
การก่อสร้างอาคารในปัจจุบัน ต้องอาศัยความรวดเร็วของเวลาในการก่อสร้าง เพื่อให้ทันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และจำนวนประชากร การพัฒนาวัสดุในการก่อสร้างจึงเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งการก่อสร้างจาก Container เป็นนวัตกรรมการก่อสร้างทางเลือกหนึ่ง ที่มีความหลากหลายในการสร้างความสวยงามของโครงสร้างและรูปด้านอาคาร
Container Facade เป็นนวัตกรรมโครงสร้างในงานสถาปัตยกรรมหลังยุคปัจจุบันจนถึงปัจจุบัน และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผู้เขียนเคยอ่านหนังสือการออกแบบพัฒนาเมืองของยุโรป จะเห็นว่ามีการก่อสร้างอาคารด้วยระบบคอนเทนเนอร์จำนวนมาก และมีความสวยงาม เข้ากับบริบทของเมือง ทำให้ผู้เขียนมองว่า การก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมในยุคปัจจุบันต้องอาศัยความรวดเร็วในการก่อสร้าง มีความยืดหยุ่น ติดตั้ง รื้อถอนได้รวดเร็ว งานก่อสร้างระบบคอนเทนเนอร์จึงกลายเป็นที่นิยมมากในยุคนี้ เรามาดูนวัตกรรมการก่อสร้างว่ามันเป็นอย่างไร มีข้อดี-ข้อเสียด้านใด แล้วนำไปใช้รูปแบบใดบ้าง
ที่มาของระบบคอนเทนเนอร์
งานระบบก่อสร้างที่ใช้ตู้คอนเทนเนอร์ในการสร้างอาคารเรียกว่า “Shipping container architecture” เป็นการนำตู้คอนเทนเนอร์เหล็กเป็นโครงสร้างหลักของอาคาร นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างที่เรียกว่า “Cargotecture” เป็นการนำคอนเทนเนอร์ที่นำมาเชื่อมต่อกันให้เป็นที่พักอาศัย และ “Arkitainer” เป็นการนำคอนเทนเนอร์มาเชื่อมกับโครงสร้างอื่นๆ เป็นที่พักหรืออาคารขนาดเล็ก
การใช้คอนเทนเนอร์ในระบบก่อสร้างได้รับความนิยมเนื่องจากความแข็งแรง ต้นทุนต่ำ สามารถใช้งานได้ทันที บ้างก็บอกว่าโครงสร้างนี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าการใช้อิฐและปูนซีเมนต์
โครงสร้าง Cargotecture
เป็นโครงสร้างที่นำตู้คอนเทนเนอร์มาสร้างอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยภายใน สามารถใช้สอยได้เต็มรูปแบบ สามารถสร้างเป็นบ้านพักอาศัยราคาประหยัด บ้านพักตากอากาศ ฯลฯ ระบบโครงสร้างนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2003 เป็นตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งที่ได้มาตรฐาน ISO ซึ่งเป็นเรื่องของความปลอดภัยของการก่อสร้างและการใช้งาน
ตู้คอนเทนเนอร์มีโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถนำมาวางในตำแหน่งต่างๆตามที่ต้องการ ต้องเป็นอาคารที่ต้องการความรวดเร็วในการก่อสร้าง หลังจากก่อสร้างแล้วจึงเดินสายไฟฟ้า ท่อประปาตามหลัง นอกจากนี้ตู้คอนเทนเนอร์สามารถเจาะช่องหน้าต่าง ประตู ตามความต้องการของผู้อาศัย
ในระยะแรกที่เริ่มมีการใช้ตู้คอนเนอร์แบบ Cargotecture มักจะใช้ในการทำที่พักอาศัยชั่วคราว ตัวอย่าง บ้านพักอาศัยชั่วคราวหากบ้านอาศัยจริงของเรากำลังปรับปรุงใหม่ ในระยะหลังมีการค้นพบว่า โครงสร้างนี้สามารถใช้พักอาศัยถาวรได้ และดัดแปลงรูปด้านได้หลายแบบ
นอกจากนี้ตู้คอนเทนเนอร์สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ มากกว่าการเป็นที่ขนส่งสินค้าแล้วถูกนำไปทิ้ง ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ยุ่งยากในการก่อสร้างอาคาร แต่ข้อเสียมันมีเหมือนกัน เช่น เรื่องอุณหภูมิภายใน ตู้คอนเทนเนอร์อมความร้อน ต้องมีฉนวนควบคุมอุณหภูมิ
ระบบโครงสร้างคอนเทนเนอร์ในการสร้างสถาปัตยกรรม
ระบบการก่อสร้างด้วยคอนเทนเนอร์ สามารถจำแนกได้ดังนี้
1 กำหนดเอง (Customized)
ระบบโครงสร้างคอนเทนเนอร์มีรูปทรงที่สามารถปรับเปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
2 แข็งแรง ทนทาน
ตู้คอนเทนเนอร์เป็นโครงสร้างที่ถูกออกแบบให้สามารถวางซ้อนกันสูงขึ้นไปหลายๆชั้น รับน้ำหนักได้จำนวนมากๆ และยังถูกออกแบบให้ต้านทานกับสภาพแวดล้อมที่รุนแรง เช่น บนเรือขนส่งสินค้า หรือพื้นที่เสี่ยงภัย แผ่นดินไหว เป็นต้น
3 ระบบโมดูลาร์
โครงสร้างของคู้คอนเทนเนอร์ถูกออกแบบให้มีขนาดเท่ากัน มีมาตรฐานความกว้างและความสูงของโครงสร้าง เป็นลักษณะของระบบโมดูลาร์สามารถเชื่อมต่อกันในแบบต่างๆ วางซ้อนกันได้ และสะดวกในการเคลื่อนย้ายขนส่ง
4 แรงงานและการขนส่ง
ค่าแรงในการก่อสร้างอาคารด้วยระบบคอนเทนเนอร์ต่ำกว่าค่าแรงระบบโครงสร้างอื่นๆ มีการถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก เพราะขนส่งง่าย สามารถขนส่งได้ทางรถบรรทุก เรือ และรถไฟ
5 งบประมาณ
โครงสร้างระบบคอนเทนเนอร์หรือการสร้างบ้านด้วยคอนเทนเนอร์ มีราคาค่อนข้างถูกมาก บ้านคอนเทนเนอร์มีราคาต่ำกว่าบ้านทั่วไป
6 เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โครงสร้างคอนเทนเนอร์ มีขนาดกว่า 3 เมตร (40 ฟุต) มีน้ำหนักกว่า 3,500 กิโลกรัม ช่วยประหยัดวัสดุอื่นๆ เช่น เหล็ก อิฐ และปูนซีเมนต์ เป็นต้น
ข้อเสียของโครงสร้างคอนเทนเนอร์
ระบบโครงสร้างคอนเทนเนอร์ มีข้อเสียที่ควรคำนึงก่อนคิดจะก่อสร้างอาคารใดๆ ดังนี้
1 อุณหภูมิ
โครงสร้างคอนเทนเนอร์เป็นโครงสร้างที่นำความร้อน อมความร้อนสูง จึงจำเป็นต้องมีการติดฉนวนกันความร้อนก่อนเสมอ
2 ขาดความยืดหยุ่น
โครงสร้างระบบคอนเทนเนอร์แม้จะมีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สามารถนำมาต่อเป็นพื้นที่พักอาศัยได้ แต่มันมีขนาดตายตัวตามมาตรฐานของตู้คอนเทนเนอร์ (ขนาด 20 – 40 ฟุต) หากต้องการขนาดที่ต่างจากมาตรฐานมีราคาสูงมากและใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง และความยากในการนำมาตั้งในสถานที่ตั้ง
3 ความชื้น
เรื่องการควบคุมอุณหภูมิและความชื้น อากาศภายในที่ชื้นจะควบแน่นกับเหล็กของตู้คอนเทนเนอร์ทำให้เกิดความชื้น ซึ่งความชื้นจะเป็นตัวที่ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์เกิดสนิม ควรติดฉนวนควบคุมอุณหภูมิ
4 สถานที่ก่อสร้าง
การก่อสร้างด้วยระบบคอนเทนเนอร์ จะต้องยกโครงสร้างด้วยเครนเท่านั้น เพราะมีน้ำหนักมาก ต้องระมัดระวังในการยกโครงสร้างมาตั้งในสถานที่ก่อสร้าง
5 การขอใบอนุญาตก่อสร้าง
การขอใบอนุญาตก่อสร้างโครงสร้างตู้คอนเทนเนอร์ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อนมากกว่าการก่อสร้างอาคารแบบอื่น ๆ ต้องตรวจสอบเรื่องข้อกฎหมายยอาคารต่างๆก่อนทำการก่อสร้าง เพราะไม่ใช่วัสดุที่ใช้ก่อสร้างบ่อยๆ เห็นทุกวัน
6 หลังคา
แม้โครงสร้างของตู้คอนเทนเนอร์จะหนักและแข็งแรงมาก แต่หลังคาของตู้คอนเทนเนอร์ไม่ได้แข็งแรง มันสามารถรับน้ำหนักได้สูงสุด 300 กิโลกรัมต่อตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต
การนำไปใช้
โครงสร้างตู้คอนเทนเนอร์สามารถนำไปใช้เป็นอาคารประเภทต่างๆได้หลากหลาย ซึ่งเริ่มเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในโซนยุโรป เราสามารถนำโครงสร้างมาใช้ตามที่เห็นเป็นรูปธรรมดังนี้
- บ้านพักอาศัยราคาประหยัด
- ที่พักอาศัยฉุกเฉิน (สำรอง)
- ห้องน้ำ
- ฟาร์มไฮโดรโปนิกส์ (เกษตรกรรม)
- สตูดิโอบันทึกเสียง
- สตูดิโอศิลปิน
- อาคารสำนักงาน
- ห้องปฏิบัติการทดลอง
- ร้านค้า / ร้านกาแฟ
- โกดังสินค้า
- พื้นที่จัดนิทรรศการชั่วคราว
- ศูนย์ดูแลผู้ป่วยสาหัสชั่วคราวในเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19
- บ้านพักตากอากาศ
- โรงเวิร์คช็อป
- โรงแรม
- รถบรรทุกอาหาร
ดูตัวอย่างงานสถาปัตยกรรมด้วยระบบโครงสร้างคอนเทนเนอร์หน้าต่อไป –> (Page 2)