ภาพสเกตซ์ลายเส้นของคนๆหนึ่ง สามารถบอกได้ถึงประสบการณ์ เรื่องราวต่างๆที่คนๆนั้นจะได้พบเจอ จริงๆแล้วภาพสเกตซ์คือศิลปะ เป็นศิลปะของจิตใต้สำนึก ไอเดียในชั่วขณะนั้น จากสมองผ่านสู่มือ แล้วบรรจงร่างมันในกระดาษทันที บทความนี้จะมาเล่าภาพสเกตซ์ของศิลปินแต่ละคน ซึ่งความหมายของภาพมีแนวคิดเป็นอย่างไร

LEONADO DA VINCI

ลีโอนาโด ดาวินชี (LEONARDO DA VINCI) ศิลปินผู้เป็นอัจฉริยะมีความถนัดและความสามารถหลายด้าน โดยเฉพาะทางด้านศิลปะ เวลาที่ดาวินชีเรียนรู้อะไร พยายามเข้าใจเรื่องอะไร เขามักจะมีสมุดจดพกติดตัวเสมอ เพื่อไว้บันทึกสิ่งที่เขากำลังศึกษาหรือให้ความสนใจ ความคิดจากสมุดสเกตซ์ของดาวินชีมักเป็นเรื่องของกายวิภาค คน สัตว์ หรือแม้กระทั่งเครื่องจักรกลต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นการบันทึกลงไปขณะนั้น แต่ว่ามีระบบและกระบวนการอยู่ในนั้น ถ้าหากดูจากลายเส้นของดาวินชีจะสามารถเห็นได้ว่าเขามีความสามารถในด้านศิลปะมาก แต่ก็ถนัดในด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมมากอีกด้วย ลายเส้นดูพลิ้วไหวแต่คม ชัดเจน ไม่มีเส้นตวัดหรือขีดซ้ำ ส่วนตัวหนังสือค่อนข้างเล็กแต่มีน้ำหนัก เป็นระเบียบ และลายเส้นสเกตซ์มีพัฒนาการมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านจากการสังเกต การจดจำ และความมุ่งมั่นไหลจากสมองผ่านมาสู่มือ จะว่าไปผู้เขียนมองว่า การเห็นภาพสเกตซ์ของดาวินชีรู้สึกว่า การฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ความสนใจ ความใคร่รู้สิ่งรอบๆตัวมากกว่าคนอื่นๆ

ภาพสเกตซ์ของดาวินชี ในเรื่องของคนจะสะท้อนถึงอารมณ์ ความรู้สึก มีการเคลื่อนไหวทางสรีระร่างกาย มีผิวสัมผัสจากการวาด ความละเอียดอ่อนของเส้นสาย จนนำไปสู่การพัฒนาภาพวาดจิตรกรรมที่ยิ่งใหญ่ อย่างเช่น ภาพโมนาลิซ่า หรือภาพวาด The Last Supper

Le Corbusier

LE CORBUSIER

สถาปนิกในยุคโมเดิร์นที่มีผลงานสเกตซ์จำนวนมาก Le Corbusier เป็นศิลปินมาก่อน ก่อนที่จะมาเป็นสถาปนิก และนักวางผังเมือง ซึ่ง Le Corbusier มักจะพกสมุดสเกตซ์ไว้กับตัวเสมอเวลาเดินทางไปที่ต่างๆ และมักจะสเกตซ์ภาพต่างๆตามที่เขาพบเจอ เป็นคลังที่ช่วย Corbusier ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ งานสถาปัตยกรรม เฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงงานผังเมือง

งานสเกตซ์ของ Corbusier นั้นมักจะสื่อเรื่องของสัดส่วน มาตราส่วนที่ใช้มนุษย์เป็นตัวเปรียบเทียบความงามกับสิ่งต่างๆ มีระบบชัดเจน ส่งผลให้งานของเขาเป็นระบบในเชิงเรขาคณิต มีควานอ่อนโยนด้วยเส้นที่โค้งมน ซึ่งทำให้งานสถาปัตยกรรมเป็นงานศิลปกรรมที่มีระบบสัดส่วนทางคณิตศาสตร์ มีการใช้สีในการเพิ่มมิติของงาน ทำให้งานที่มีความหนักแน่นของรูปทรงเรขาคณิตดูนุ่นนวลขึ้น

Zaha Hadid

ZAHA HADID

สถาปนิกหญิงที่มีลายเส้นเป็นเอกลักษณ์ มักสเกตซ์ภาพที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปินและคณิตศาสตร์ ทำให้ภาพสเกตซ์ของ Zaha Hadid เป็นภาพที่มีความซับซ้อน เป็นนามธรรม และต้องใช้เทคนิคด้านคณิตสาสตร์และการคำนวณ จนเกิดสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ที่เป็นรูปแบบอนาคตนิยม

ลายเส้นสเกตซ์ของ Zaha Hadid นั้น ได้แรงบันดาลใจจากศิลปิน  Kazimir Malevich ซึ่งเป็นศิลปินรูปแบบนามธรรม (abstract) และแรงบันดาลใจจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ การนำเสนอแบบของ Zaha จึงเป็นการเสนอภาพผังและบริบทโดยรอบในรูปแบบของแปลน และตัวสถาปัตยกรรมใช้การขึ้นรูปแบบไอโซเมตริกที่มีความสูง ความลึกที่ชัดเจน ตัวสถาปัตยกรรมมีเส้นสายแบบอิสระที่ขนานไปกับบริบทอาคารและถนนที่อยู่โดยรอบ

Peter Zumthor

PETER ZUMTHOR

สถาปนิกที่มีความเป็นศิลปินที่ชัดเจน งานสเกตซ์ของ Peter Zumthor มักจะเล่าและสื่อถึงความงามของที่ว่าง ความงามของแสง ความงามของบริบท ซึ่งเป็นงานสเกตซ์ที่เล่าประสบการณ์การสัมผัสพื้นที่ภายในด้วยการออกแบบที่ว่างและแสงที่ส่องมาพื้นที่ภายในที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ ภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ หรือแม้กระทั่งแสงแดด จึงทำให้งานของ Peter Zumthor เป็นงานที่ให้ความรู้สึกถึงความนอบน้อมต่อธรรมชาติ กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม มีความเรียบง่ายแต่มีความซับซ้อนทางด้านโครงสร้างและวัสดุ

งานสเกตซ์ของ Zumthor มักเล่นเรื่องแสงและเงา ที่ว่าง ความสัมพันธ์ของพื้นที่ภายในออกสู่พื้นที่ภายนอก ทำให้ทุกพื้นที่ภายในอาคารสามารถเข้าถึงธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม มีความตรงไปตรงมาของรูปทรงและรูปด้านอาคาร

PICASSO

ศิลปินที่มีลายเส้นเอกลักษณ์ที่ชัดเจน ผลงานสเกตซ์ของ Picasso มักจะเป็นลายเส้นที่คม มีความหนักแน่น ใช้เส้นเดียวในการวาดตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุด ซึ่งลายเส้นของ Picasso นั้น แสดงออกถึงความมั่นใจในตัวเอง เส้นที่เข้มและคมชัด เป็นเหลี่ยมมุม จนพัฒนาเป็นภาพวาดรูปแบบ cubism มีความเป็นภาพวาดเรขาคณิตชัดเจน เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม

ตามประวัติ Picasso เป็นคนที่วาดรูปมาก สามารถวาดได้เหมือนจริงตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แต่ด้วยความที่เขาเป็นคนที่ไม่ยึดติดกับกรอบเดิม เขาเลือกคิดรูปแบบการวาดที่มองไม่เห็นความงาม ภาพคนเป็นภาพแสดงสีหน้าที่บิดเบี้ยว เติมสีสันต่างๆลงใบหน้า Picasso เคยพูดหลักการวาดรูปในชีวิตของเขาว่า “ผมใช้เวลาสี่ปีในการวาดให้เหมือนราฟาเอล แต่หลังจากนั้นชีวิตผมใช้เวลาในการวาดรูปให้เหมือนเด็ก”

Frank Gehry

สถาปนิกที่มักมีผลงานสเกตซ์ให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เป็นภาพสเกตซ์ที่ใช้สำหรับออกแบบสถาปัตยกรรม อาคาร หรือแม้กระทั่งบ้าน ซึ่งผลงานสเกตซ์ของ Frank Gehry ทำให้เกิดการพัฒนาโปรแกรมที่สามารถทำให้งานสถาปัตยกรรมสามารถทำได้ในรูปทรงอิสระ ความคิดการออกแบบของเขาเริ่มต้นจากการสเกตซ์ลงในสมุด

Karl Lagerfeld

Karl Lagerfeld

แฟชั่นดีไซน์เนอร์ชาวเยอรมัน ที่มีผลงานการออกแบบเสื้อผ้า เครื่องประดับมามากมาย ผลงานของ Karl Lagerfeld เริ่มต้นจากจากการสเกตซ์และระบายสีลงในสมุด เป็นช่วงที่ทำให้เขามีสมาธิจดจ่อกับงานมากที่สุด เขาเคยพูดว่า “เวลาที่ผมสเกตซ์ ผมจะไม่สนใจเวลาเลย”  และถึงขั้นพูดติดตลกว่า “ผมเกิดมาก็จับดินสอแล้ว ผมสเกตซ์เยอะมาก”

Karl Lagerfeld มีผลงานสเกตซ์มีความพลิ้วไหวแบบผู้หญิง และมีความหนักแน่นของเส้นแบบผู้ชาย ทำให้ผลงานของ Lagerfeld สามารถเข้าถึงได้ง่าย ผลงานมีความเป็นศิลปิน ความคลาสสิค มีรายละเอียดที่แสดงผิวสัมผัสของนื้อผ้าได้อย่างชัดเจน

ภาพสเกตซ์ที่เราใช้สะท้อนความคิด จินตนาการ ไอเดียปี๊งแวบ ความรู้สึก จนสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้น หรือเกิดนวัตกรรมต่างๆขึ้นมาบนโลก หากเราฝึกฝนฝีมือด้วยการสเกตซ์บ่อยๆ สามารถเกิดความชำนาญ และเกิดรูปแบบ วิธีคิดแบบใหม่ได้ ผู้เขียนมองว่าแม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีที่มาช่วยเราในการออกแบบต่างๆ แต่การเริ่มต้นสะท้อนความคิดด้วยการเขียน การวาด หรือการจดบันทึกลงไป ทำให้เราสามารถให้รายละเอียดและจินตนาการได้ดีกว่า อย่างเช่น   Hayao Miyazaki หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Studio Ghibli ที่รังสรรค์การ์ตูนมาแล้วมากมาย ยังบอกว่า “เวลาที่ผมทำงาน ผมจะคิด คิด คิดอยู่ตลอดเวลา แล้วทำงานด้วยการวาดสตอรี่บอร์ด และหาแรงบันดาลใจจากสิ่งที่อยู่รอบๆตัว”

ดังนั้น การเขียนหรือการวาดก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญในการเรียนรู้ การทำงาน ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจได้มากมาย และสามารถเกิดสิ่งใหม่ๆได้อีกด้วย

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here