฐอเมริกา ที่มีการผลิตสินค้า งานออกแบบ และกระแสแฟชั่นในแต่ละยุค เน้นผลิตสินค้าให้มีความสวยงาม มีการใช้สอยที่ดี โดยลักษณะความสวยงามเป็นการนำรูปแบบศิลปะในยุคเก่า ความคลาสสิค นั่นจึงเป็นสาเหตุที่สไตล์วินเทจได้รับความนิยม เพราะว่ามันมีรูปแบบที่เข้าไปกระทบจิตใจของคน ทำให้คนเห็นสิ่งของแล้วหวนย้อนระลึกถึงอดีต หรือชีวิตในวัยเด็ก อีกนัยหนึ่งคือ ผู้คนชอบความงดงามที่ดูเป็นงานฝีมือในอดีต หรือความรู้สึกอื่นๆขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน

หมวดหมู่ของสไตล์วินเทจ

รูปแบบวินเทจ เป็นสไตล์ที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียด มีความงามที่หลากหลาย สามารถแบ่งออกเป็นดังนี้

รูปแบบงานอาร์ตนูโว มีแรงบันดาลใจจากดอกไม้พืชพรรณ
(ภาพจาก pinterest.com)
  • 1 อาร์ตนูโว (Art Nouveau) เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นช่วงสร้างขึ้นเมื่อปลายคริสต์ทศวรรษ 1800 และเป็นที่นิยมมากในช่วงปี 1910 -1920 เป็นรูปแบบศิลปะที่มีความโดดเด่นด้วยการใช้เส้นโค้ง รายละเอียดที่ซับซ้อนที่ได้แรงบันดาลใจมาจากดอกไม้และพืชพรรณ เป็นความงดงามจากธรรมชาติ มีการใช้สีสันที่ตัดกันอย่างชัดเจน ลวดลายดูประณีต หรูหรา เน้นไปที่รูปทรงของพืชพรรณ ดอกไม้ และผู้หญิง
รูปแบบอาร์ตเดโค เป็นรูปแบบที่มีความเป็นรูปทรงเรขาคณิตมากกว่าลายเลียนแบบธรรมชาติ
(ภาพจาก pinterest.com)
  • 2 อาร์ตเดโค (Art Deco) ถือกำเนิดขึ้นขึ้นเพื่อสร้างรูปแบบที่ดูทันสมัย ดูสะอาดตา ล้วนเป็นการออกแบบและฝีมือมนุษย์ มากกว่าเลียนแบบธรรมชาติ ได้รับความนิยมอย่างมากในปี 1920 และปี 1930 อาร์ตเดโคเน้นการใช้รูปทรงเรขาคณิต รูปทรงสมมาตร หรือรูปทรงของมนุษย์ในอุดมคติ
รูปแบบโมเดิร์นยุคกลาง เน้นเส้นสายชัดเจน เส้นตรง เส้นโค้งผสมผสานกัน
(ภาพจาก pinterest.com)
  • 3 โมเดิร์นในยุคกลาง (Mid-century modern) เป็นรูปแบบที่ดูทันสมัยกว่าสองยุคแรก เน้นเส้นสายชัดเจน เส้นตรง เส้นโค้ง หรือใช้วัสดุโค้ง การใช้โทนสีแบบไม้ ยุคนี้โดดเด่นมากในงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ มีการผสมผสานระหว่างเส้นตรงกับเส้นโค้งที่นุ่มนวลเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีการออกแบบโครงสร้างที่รองรับวัสดุขนาดใหญ่อีกด้วย
รูปแบบยุคอะตอม ที่มักสื่อถึงโลกอวกาศและอนาคต
(ภาพจาก pinterest.com)
  • 4 ยุคอะตอม (Atomic Age) เป็นยุคที่อยู่ในช่วงปี 1940 – 1963 เป็นยุคที่สื่อถึงโลกอนาคตมากขึ้น มีจินตนาการไปถึงความเป็นโลกอวกาศ หรือการค้นพบทางวิทยาศาสตร์และโลกอนาคต ทำให้เกิดแนวคิดว่า “optimistic, modern world” ในยุคนี้จึงเป็นที่จดจำในเรื่องของการใช้สัญลักษณ์และลวดลายในยุคอวกาศ
แบบอักษรของ Helvetica
(ภาพจาก fontsinuse.com)
  • 5 สไตล์นานาชาติ (International Style) เป็นสไตล์ที่เน้นงานออกแบบตัวอักษร การออกแบบฟอนต์ เช่น Helvetica ฯลฯ การใช้เส้นสายที่ดูโฉบเฉี่ยวทันสมัย ดูเรียบง่าย และมีกลิ่นอายของความเป็นสากล
รูปแบบยุค 70 มีการใช้สีสันโทนส้ม และสีโทนไม้
(ภาพจาก pinterest.com)
  • 6 ยุค 70 (Seventies) เป็นสไตล์ในช่วงยุค 1970 เป็นรูปแบบที่ได้การชื่นชมมากที่สุดของความเป็นวินเทจชัดเจน อย่างเช่น ฮิปปี้ หรือกลุ่มต่อต้านวัฒนธรรมอื่นๆในยุคนั้น การใช้สีในยุคนั้นถือว่ามีโดดเด่น อย่างการใช้สีธรรมชาติ เช่น สีเขียวอะโวคาโด สีทอง สีส้มไหม้ ฯลฯ
รูปแบบพังก์ มีการใช้เส้นสายและสีตัดกันรุนแรง
(ภาพจาก pinterest.com)
  • 7 พังก์ (Punk) สไตล์พังก์เกิดขึ้นในช่วงปี 1970 – 1980 และยังเห็นรูปแบบนี้ในปัจจุบัน มีการใช้เส้นสายที่รุนแรง การใช้สีตัดกันอย่างชัดเจน เป็นสไตล์ที่ต่อต้านขนบธรรมเนียมรูปแบบเดิมๆ ส่วนใหญ่เราจะเห็นกันมากในวงการดนตรี ที่เรียกกันว่า ดนตรีพังก์
รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบ Postmodernism
(ภาพจาก pinterest.com)
  • 8 ลัทธิหลังยุคโมเดิร์น (Postmodernism) เป็นสไตล์ที่เน้นลวดลายของรูปทรงเรขาคณิต และการใช้สีสันสะดุดตา เป็นรูปแบบที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งภายใน เป็นงานออกแบบที่เป็นที่ยมมากในช่วงปี 1980 – 1990 รูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่ตรงข้ามกับแนวคิด “น้อยแต่มาก” (less is more) ซึ่งโรเบิร์ต เวนทูรี เป็นสถาปนิกในยุคนี้แย้งแนวคิดก่อนหน้านี้ว่า “น้อยแต่น่าเบื่อ” (less is a bore)

ข้อมูลประกอบจาก : 99designs.com / wikipedia

วินเทจในงานแฟชั่น

ในงานแฟชั่นมีอิทธิพลกับวินเทจมากที่สุด มีการผลิตสินค้า เสื้อผ้า เครื่องประดับแบบวินเทจมาทุกยุค จนเรียกได้ว่าวินเทจสามารถเข้ากันได้ทุกยุคทุกสมัย ร้านขายเสื้อผ้าวินเทจเริ่มต้นมาในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนการผลิตเสื้อผ้าสิ่งทอที่มีอยู่จำกัด โดยมีการนำเสื้อผ้าแบบเก่ามาผสมผสานกับเสื้อผ้าแบบใหม่ หรือการสร้างสไตล์ใหม่ตามแต่ละช่วงยุค

แฟชั่นวินเทจใช้จำกัดความเครื่องแต่งกายที่ผลิตขึ้นในช่วง 20 – 100 ปี โดยเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับแสดงถึงเอกลักษณ์ตามยุคสมัย มีกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ นั่นคือสิ่งที่คนส่วนใหญ่จะชอบเสื้อผ้าวินเทจ กลิ่นอายเหล่านี้ทำให้ผู้คนมีอารมณ์ ความรู้สึกร่วมของแฟชั่นในยุคก่อนๆ

ที่มาที่ไปของแฟชั่นวินเทจ

ในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม การผลิตเสื้อผ้าส่วนใหญ่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากในการผลิตสินค้า ซึ่งเสื้อผ้าของคนทำงานอย่างเกษตรกร เน้นการใช้งานที่ทนทานมากกว่าความสวยงาม เมื่อเสื้อผ้าชำรุดจะใช้การเย็บปะติดปะต่อซ่อมแซม จนกว่าจะชำรุดจนซ่อมแซมไม่ได้ แต่เมื่อถึงเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สหรัฐอเมริกาได้ริเริ่มแคมเปญอนุรักษ์เสื้อผ้าขึ้นมา ตามสโลแกนที่บอกว่า เพื่อการผลิตแฟชั่นที่ช่วยลดขยะลง 10 เปอร์เซ็นต์ในช่วงสงคราม

จนมาถึงช่วงยุคศตวรรษที่ 20 และ 21 เสื้อผ้าวินเทจกลับมาได้รับความนิยมอย่างมาก แต่เดิมสินค้าวินเทจมักจะหมายถึงสินค้ามือสอง สื่อต่างๆมีส่วนทำให้แฟชั่นวินเทจเป็นกระแสขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นสื่อภาพยนตร์และโทรทัศน์ นิตยสารแฟชั่น หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงที่พยายามนำเสนอไลฟ์สไตล์แบบวินเทจยุค 60 – 70 คุณค่าของวัฒนธรรมในยุคเก่าที่ดูสวยงาม คลาสสิคให้กลับมาอีกครั้ง

ในทศวรรษที่ผ่านมา เทรนด์แฟชั่นวินเทจถือเป็นการขับเคลื่อนเรื่องแฟชั่นที่ยั่งยืนและรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้แฟชั่นวินเทจสามารถเข้าถึงผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม เข้าใจการรีไซเคิลข้าวของและเสื้อผ้าที่มีอยู่ จนเกิดการขับเคลื่อนไปทั่วโลก ในปัจจุบันมีการขายเสื้อผ้าวินเทจทางออนไลน์ (E-commerce) ตามเว็บไซต์ต่างๆ เช่น Depop , ThredUp และ TheRealReal ฯลฯ

รูปแบบแฟชั่นวินเทจ สามารถประยุกต์นำกลับมาใช้ใหม่ได้

แฟชั่นวินเทจจึงเป็นรูปแบบทางเลือกแก่ผู้บริโภคที่ชอบเครื่องแต่งกายที่เป็นงานทำมือ ประณีต มีความทนทาน มีกลิ่นอายของยุคเก่า แต่ด้วยเสื้อผ้าวินเทจไม่ได้มีการเผยแพร่ให้เห็นทั่วไปมากนัก ซึ่งเสื้อผ้าวินเทจกับเสื้อผ้าที่ได้แรงบันดาลใจนั้นต่างกัน แรงบันดาลใจในการผลิตเสื้อผ้าในสไตล์วินเทจเป็นการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงมากขึ้น แม้อาจจะไม่เหมือนกับเสื้อผ้าวินเทจแบบดั้งเดิม แต่ทำให้ผู้ซื้อสินค้าได้ซื้อสินค้าในราคาไม่แพง มีสี และคุณภาพเนื้อผ้าหลากหลายแบบมากขึ้น

เสื้อผ้าวินเทจจึงถูกเปรียบเสมือนกับงานศิลปะ มีเรื่องราวของประวัติศาสตร์ มีคุณค่าต่อการสะสมสำหรับผู้ที่ชื่นชอบสไตล์วินเทจ หากดูตามยุคสมัยในช่วงยุค 70 เริ่มเห็นคุณค่าของสไตล์วินเทจ การขายเสื้อผ้าเก่ามีมากขึ้น และทำรายได้ได้มากในยุค 60 – 70 พอมาถึงช่วงยุค 80  เสื้อผ้าวินเทจเริ่มผันผวนไม่คงที่ สุดท้ายในปัจจุบันวินเทจก็กลับมาอีกครั้ง เพื่อให้ผู้ซื้อสินค้าสามารถมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองไม่เหมือนใคร บ้างคนจึงเรียกเสือผ้าวินเทจว่า “เสื้อผ้าเก่าที่ฟื้นคืนชีพ”

ข้อดีข้อเสียของแฟชั่นวินเทจ

ข้อดี

  • 1 เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม – เป็นการนำเสื้อผ้าเก่ากลับมาใช้ใหม่ โดยผสมผสานเสื้อผ้าสมัยใหม่ ลดการทิ้งขยะเกินความจำเป็น ไม่เป็นการทิ้งขว้างเสื้อผ้าโดยเปล่าประโยชน์
  • 2 มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว – เราสามารถสร้างสรรค์สไตล์ของตัวเองได้โดยไม่ต้องตามกระแสหรือเทรนด์ต่างๆ
  • 3 เป็นการลงทุน – เพราะของวินเทจเป็นของหายาก หากถึงช่วงเวลาที่แฟชั่นวินเทจกลับมาเป็นที่นิยม ราคาสินค้ายิ่งสูงขึ้น
  • 4 ทำให้ได้สัมผัสกลิ่นอายของอดีต ความรู้สึกในยุคเก่า ความคลาสสิคเหมือนหลุดออกมาจากโลกภาพยนตร์
  • 5 สินค้าวินเทจมักมีความแข็งแรงทนทาน

ข้อเสีย

  • 1 เสื้อผ้าวินเทจมักจะมีราคาสูง เนื่องจากเป็นของหายากและมีจำนวนจำกัด
  • 2 ในบางครั้งสินค้าวินเทจอาจมีชำรุดเสียหายบ้าง และดูเก่ากว่าเสื้อผ้าสไตล์อื่นๆ
  • 3 ไม่มีการรับคืนสินค้า

วินเทจในงานออกแบบ

ในงานออกแบบ เราจะเห็นสไตล์วินเทจอยู่มากมาย เช่น งานตกแต่งภายใน งานเฟอร์นิเจอร์ งานสื่อสิ่งพิมพ์ หรือแม้แต่งานออกแบบตัวอักษร ยังมีอิทธิพลมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีรายละเอียดจำนวนมากและค่อนข้างหลากหลาย ในบทความนี้คงเล่ารายละเอียดงานออกแบบสไตล์วินเทจเพียงบางส่วน เพื่อให้เข้าใจแนวทางโดยรวมในงานออกแบบ

งานตกแต่งภายใน

ในงานออกแบบตกแต่งภายในในสไตล์วินเทจจะเห็ดได้ชัดในช่วงยุค 40 ถึงยุค 70 เป็นช่วงที่มีประวัติศาสตร์ด้านการออกแบบไลฟสไตล์แบบวินเทจค่อนข้างเด่นชัด ลักษณะที่สำคัญคือ มักมีการทาสีด้วยโทนสว่าง หรือมีสีขาวแซมร่วมกับสีอื่นๆ เช่น สีเขียว สีชมพู สีฟ้า และสีส้ม หรือจะใช้เป็นผนังวอลเปเปอร์ที่มีลวดลายดอกไม้

ลักษณะงานตกแต่งภายในสไตล์วินเทจในช่วงยุค 40 – 50
(ภาพจาก pinterest.com)

สไตล์วินเทจมักนิยมตกแต่งห้องด้วยผนังวอลเปเปอร์ด้วยลวดลายดอกไม้ ลายผีเสื้อ ลายนก และลายทาง ซึ่งจะติดผนังวอลเปเปอร์เพียงด้านเดียว ส่วนผนังด้านอื่นๆใช้ทาสีทึบ บางครั้งอาจมีการตกแต่งด้วยด้วยสิ่งของที่แขวนผนังได้ เช่น กระจก ภาพงานศิลปะ ในส่วนของตกแต่งมักทำจากวัสดุไม้ หรือไม้แกะสลัก พบได้บ่อยมากในสไตล์วินเทจ บางทีมีการใช้วัสดุโลหะ และหนังสัตว์บ้าง

ของตกแต่งภายในมีการใช้บานกระจกขนาดใหญ่ที่มีกรอบแกะสลักไม้ ซึ่งจริงๆแล้วสิ่งของส่วนใหญ่จะต้องมีการแกะสลักเสมอ หรือแม้แต่ผ้าปูโต๊ะจะใช้ผ้าลูกไม้ที่ดูสวยงาม นอกจากนี้ยังมีการตกแต่งด้วยแจกันดอกไม้ เพื่อเสริมให้ห้องดูสดชื่นสวยงาม

งานเฟอร์นิเจอร์

ในงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องและเติบโตอย่างไม่สิ้นสุด งานเฟอร์นิเจอร์สไตล์วินเทจสามารถแบ่งตามยุคได้ดังนี้

ในยุค 40

รูปแบบเฟอร์นิเจอร์ในยุค 40
(ภาพจาก retrorenovation.com)

ในยุค 40 เป็นยุคคลาสิคของงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ด้วยความมีรายละเอียด วิจิตรบรรจง มีลวดลายสวยงาม เน้นการตกแต่งด้วยสีสัน ลวดลายดอกไม้ ลายตาราง หรือการใช้สีสดที่ตัดกันชัดเจน ยุคนี้จึงมีความวินเทจและคลาสสิค ยังคงมีกลิ่นอายของยุคเก่า งานเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งไม่มีการใช้สีโมโนโทน แต่นิยมใช้สีตัดกันรุนแรง เช่น สีฟ้ากับสีแดง หรือสีส้มกับสีเขียว เป็นต้น

ความวิจิตรของเฟอร์นิเจอร์ยุคนี้คือ มักมีการแกะสลัก ดัดไม้ให้มีความโค้งงอ มีลวดลายด้วยงานฝีมือ ที่สำคัญเน้นของตกแต่งบ้านเล็กๆไว้เสมอ เช่น แจกันดอกไม้ในแบบต่างๆตั้งโชว์ไว้บนโต๊ะหรือในตู้ ยังคงเน้นการมีลวดลายจิตรกรรมที่แสดงถึงความปราณีตของงานฝีมือเอาไว้

ในยุค 50 – 60

รูปแบบเฟอร์นิเจอร์ในยุค 50
(ภาพจาก flickr.com)

ในยุค 50 – 60 เป็นยุคที่มีการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้มีลักษณะเพรียวบาง มักทำจากวัสดุไม้อย่างดี และมีการใช้โทนสีธรรมชาติที่ตัดกับเนื้อไม้ เช่น สีส้ม สีเขียว สีฟ้า และสีเหลือง หากสังเกตเฟอร์นิเจอร์ยุคนี้ขาโต๊ะ ขาเก้าอี้ ตู้ต่างๆจะมีลักษณะผอมบาง เล็ก เรียว บางทีมีขาเดียวรองรับโครงสร้างเอาไว้ ในส่วนของเบาะนั่งมีการออกแบบมีส่วนเว้า ส่วนโค้ง หรือเป็นรูปทรงอิสระ ในยุคนี้ไม่เน้นลวดลายแพทเทิร์นมากนัก แต่จะเน้นเรื่องของรูปทรงและใช้สีทึบ เน้นความเรียบง่ายของวัตถุและการตกแต่ง

ในยุค 70

รูปแบบเฟอร์นิเจอร์ในยุค 70
(ภาพจาก flashbak.com)

ในยุค 70 งานเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เริ่มมีการออกแบบให้มีขนาดใหญ่ ทรงกลม มีลักษณะโค้งมน อย่างเช่น เก้าอี้รูปทรงไข่ (Egg Chair) เก้าอี้หางนกยูง (Peacock Chair) และเก้าอี้ปาปาซาน (Papasan Chair) ที่สำคัญยังเป็นยุคที่เริ่มต้นใช้ของตกแต่งภายในบ้านด้วยต้นไม้ในร่ม นอกจากนี้ยังใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากผ้าหรือเส้นใยจากธรรมชาติ เช่น ผ้าผ้าย ผ้าเดนิม ผ้าลินิน และตกแต่งด้วยงานฝีมือ การตกแต่งด้วยโครเชต์ขนาดใหญ่ หรือมักใช้วัสดุไม้ โดยไม่มีการแต่งแต้มใดๆ เพื่อให้เห็นสีเนื้อไม้อย่างแท้จริง ในการใช้สีเพื่อการตกแต่งมักจะใช้เฉดสีเขียวธรรมชาติ สีส้ม สีทอง และสีน้ำตาล

งานกราฟิก

สไตล์วินเทจในงานกราฟิก หลักๆที่เห็นได้ชัดคือ งานออกแบบตัวอักษร งานโปสเตอร์ งานพิมพ์เลตเตอร์เพลส งานออกแบบลวดลายแพทเทิร์น งานสื่อสิ่งพิมพ์ และงานวาดภาพประกอบ ลองมาดูงานกราฟิกตัวอย่างง่าย ๆดังนี้

งานพิมพ์เลตเตอร์เพลส (Letterpress)

งานพิมพ์เลตเตอร์เพลส เป็นงานพิมพ์นูนที่สามารถผลิตได้จำนวนมากซ้ำๆกัน เป็นการทำผิวกระดาษให้นูน จากการขึ้นประกอบแม่พิมพ์ ต้องกดกระดาษให้เข้ากับแท่นพิพม์ เป็นที่นิยมมากและถูกใช้อย่างแพร่หลายมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 15 จนถึงศตวรรษที่ 19 นำมาใช้แพร่หลายในงานสื่อสิ่งพิมพ์ งานหนังสือต่างๆ จนกระทั่งศตวรรษที่ 20 เทคโนโลยีการพิมพ์แบบออฟเซตเข้ามาแทนที่ในการพิมพ์หนังสือส่วนใหญ่ ทำให้ในปัจจุบันการพิมพ์เลตเตอร์เพลสจึงเป็นการฟื้นฟูเพื่อเป็นงานศิลปะ หรืองานในสไตล์วินเทจ

งานพิพม์เลตเตอร์เพลสในปัจจุบันหลงเหลืออยู่น้อย แต่มักพบเห็นได้ตามร้านค้างานฝีมือที่ยังหลงใหลงานฝีมือ หรือโรงพิมพ์เก่าที่ยังคงรักษาการพิมพ์ลักษณะนี้เอาไว้

งานออกแบบลวดลายแพทเทิร์น (Pattern Design)

ลวดลายดอกไม้ที่มักพบเห็นได้บ่อยในสไตล์วินเทจ
(ภาพจาก pinterest.com)

งานออกแบบลวดลายแพทเทิร์น มีมาทุกยุคทุกสมัย เป็นสิ่งที่มนุษย์ได้คิดค้นขึ้นจากการเลียนแบบลวดลายจากธรรมชาติ โดยเฉพาะลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ที่มีรายละเอียดสวยงาม ถูกจัดวางซ้ำๆให้มีจังหวะ และมักใช้สีพาสเทลหรือโทนสีที่ดูอบอุ่น จะเห็นได้มากในงานวอลเปเปอร์ผนัง ลวยลายบนผ้า หรือของตกแต่งต่างๆ

ลวดลายดอกไม้ นก หรือผีเสื้อที่มักพบเห็นได้บ่อยในสไตล์วินเทจ
(ภาพจาก pinterest.com)

ลวดลายแพทเทิร์นสไตล์วินเทจมักถูกนำมาใช้มากในงานตกแต่งภายใน ของตกแต่ง และลวดลายบนเนื้อผ้า ผนังและพื้น มีรูปแบบที่เห็นได้ชัดเจนคือ ลายตาราง ลายทาง ลายจุด และลายดอกไม้ ซึ่งการนำไปใช้ลวยลายในลักษณะนี้เพื่อเสริมสร้างจุดเด่นพื้นที่ในด้านหนึ่งของห้อง เช่น ห้องปูพื้นกระเบื้องเป็นลายตาราง ฉะนั้นผนังห้องจึงใช้สีทึบทั่วไป หรือลวดลายที่ไม่ไปข่มกับพื้นห้อง เป็นต้น

การใช้แพทเทิร์นในสิ่งของยังคงเน้นลวดลายดอกไม้ ใบไม้ รูปนก ผีเสื้อ หรือมีการแกะสลักลวยลายที่ดูสวยงาม เน้นความละเอียดของงานฝีมือ สามารถนำมาใช้ตกแต่งห้องได้ ลวยลายมักปรากฏในแจกันดอกไม้ ถ้วยชาม เหยือกน้ำ  ช้อนส้อม ขวดแก้ว ด้ามจับประตูและตู้ มันเป็นเสน่ห์ของงานกราฟิกสไตล์วินเทจที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน

งานออกแบบตัวอักษร

งานออกแบบตัวอักษรในสไตล์วินเทจ จะมีลักษณะที่เป็นตัวอักษรที่มีเส้นตวัดขึ้นลง เป็นเส้นโค้ง ดูพลิ้วไหว มีลักษณะที่เขียนมีแบบเป็นตัวหนาและตัวเอียง แต่ยังคงความเส้นตวัดที่หางของตัวอักษรเสมอ เป็นอัตลักษณ์ที่นำไปสู่การออกแบบฟอนต์ตะกูล Serif และมีการพัฒนาฟอนต์วินเทจแบบอื่นๆขึ้นมาอีกมากมาย โดยปรับให้ดูร่วมสมัยมากขึ้น

การใช้งานตัวอักษรสไตล์วินเทจ มักจะเห็นในงานโปสเตอร์ งานออกแบบโลโก้ งานออกแบบฉลากสินค้า ผลิตภัณฑ์ที่ดูคลาสสิค หรูหรา และงานสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น งานออกแบบการ์ด งานปกหนังสือภาพประกอบ เป็นต้น

การใช้สีในสไตล์วินเทจ

สไตล์วินเทจมีการใช้สีที่มีลักษณะเฉพาะ มีการใช้สีหลากหลาย แต่ความเป็นวินเทจไม่ได้มีสีสันสดใส ส่วนใหญ่จะเป็นสีโทนเนื้อไม้ โทนสีเขียว และโทนสีจากธรรมชาติ มากกว่าสีสันที่ดูเจิดจ้าจนเกินไป ให้ความรู้สึกอบอุ่นมากกว่าการใช้สีเพื่อกระตุ้นให้รู้สึกสดใสหรือตื่นตัว

หากคนที่คลั่งไคล้หรือชื่นชอบสไตล์วินเทจแท้จริง จะเห็นว่าในแต่ละยุคตั้งแต่ยุค 40 – ยุค 80 สีสันในสไตล์วินเทจมักมีสีเด่นๆไม่กี่สี ลองมาดูสีวินเทจที่สำคัญในแต่ละยุคว่าใช้สีใดบ้าง แต่ละสีจะมีชื่อเฉพาะของมันดังนี้

สีในยุค 40

สีวินเทจหลักในยุค 40
  • สีทรอปิคอลสมูทตี้ (Tropical Smoothie)
  • สีเขียวฮูรอน (Huron Green)
  • สีเครื่องเทศตะวันออก (Eastern Spice)
  • สีภูเขาตั้งตะหง่าน (Majestic Mount)
  • สีโอเอซิส (Oasis)
  • สีเขียวโว้ก (Vogue Green)
  • สีแคนดี้ฟลอส (Candy Floss)
  • สีเขียวหญ้า (Grass Green)
  • สีไฮที (High Tea)
  • สีน้ำตาลกลาง (Middle Brown)

สีในยุค 50

สีวินเทจหลักในยุค 50
  • สีทางเดินป่า (Jungle Trail)
  • สีรัฟเฟิล (Ruffles)
  • สีเหยี่ยวแดง (Red Hawk)
  • สีทองสว่าง (Glorious Gold)
  • สีฮันเตอร์กรีน (Hunter Green)
  • สีเขียวพานามา (Panama Green)
  • สีเพอริวิงเคิล บลู (Periwinkle Blue)
  • สีแดงรูบี้ (Ruby Red)
  • สีเหลืองบัตเตอร์คัพ (Buttercup Yellow)
  • สีวิทช์วู้ด (Witchwood)

สีในยุค 60

สีวินเทจหลักในยุค 60
  • สีไบรด์เมด(Bridesmaid)
  • สีส้มภูเขาไฟระเบิด (Volcanic Blast)
  • สีสควอช (Squash)
  • สีลิควิดบลู (Liquid Blue)
  • สีแดงเกรนาดีน (Grenadine)
  • สีขนนกยูง (Peacock Feather)
  • สีแคลิฟอร์เนียดรีมมิ่ง (California Dreaming)
  • สีน้ำเงินเรือใบ (Sailboat)
  • สีเจ็ทแบล็ก (Jet Black)
  • สีมะม่วงน้ำดอกไม้ (Juicy Mango)

สีในยุค 70

สีวินเทจหลักในยุค 70
  • สีบ่อแสงจันทร์ (Moonlit Pool)
  • สีสมบัตินางเงือก (Mermaid Treasure)
  • สีพอยน์เซตเทีย (Poinsettia)
  • สีปะการัง (Youthful Coral)
  • สีวูลทวีด (Wool Tweed)
  • สีเอิร์ทลี ไวด์ (Earthly White)
  • สีพาวเวอร์รูม (Power Room)
  • สีไวโอเล็ต ชาโดว์ (Violet Shadow)
  • สีเขียวต้นสนพอนเดโรซา (Ponderosa Pine)
  • สีรวงทอง (Gold Harvest)

สีในยุค 80

สีวินเทจหลักในยุค 80
  • สีลิซเซิด บรีธ (Lizard Breath)
  • สีกีวี่ สควีซ (Kiwi Squeeze)
  • สีชมพูแตงโม (Watermelon Pink)
  • สีทุตติ ฟรุตติ (Tutti Frutti)
  • สีสตาร์ไชน์ (Star Shine)
  • สีเขียวมะนาวโซดา (Lime Pop)
  • สีเขียวแอปเปิ้ลมาร์ตินี่ (Appletini)
  • สีเจ็ทแบล็ก (Jet Black)
  • สีท้องฟ้า (Spirit in the Sky)
  • สีเมืองใหญ่ (Metropolitan)

ข้อมูลประกอบจาก : buzzfeed / romarchitecture / vintagegoodness

สไตล์วินเทจในยุคปัจจุบัน

สไตล์วินเทจในปัจจุบันมันคือเทรนด์อีกอย่างหนึ่ง หรือที่เรียกว่า “Vintage Modern” เป็นการผสมผสานรูปแบบวินเทจให้เข้ากับรูปแบบสมัยใหม่ เหมือนเป็นการนำของเก่ามาผสมกับของใหม่ ถือเป็นรูปแบบที่ไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัว เพราะมันคือการผสมผสานสองสิ่งเข้าด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ผนังห้องโทนสีเขียงแอปเปิ้ลแบบวินเทจจับคู่กับโต๊ะทำงานโมเดิร์นสีขาวล้วน หรือเฟอร์นิเจอร์ไม้แกะสลักจับคู่กับผนังห้องสีขาว เป็นต้น รูปแบบขึ้นอยู่กับจินตนาการของแต่ละคน

รูปแบบสไตล์วินเทจโมเดิร์น
เป็นการผสมผสานระหว่างของเก่าและของใหม่
(ภาพจาก construction2style.com/)

สไตล์วินเทจโมเดิร์น (Vintage Modern) ครอบคลุมไลฟสไตล์ทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบ งานตกแต่งภายใน และงานแฟชั่น เป็นรูปแบบที่เน้นการจัดองค์ประกอบให้เกิดความสมดุลระหว่างของเก่ากับของใหม่ หรือการเลือกใช้สีเป็นองค์ประกอบ อย่างเช่น การใช้โต๊ะแกะสลักแบบวินเทจกับเก้าอี้ทรงทันสมัย แต่ดูเข้ากันอย่างลงตัวหากมีสีโทนเดียวกัน หรือกันเข้ากันของวัสดุ เช่น โต๊ะกระจกกับเก้าอี้ไม้ หรือใช้ของตกแต่งเล็กๆน้อยๆมาประดับ เช่น กล้องถ่ายรูปเก่า ตุ๊กตาเซรามิก โดยเลือกตกแต่งในบางมุมบางจุดเท่านั้น

สไตล์วินเทจโมเดิร์นถือเป็นสไตล์ที่ได้รับความนิยมมากในยุคนี้ เป็นที่ชื่นชอบของคนยุคใหม่ เพราะเป็นสไตล์ที่มีอิสระ ยืดหยุ่น ราคาไม่สูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะสไตล์วินเทจโมเดิร์นนิยมการใช้ซ้ำ และการปลับเปลี่ยนได้ง่าย เข้าได้กับทุกยุคทุกสมัย

วินเทจไม่จางหายไปไหน

บทสรุปของสไตล์วินเทจคือ รูปแบบที่ไม่เคยจางหายไปตามกาลเวลา ความสวยงาม รายละเอียดของสไตล์วินเทจทำให้เกิดสุนทรียภาพที่ดี ทำให้สไตล์วินเทจถือเป็นสไตล์ที่มีเสน่ห์ มีกลิ่นอายของอดีต ชีวิตในวัยเยาว์ และความโรแมนติก นอกจากนี้ยังเป็นรูปแบบที่ยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดการทิ้งสิ่งของ เสื้อผ้าโดยไม่จำเป็น จนทำให้ในยุคนี้สไตล์วินเทจยังสามารถปลับเปลี่ยนให้เข้ากับความทันสมัยได้ และอยู่อย่างสวยงาม

อ่านบทความดีไซน์มินิมอล : อิทธิพลของงานดีไซน์แบบ Minimalism

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here